เซ็นทรัลพัฒนา หรือ (CPN) พี่ใหญ่วงการค้าปลีกเมืองไทย ผนึก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประกาศเดินเครื่องรับสัญญาณบวกการท่องเที่ยวจากทั่วโลก ชู 37 ศูนย์การค้าทั่วไทยตัวกลางในการเชื่อมโการท่องเที่ยวสู่ท้องถิ่น ปั้นเครือข่าย “Local tourism” หนุนชุมชน ท่องเที่ยวยั่งยืน คืนชีพอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท
ภายใต้แผนธุรกิจ 5 ปี (2022-2026) “เซ็นทรัลพัฒนา” ประกาศทุ่มงบ 120,000 ล้านบาท สร้างการเติบโตให้ธุรกิจในระยะยาว โดยหนึ่งในกลยุทธ์หลักคือการสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กร ด้วยการ Synergy ผนึกกำลังธุรกิจมิกซ์ยูส คู่ค้า ชุมชน ทุกฝ่าย เดินหน้าวิสัยทัศน์ Imagining better futures for all สร้าง Sustainable Ecosystem ที่แข็งแกร่งและยั่งยืน กับการเป็น “Place Maker” นักพัฒนาพื้นที่แห่งอนาคตที่บุกเบิกสร้างเมืองและความเจริญทั่วประเทศ
โดยมี “Local tourism” นับเป็นอีกพาร์ทหนึ่งของเรื่องการเดินทางไปสู่ความยั่งยืน SD (Sustainable Development) ในการร่วมผลักดันเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ โดยใช้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเป็น Center ในการเชื่อมโยง ชุมชน อาชีพ และการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน กล่าวคือ คือเมื่อ “ศูนย์การค้าเซ็นทรัล” ขยายตัวไปอยู่จังหวัดไหน จังหวัดนั้นจะต้องเจริญขึ้นทั้งระบบ
ปิ้งไอเดีย “Local tourism” ใช้ศูนย์การค้าสร้างเครือข่ายท่องเที่ยวยั่งยืน
ดร. ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน เรากำลังเดินทางสู่ช่วง Post-COVID Situation ผู้คนเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยว ในหลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ โดยอัตราตัวเลขทราฟฟิกศูนย์การค้าเซ็นทรัล กลับมาเกือบ 100% ทั่วประเทศ สำหรับทัวร์ริสต์มอลล์ ในกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา ฯลฯ มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และธุรกิจโรงแรม ศูนย์อาหารก็ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สำหรับภาพใหญ่ของการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาประเทศไทย
ทั้งนี้ “เซ็นทรัลพัฒนา” เริ่มผุดไอเดียท่องเที่ยวแบบ “Local tourism” หรือการเชื่อมโยงธุรกิจค้าปลีกกับการท่องเที่ยวของจังหวัด ผ่านศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่มีอยู่กว่า 37 โครงการทั่วประเทศ ให้เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญในจังหวัดนั้นๆ เพื่อปลุกธุรกิจท่องเที่ยวให้ฟื้นกลับมาอีกครั้งหลังโควิด
โดยจะเริ่มที่ 3 จังหวัดใน 3 แห่งก่อนคือ ที่ เซ็นทรัลอยุธยา, เซ็นทรัลจันทบุรี และเซ็นทรัลนครศรีธรรมราช เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของจังหวัดกับศูนย์การค้า ร่วมออกแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซื้อของ ไหว้พระ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะเริ่มอย่างเป็นทางการช่วงไตรมาส 4/65 ก่อนที่ในอนาคตจะขยายเครือข่ายผ่านศูนย์กาารค้าเพิ่มทั้งใน ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา กรุงเทพฯ เป็นต้น
3 กลยุทธ์ ” ซีพีเอ็น ผนึก ททท.” จับมือครั้งประวัติศาสตร์ฟื้นท่องเที่ยวหลังโควิด
ล่าสุดได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และพันธมิตร จัดแคมเปญ “The Great Collaboration for Thailand’s Tourism Ecosystem” รองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกลยุทธ์ชูศูนย์การค้าเป็น Cross-Region Platform กระตุ้นท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรอง-กระจายรายได้ พร้อมอัดโปรโมชั่นดึงดูด และกระตุ้นการใช้จ่ายทัวร์ริสต์ทั้งในและนอกประเทศ ผ่านศูนย์การค้าเซ็นทรัล 37 สาขาทั่วประเทศ มีเป้าหมายเพื่อผลักดันรายได้ของประเทศที่ตั้งเป้าไว้กว่า 800,000 ล้านบาท
โดยมีพันธมิตร ได้แก่ TCEB, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ ออนไลน์, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, โรงแรมและรีสอร์ทในเครือ CENTARA, โรงแรม Siam Kempinski, สายการบินบางกอกแอร์เวย์, คริสพลัส และพีลาโก้โดยสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์, สายการบินไทย, สายการบินไทยสมายล์, สายการบินเวียตเจ็ทแอร์, สถาบันการเงิน บัตรเครดิต และ Payment ออนไลน์แพลตฟอร์ม Alipay, JCB, Mastercard, UnionPay, WeChat Pay เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ TRUE Corporation และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซการท่องเที่ยว KLOOK
ทั้งนี้ได้วางแผนงานที่ชัดเจนเพื่อผลักดันให้ไทยเป็น Global Preferred Destination ด้วย 3 กลยุทธ์ ได้แก่
- กลยุทธ์ 1.Stimulate Spending & Spread income ชูบทบาทศูนย์การค้าเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง Retail & Tourism Ecosystem เข้าด้วยกัน เพื่อเติมเต็มการท่องเที่ยวทั้งระบบ ด้วยจุดแข็งของศูนย์การค้าเซ็นทรัลที่มีสาขาทั่วประเทศ โดยมี 19 สาขา อยู่ใน 15 จังหวัดท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง เช่น การจัดงานโปรโมทการท่องเที่ยว, งาน Hotel Fair, OTOP Market, โปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนได้ทั่วประเทศแบบ Cross-Region เป็นต้น
- กลยุทธ์ 2. Springboard Rising Cities ขยายโครงการต่อเนื่อง ปั้นเมือง Rising Cities โปรโมทเมืองรอง จับคู่กับเมืองหลัก เช่น กรุงเทพฯ – ไปอยุธยา – สุโขทัย, เชียงใหม่ – ไปลำพูน – ลำปาง และ ภูเก็ต – ไปกระบี่ เป็นต้น ผ่านศูนย์การค้าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นหนึ่งในพันธมิตรหลักในการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวไปยังท้องถิ่น เพื่อยกระดับท่องเที่ยวทั้งระบบ พร้อมดึง Local essence สร้างแลนด์มาร์กใหม่ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชน
- กลยุทธ์ 3. Spotlight on Global Shopping Destination ผลักดันกรุงเทพฯ และภูเก็ตเป็นเมืองช้อปปิ้งระดับโลก พัฒนา shopping destination หลากหลายฟอร์แมตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทุกประเภท
นับเป็นการดึงพาร์ทเนอร์มาเพื่อสร้าง Ecosystem ผ่านศูนย์การค้าของซีพีเอ็นที่มีอยู่ในทุกเมืองท่องเที่ยวหลัก เพื่อร่วมกันในการผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ฟื้น ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ โดยส่วนของต้นน้ำจะประกอบด้วยพาร์ทเนอร์ ที่เป็น สายการบิน, ส่วนกลางน้ำ โรงแรมต่างๆ และส่วนปลายน้ำ ห้างสรรพสินค้า บัตรเครดิต เป็นต้น
เป้าใหญ่ “ททท.” ปลุกชีพอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท
ในมุมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภายใต้การนำ “คุณยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ต่าง ๆ ในประเทศเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจรีเทล โรงแรม สายการบิน และพันธมิตรจากทุกแขนงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่ล้วนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การบูรณาการความร่วมมือของภาคเอกชน ที่ช่วยติด Booster ให้ก้าวสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันการท่องเที่ยวไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยใช้จุดแข็งอย่างธุรกิจรีเทลที่มีความแข็งแกร่งมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการเติบโต
ทั้งนี้แผนงานของ ททท.ในปี 2565 นี้จะถูกขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์” (Amazing Thailand New Chapter) ที่ต้องการฟื้นท่องเที่ยวผ่านโครงการต่างๆ เน้นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์มากขึ้น ทั้งการผลักดันเมืองรอง การสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ,หรือแคมเปญ 365 วันท่องเที่ยวในไทย ซึ่งการจับมือกับเซ็นทรัล คืออีกหนึ่งการฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมูลค่ากว่า 3.3 ล้านล้านบาทของเมืองไทยให้กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง หลังการระบาดของโควิดที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ภายใต้แนวคิด 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การเป็น Top of Mind ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกนึกถึงและอยากเดินทางมาเยือน 2.การทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ เน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพื่อใช้จ่ายในประเทศ พร้อมนำเทคโนโลยีดิจิทับเข้ามายกระดับการท่องเที่ยวไทย 3. นโยบายเมืองรอง และการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในไทย ที่ไม่ใช่สนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถแข่งขันกับสถานที่ท่องเที่ยวเกิดใหม่ในแต่ละประเทศได้
“เรามีแผนจะเสนอโครงการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อดำเนินการทรานส์ฟอร์มเมชั่น ดิจิทัล ของการท่องเที่ยว เข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการของ ททท.ให้พิจารณารายละเอียด ในเร็วๆนี้ ซึ่งบริษัทลูกนี้จะดำเนินการบริหารจัดการ การท่องเที่ยวของไทยให้เข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่มีความพร้อมในการแข่งขันกับการท่องเที่ยวประเทศอื่นๆและสอดคล้องกับโลกยุคใหม่ด้วย” คุณยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เผยถึงอีกหนึ่งยุทธศาตร์สำคัญ
สำหรับสิ้นปี 2565 นี้ คาดการณ์ว่าจะมีตัวเลขของคนไทยเที่ยวไทยประมาณ 160 ล้านคน/ครั้ง และมีปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 10 ล้านคน สร้างรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวม 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นปริมาณรายได้ที่กลับฟื้นคืนมาแล้ว 50% ของรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด
ส่วนปี 2566 ตั้งเป้าหมายไว้ที่ คนไทยเที่ยวไทยประมาณ 180 ล้านคนครั้งและมีปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 25 ล้านคน สร้างรายได้รวม 2.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของรายได้ช่วงปี 2562 ซึ่งช่วงนั้นมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 39 ล้านคน โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยล่าสุดถึงเดือนสิงหาคม มีจำนวนมากถึง 3.78 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 176,000 ล้านบาท สำหรับ Top 3 นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยมากที่สุด ได้แก่ มาเลเซีย อินเดีย และสิงคโปร์ ตามลำดับ
3 กลยุทธ์ ‘เซ็นทรัล’ ดึงคนมาศูนย์การค้า เมื่อคนออกจากบ้านน้อยลง-ออนไลน์คือคู่แข่งตัวจริง