ธุรกิจขนส่งพัสดุไทย ปี 2564 มีมูลค่า 91,000 ล้านบาท เติบโต 38% จากสถานการณ์โควิดหนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโต ปี 2565 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องราว 17% มีมูลค่าราว 106,000 ล้านบาท มีปริมาณขนส่งพัสดุ 7 ล้านชิ้นต่อวัน
เม็ดเงินนับแสนล้านนี้ ทำให้สนามแข่งขันธุรกิจขนส่งพัสดุมีผู้เล่น “รายใหม่” เข้ามาช่วงชิงตลาดกันดุเดือด รวมทั้ง “รายใหญ่” ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่าง “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” และยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไทย “แฟลช เอ็กซ์เพรส” ประกาศสงครามราคา เขย่าบัลลังก์เบอร์หนึ่ง “ไปรษณีย์ไทย” สะเทือน
ท่ามกลาง “ตัวเลือก” บริการขนส่งที่มีมากขึ้น ตามดูกลยุทธ์ “ไปรษณีย์ไทย” องค์กร 140 ปี ฝ่าสมรภูมิ Red Ocean กับหัวเรือใหญ่ คุณดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เพื่อขับเคลื่อน “ตู้แดง” ให้ยังรักษาแชมป์ต่อไป
ยุคอีคอมเมิร์ซบูมคู่แข่งเพียบ
หากย้อนดูธุรกิจขนส่งพัสดุเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ไปรษณีย์ไทยถือเป็นผู้ให้บริการรายเดียว นั่นหมายถึง “ซัพพลาย” ที่ไปรษณีย์ไทยสร้างขึ้นเพื่อดูแล “ดีมานด์” หรือให้บริการทั้งประเทศ
มาในยุคอีคอมเมิร์ซเติบโตจึงมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น คู่แข่งธุรกิจขนส่งปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติหลายราย ซึ่งไม่ได้ให้บริการขนส่งเท่านั้น บางรายให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทำให้สามารถสร้าง “ดีมานด์” ได้เองและใช้ธุรกิจขนส่งเป็นซัพพลาย เพื่อให้บริการครบวงจร
ขณะที่ไปรษณีย์ไทย เริ่มต้นจากการขนส่ง คือเป็นการสร้างซัพพลายก่อน วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ไปรษณีย์ไทยต้องลงไปสร้าง “ดีมานด์” ที่มีอยู่ในหลายภาคส่วน เพื่อดึงทั้งหมดมาอยู่ในซัพพลายของไปรษณีย์ไทย
“ความท้าทายของไปรษณีย์ไทยวันนี้ คือเราจะเติมเต็มซัพพลายที่เราสร้างไว้อย่างไรให้มีการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นสิ่งที่เรากำลังพัฒนา ทั้งด้านการให้บริการ การทำธุรกิจ เริ่ม diversify ออกไปในหลายรูปแบบ เพื่อทำให้ซัพพลาย หรือโครงข่ายการให้บริการที่มีอยู่ในมือทั้งหมด สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด”
ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการในตลาดก็ต้องปรับตัวไปตามความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม รวมทั้งผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ต้องไปดูว่าพวกเขาต้องการบริการอะไร เช่น แวร์เฮ้าส์ Fulfillment บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) เพื่อบริการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ดูแลลูกค้าครบวงจร
“เรารู้ว่าบริการที่จะตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่มต้องดีไซน์แบบไหน เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ดีที่สุด เราต้องดูว่าจุดแข็งไปรษณีย์ไทยคืออะไร หากวันนี้เราตอบคำถามนี้ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปห่วงว่าคู่แข่งเป็นใคร”
ตามดูจุดแข็งไปรษณีย์ไทย
หากไล่เรียงจุดแข็งไปรษณีย์ไทย เริ่มจากเป็นองค์กร 140 ปี ที่อยู่คู่สังคมไทย คุ้นเคยกับประชาชน เรียกว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือดไปรษณีย์ไทย “เราอยู่กันเหมือนพี่น้อง ครอบครัว สิ่งที่เราทำวันนี้ไม่ใช่แค่การส่งของ แต่เป็นการส่งความสุข ส่งความสำเร็จ นั่นคือเป้าหมายในการทำงานของไปรษณีย์ไทย”
– เมื่อจุดแข็งของเราคือการเข้าถึงสังคม รู้จักประชาชนในพื้นที่ รู้จักของดีในสังคม ทำให้จุดแข็งนี้เปลี่ยนมาเป็นการต่อยอดธุรกิจ นี่ถือเป็นโจทย์หลักของ ไปรษณีย์ไทย
– เมื่อมองสิ่งที่ผู้ให้บริการขนส่งทั่วไป ไรเดอร์ กับบุรุษไปรษณีย์ (พี่ไปรฯ) ความแตกต่างคือ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชน ครัวเรือนในพื้นที่ ทุกตรอก ซอกซอย พี่ไปรฯ รู้จักประชาชนทุกบ้าน รู้ว่าบ้านนี้ใครอยู่ พ่อแม่ชอบอะไร ลูกชอบอะไร (โดยดูได้จากสินค้าที่มาส่ง) ข้อมูลเหล่านี้สามารถมาต่อยอดในธุรกิจของไปรษณีย์ไทยได้
– ธุรกิจขนส่ง เป็นการรับของจากคนส่ง ดังนั้นของที่รับมาจึงไม่ได้เกิดจากทราฟฟิกที่ไปรษณีย์ไทยสร้างขึ้นเอง เพราะเป็นการรับของมาส่งจากลูกค้า ซึ่งสามารถเปลี่ยนไปใช้ผู้ส่งรายใหม่ได้ตลอดเวลา แต่หากไปรษณีย์ไทยสามารถสร้างดีมานด์ (ชิ้นงาน) ขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ก็จะทำให้เกิดความมั่นคงของรายได้และธุรกิจ
– รูปแบบการสร้างชิ้นงานของ ไปรษณีย์ไทย ก็มาจากการรู้จัก “ของดี” ในของชุมชน จากการเข้าถึงชุมชนได้ดี จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Thailandpostmart เป็นแหล่งรวมของดีจากชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถสั่งซื้อสินค้าอร่อยได้ทั่วประเทศ และไปรษณีย์ไทยทำหน้าที่ส่งของ
– บริการขายของดีในชุมชน ไม่ใช่แค่ช่องทางออนไลน์เท่านั้น แต่โครงข่ายออฟไลน์ อย่าง จุดบริการไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศ ก็ใช้เป็นสถานที่นำของดีของชุมชนกระจายไปให้ถึงลูกค้า
“วันนี้เราต้องเรียนรู้ว่าลูกค้าชอบสั่งซื้ออะไร ทั้งช่องทางออนไลน์และที่ทำการไปรษณีย์ไทย เพื่อวันต่อไปจะได้สามารถนำเสนอสินค้าที่พวกเขาชื่นชอบได้อีก เป็นการสร้างชิ้นงานที่เกิดขึ้นจากไปรษณีย์ไทย และเป็นสิ่งที่ทำให้ไปรษณีย์ไทย สามารถสร้างความมั่นคงในระบบขนส่ง ทำให้มีปริมาณสินค้าส่งได้ต่อเนื่อง”
ต่อยอด “พี่ไปรฯ” โครงข่ายเข้าถึง 1 ล้านครัวเรือนไทยต่อวัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดแข็งไปรษณีย์ไทย ที่ใครๆ ก็โค่นยาก คือ บุรุษไปรษณีย์ หรือ พี่ไปรฯ ที่มีกว่า 20,000 คน เป็นคนที่คุ้นเคยกับพื้นที่ชุมชนเป็นอย่างดี เห็นได้จากหลายกรณีที่ถูกพูดถึงเรื่องจ่าหน้าซอง/พัสดุ ที่อยู่ไม่ครบ พี่ไปรฯ ก็นำส่งได้แบบไร้ปัญหา
ทักษะที่เป็นจุดเด่นของพี่ไปรฯ พูดได้ว่าเป็นการเรียนรู้ส่งต่อแบบรุ่นสู่รุ่น ก่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัล พี่ไปรฯ ในยุคแรกๆ ก็ต้องเรียนรู้ ท่องจำ บ้านเลขที่ของครัวเรือนต่างๆ ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลก็ใช้เทคโนโลยีมาต่อยอดสร้างโนว์ฮาวการให้บริการที่แม่นยำให้พี่ไปรฯ เพิ่มขึ้นไปอีก
ปัจจุบันการจะรู้ว่าบ้านเลขที่นี้ อยู่ไหน ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่าง google map แต่การรู้แค่ว่าบ้านนี้อยู่ที่ไหนเป็นสิ่งพื้นฐานทั่วไป เพราะพี่ไปรฯ “รู้มากกว่านั้น” คือ รู้ว่าคนในบ้านเป็นใคร รวมทั้งมีความสัมพันธ์รู้จักกันดีแบบคนคุ้นเคย เพราะคนในชุมชนให้ความไว้วางใจบุรุษไปรษณีย์ และพูดคุยอย่างเป็นมิตร พี่ไปรฯ ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือมากไปกว่าการส่งของ
ทักษะต่างๆ ของพี่ไปรฯ เป็นการสร้างและสั่งสมประสบการณ์มานาน ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน จุดแข็งพี่ไปรฯ ที่นำไปใช้ต่อยอด จากความไว้ใจและเข้าใจลูกค้า มีหลายเรื่องที่ไปรษณีย์ไทย พร้อมทำงานนอกเหนือจากการขนส่งพัสดุ ปัจจุบันไปรษณีย์ไทย มีพาร์ทเนอร์ชิปกับหลายอุตสาหกรรม ในการใช้โครงข่ายบุรุษไปรษณีย์ เพื่อสร้างและต่อยอดธุรกิจ
เช่น การเป็นพาร์ทเนอร์กับกลุ่มเทเลคอม ทรู เอไอเอส ดีแทค กระจายซิมมือถือ ไปยังครัวเรือนต่างๆ แม้จะมีช่องทางขายซิมมือถือจำนวนมากอยู่แล้วก็ตาม แต่การเข้าถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเติมเงิน หรือการเข้าถึงช็อป ก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ยังมีพื้นที่ชนบทอีกมาก หมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลมากๆ แต่โครงข่ายบุรุษไปรษณีย์ไทยไปถึง และสามารถอำนวยความสะดวกได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน
ปัจจุบันยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ไม่สะดวกในการเข้าถึงบริการต่างๆ ในประเทศ แต่ไปรษณีย์ไทย สามารถเข้าไปเติมเต็มและให้บริการได้ วันนี้โครงข่ายบุรุษไปรษณีย์เข้าถึงพื้นที่ทั่วประเทศครอบคลุม 1 ล้านครัวเรือนต่อวัน จึงตอบโจทย์การทำงานหลายบริการด้วยต้นทุนต่ำ
ปรับราคาในรอบ 18 ปี
ต้องถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในรอบ 18 ปี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ไปรษณีย์ไทย ประกาศปรับราคาบริการค่าส่งจดหมายในประเทศ (จดหมายประเภทซองและจดหมายประเภทหีบห่อ) โดยการส่งจดหมายประเภทซองน้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม ยังคงไว้ที่ 3 บาทเช่นเดิม ส่วนจดหมายประเภทซองที่น้ำหนักเกิน 10 กรัม และประเภทหีบห่อ “ปรับราคา” ให้สอดรับกับสภาวะเศรษฐกิจและต้นทุน
โดยก่อนหน้านี้พัสดุที่ใส่ซองจดหมาย ไม่ว่าข้างในจะเป็นกระดาษหรือเป็นอย่างอื่นที่นูนออกมา ไปรษณีย์จะคิดค่าบริการในเรตของจดหมายแบบซอง ซึ่งการปรับค่าบริการนี้เป็นไปตามสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union) ที่มีข้อกำหนดเกณฑ์การจัดส่งไปรษณียภัณฑ์ให้แยกตามรูปแบบและสิ่งบรรจุภายใน
การปรับราคาของไปรษณีย์ไทยดังกล่าวเป็นไปตามกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดอัตราไปรษณียากรและค่าธรรมเนียมอื่น พ.ศ. 2565 กำหนดค่าบริการไว้ดังนี้
– ระหว่างปี 2565-2567 จดหมายประเภทซองน้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม ราคา 3 บาท เกิน 10 กรัมขึ้นไปจนถึงไม่เกิน 2,000 กรัม ราคา 5-55 บาท (จากเดิม 3-45 บาท) ส่วนจดหมายประเภทหีบห่อ ไม่เกิน 500 กรัมจนถึงไม่เกิน 2,000 กรัม ราคา 30-55 บาท
– ระหว่างปี 2568 เป็นต้นไป จดหมายประเภทซองน้ำหนักไม่เกิน 10 กรัม ราคา 4 บาท เกิน 10 กรัมขึ้นไปจนถึงไม่เกิน 2,000 กรัม ราคา 6-62 บาท ส่วนจดหมายประเภทหีบห่อ ไม่เกิน 500 กรัม จนถึงไม่เกิน 2,000 กรัม ราคา 34-62 บาท
การปรับราคาค่าบริการนี้ คุณดนันท์ บอกว่าไปรษณีย์ไทย ไม่มีการขึ้นราคาการส่งจดหมายและไปรษณีย์ภัณฑ์มากว่า 18 ปี นับตั้งแต่ ปี 2547 เพราะถือเป็นภารกิจของไปรษณีย์ไทย ที่ต้องให้บริการพื้นฐานที่ประชาชนชาวไทยต้องสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน
ค่าบริการก่อนปรับใหม่ต่ำกว่าต้นทุนมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านี้เป็นช่วงที่ยังไม่มี “คู่แข่ง” มากเท่าปัจจุบัน ไปรษณีย์ไทยจึงมีกำไรอยู่บ้างจากบริการโลจิสติกส์และขนส่งด่วน เพื่อนำมาอุดหนุน (Subsidy) บริการส่งจดหมายแบบซองและหีบห่อ
มาวันนี้อุตสาหกรรมขนส่งเปลี่ยนแปลงไป จากการแข่งขันสูง บริการที่เคยได้กำไรในอดีตก็ลดลง ดังนั้นการให้บริการเชิงพื้นฐานที่ต่ำกว่าต้นทุนอย่างมาก จึงต้องปรับปรุงอัตราค่าบริการใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้กำไร แต่เป็นการปรับปรุงเพื่อสะท้อนต้นทุนจริงในปัจจุบัน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง แรงงาน และเงินเฟ้อ
ปัจจุบันต้นทุนส่งจดหมายเกือบ 5 บาทแล้วจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทุกด้าน ข้อมูลในปี 2562 TDRI ทำวิเคราะห์ต้นทุนส่งจดหมายอยู่ที่ 4.30 บาท
จากการพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้จดหมายมีสิ่งทดแทนจากดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ การสื่อสารด้วยจดหมายจึงลดปริมาณลงเรื่อยๆ ไปรษณีย์ไทยได้มองการเปลี่ยนแปลงด้านบริการไปเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจรมากขึ้น วันนี้ไปรษณีย์ไทยกำลังเข้าสู่บริการ Electronic Business ซึ่งจะเป็น New-S curve สร้างการเติบโตให้ไปรษณีย์ไทยหลังจากนี้
“ไปรษณีย์ไทย” ยุคใหม่ ต่อยอดสู่ Data Company
เส้นทางของไปรษณีย์ไทย องค์กร 140 ปี ได้วางโรดแมพในอนาคต ไม่ได้เป็นแค่บริษัทขนส่ง แต่จะเป็น Data Company เป็นบริษัทที่มี “ดาต้า” ในการขับเคลื่อนธุรกิจ
ในยุคที่ธุรกิจขับเคลื่อนด้วย Data ธุรกิจขนส่งเองก็มี “ข้อมูล” จำนวนมากจากการให้บริการทั้งผู้ส่งและข้อมูลผู้รับสินค้า ข้อมูลพื้นฐานง่ายๆ เช่น บุรุษไปรษณีย์รู้ข้อมูลครัวเรือนในทุกพื้นที่ ทั้งข้อมูลของที่ส่ง ข้อมูลปลายทางผู้รับ ข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้ สามารถนำมาบริหารจัดการและต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ได้ เพื่อให้บริการที่ตรงใจลูกค้าได้
ด้วยอีโคซิสเต็มของไปรษณีย์ไทย ที่มีบุรุษไปรษณีย์กว่า 20,000 คน จึงเป็น Channel ที่มี Value จากดาต้าที่มีอยู่ ในทำการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าได้ตรงเป้าหมาย (Targeting) มากขึ้น และสามารถต่อยอดธุรกิจใหม่อย่างรีเทล เพื่อสร้างดีมานด์ (ชิ้นงาน) ทำให้เกิดการขนส่งสินค้าได้เอง
“เราเข้าใจลูกค้าจากดาต้าและนำส่งของที่ลูกค้าต้องการได้ เรารู้ว่าบ้านไหนมีคนสูงวัย คนท้อง หรือเพิ่งคลอดบุตร จึงรู้ว่าคนกลุ่มนี้ต้องการสินค้าอะไร สามารถนำเสนอสินค้าที่ต้องการได้ อาจจะทำเป็นโมเดล Subscription ในกลุ่มสินค้าที่ต้องใช้ต่อเนื่อง”
โครงข่ายบุรุษไปรษณีย์ที่เข้าถึงทุกพื้นที่ รู้ว่าพื้นที่ไหนมีของดี จึงนำของดีในแต่ละพื้นที่มาจำหน่ายได้ทั้งช่องทางออนไลน์ thailandpostmart หรือสาขาไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ สามารถปรับพื้นที่เป็น Retail Space วางขายสินค้าของชุมชนได้ โดยสร้างจุดขายว่า “หากต้องการของดีจังหวัดไหน ชุมชนไหน ให้มาที่ไปรษณีย์ไทย”
นอกจากนี้สาขาไปรษณีย์ไทย ยังสามารถใช้เป็นพื้นที่ให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ มาใช้เป็นพื้นที่ Live ขายของผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมบริการ Co-Packing Space ขายของจบ แพ็คสินค้าส่งทันทีโดยไม่ต้องเก็บสต็อกสินค้าที่บ้าน ถือเป็นการให้บริการครบวงจรกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จะมาใช้ชีวิตทำงาน ทำธุรกิจ ที่สาขาไปรษณีย์ไทย โดยได้เริ่มให้บริการแล้วที่ ไปรษณีย์ไทยหลักสี่ หลังจากนี้จะขยายบริการไปในหัวเมืองต่างจังหวัด
“ไปรษณีย์ไทยจะเป็น Second Home ของผู้ขายสินค้า และเป็นการใช้สินทรัพย์สาขาไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจขนส่ง”
แม้ธุรกิจขนส่งพัสดุยังอยู่ในสมรภูมิแข่งเดือด “ไปรษณีย์ไทย” ยังยืนว่าครองมาร์เก็ตแชร์เป็นเบอร์หนึ่ง เป็นผู้ให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และจะพยายามรักษาตำแหน่งให้ได้ต่อไป
อ่านเพิ่มเติม