สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT อัพเดทตัวเลขงบโฆษณาดิจิทัล ปี 2022 ครึ่งปีแรกมีมูลค่า 13,009 ล้านบาท คาดการณ์ครึ่งหลังมูลค่าอยู่ที่ 13,614 ล้านบาท ตัวเลขรวมทั้งปีอยู่ที่ 26,623 ล้านบาท เติบโต 7%
หากดูตัวเลขการเติบโตที่ 7% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2012 ที่เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักมาต่อเนื่อง ในปี 2020 ที่เจอสถานการณ์โควิด โฆษณาดิจิทัล เติบโต 8%
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนหลังโควิด แต่ก็ยังมีปัจจัยส่งผลในเชิงลบจากต้นทุนการผลิตสูงและภาวะเงินเฟ้อ แม้สื่อดิจิทัลได้รับผลกระทบน้อยกว่าสื่ออื่นๆ แต่ก็ได้รับผลกระทบอยู่ดี จึงเป็นที่มาของตัวเลขคาดการณ์ปี 2022 ที่เติบโต 7% โดยต้องรอดูไตรมาส 4 ที่จะมีการใช้งบของหลายธุรกิจเพิ่มขึ้น เช่น อีคอมเมิร์ซ อาจจะทำให้โฆษณาดิจิทัลเติบโตได้มากกว่าคาดการณ์
ท็อป10 ธุรกิจใช้งบโฆษณาสูงสุด
มาดูกลุ่มธุรกิจที่ใช้งบโฆษณาดิจิทัลสูงสุด 10 อันดับแรก
1. ยานยนต์ มูลค่า 3,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%
2. เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2,464 ล้านบาท ลดลง 8%
3. สื่อสาร มูลค่า 2,419 ล้านบาท ลดลง 6%
4. สกินแคร์ มูลค่า 2,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%
5. ผลิตภัณฑ์จากนม มูลค่า 1,709 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%
6. ร้านค้าปลีก มูลค่า 1,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2%
7. ธนาคาร มูลค่า 1,130 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10%
8. วิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มูลค่า 848 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21%
9. ธุรกิจประกัน มูลค่า 731 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6%
10. อสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 717 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41%
กลุ่มยานยนต์เป็นเบอร์ 1 การใช้งบโฆษณาดิจิทัลสูงสุดมาต่อเนื่องกว่า 7 ปี ปีนี้เติบโตจากปัจจัยการกลับมาใช้ชีวิตปกติหลังโควิด จากราคาน้ำมันปรับตัวสูงต่อเนื่อง ทำให้ยานยนต์ EV เข้ามาทำตลาดมากขึ้น การเปิดตัวหลายแบรนด์ใหม่ ทำให้ต้องสร้างการรับรู้ผ่านสื่อ กลุ่มนี้จึงยังใช้งบโฆษณาดิจิทัลเพิ่มขึ้นไปอีกหลายปี
ส่วนกลุ่มอสังหาฯ เติบโตจากเซ็กเมนต์บ้านเดี่ยวราคา 6-10 ล้านบาทและคอนโด ลักชัวรี่ ทำให้ใช้สื่อดิจิทัลมาทำการตลาดตรงถึงกลุ่มเป้าหมายและเก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อดึงทราฟฟิกไปที่เว็บไซต์อสังหาฯ เพื่อปิดการขายบนแพลตฟอร์ม
ธนาคารและประกัน ได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศ ปัจจัยบวกแบงก์มาจากการทำตลาดสินเชื่อ โปรดักท์ใหม่ๆ และมีแบรนด์ใหม่เปิดตัวเยอะขึ้น
สินค้าวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นกลุ่มที่ใช้งบโฆษณาดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจจาก กลุ่มโลคอลแบรนด์ ทำการตลาดมากขึ้นทั้งขายตรง โดยใช้อินฟลูเอนเซอร์โปรโมทสินค้า
รวมทั้งนโยบายเปิดเสรีกัญชา จึงมีสินค้ากัญชาเปิดทำตลาดหลายแบรนด์ แม้ยังจำกัดการลงโฆษณา แต่มีการทำการตลาดผ่านเสิร์ซมากขึ้น
ส่วนกลุ่มรีเทล ทำการตลาดดิจิทัลเพื่อดึงทราฟฟิกไปที่สโตร์และโปรโมทออนไลน์แพลตฟอร์ม ในรูปแบบ Omni-channel
ท็อป10 สื่อกวาดเม็ดเงินสูงสุด
สำหรับประเภทสื่อที่ครองสัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลสูงสุ 10 อันดับ
1. Meta (เฟซบุ๊ก+อินสตาแกรม) มูลค่า 8,691 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%
2. ยูทูบ มูลค่า 3,875 ล้านบาท ลดลง 8%
3. วิดีโอออนไลน์ มูลค่า 2,738 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53%
4. โซเชียล มูลค่า 2,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1%
5. ครีเอทีฟ มูลค่า 1,804 ล้านบาท ลดลง 9%
6. ดิสเพลย์ มูลค่า 1,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%
7. ไลน์ มูลค่า 1,633 ล้านบาท ทรงตัว 0%
8. เสิร์ช มูลค่า 1,560 ล้านบาท ลดลง 8%
9. TikTok มูลค่า 840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132%
10. Affiliate Marketing มูลค่า 429 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45%
ปี 2022 เป็นปีแรกที่ DAAT จัดเก็บเม็ดเงินโฆษณาในนาม Meta โดยรวม “เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม” เข้าด้วยกัน เพราะปกติซื้อโฆษณารวมกัน ทำให้ครองสัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมา “เฟซบุ๊ก” เป็นสื่อที่ครองเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลอันดับ 1 มาตลอด เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงประชากรออนไลน์เกือบ 100%
ส่วน TikTok เพิ่มขึ้นสูงสุดจากจำนวนผู้ใช้งานเติบโตสูง อยู่ที่ 42 ล้านราย และใช้เวลามากขึ้น ถือเป็นอีกช่องทางในการทำการตลาดที่น่าสนใจ และ TikTok เริ่มมีการทำคอมเมิร์ซมากขึ้น เช่น TikTok shop, live shopping ad, collection ads
ปัจจัยที่ทำให้สื่อโฆษณาดิจิทัล ยังมีแนวโน้มเติบโต มาจากการตอบโจทย์การทำตลาดให้ทุกด้าน เช่น การใช้สื่อดิจิทัลเพื่อสร้างการรับรู้ เดิมมีสัดส่วนการใช้งบราว 20% แต่ปัจจุบันบางธุรกิจใช้สื่อดิจิทัลเป็นหลักเกือบ 80-100% เนื่องจากเป็นเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก เพราะประชากรไทย 77.8% ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ เฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน วันนี้คนไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัวแล้ว