HomeBrand Move !!บทเรียนโควิด ‘ดุสิตธานี’ พลิกกลยุทธ์ 4 ขา สร้างรายได้ เดินหน้าปั้น ‘ธุรกิจอาหาร’ บาลานซ์กลุ่มโรงแรม 

บทเรียนโควิด ‘ดุสิตธานี’ พลิกกลยุทธ์ 4 ขา สร้างรายได้ เดินหน้าปั้น ‘ธุรกิจอาหาร’ บาลานซ์กลุ่มโรงแรม 

แชร์ :

CEO dusit Coverหลังจากเข้ามาเป็นแม่ทัพ “ดุสิตธานี” ในปี 2559 “คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์” วางเส้นทางการเติบโตธุรกิจไว้ 3 ระยะ ในช่วง 9 ปี เริ่มจาก 3 ปีแรกสร้างฐานธุรกิจเดิมให้แข็งแกร่งเพื่อการเติบโตต่อในอนาคต  ระยะ 3 ปีที่สองเห็นการเติบโตในธุรกิจที่เข้าไปลงทุน และ 3 ปีสุดท้ายจะเป็น New Chapter ของดุสิตธานี

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่เส้นทางเดินต้องมาสะดุดจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับเป็น “บทเรียน” สำคัญ ให้ต้อง “ปรับแผน” พลิกวิกฤติเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ

“เวลาเจอวิกฤติแล้วทุกอย่างหยุดนิ่ง เพราะเราพยายามป้องกันตัวเอง ก็เหมือนการสร้างกำแพง แต่ที่จริงในวิกฤติหากเข้าไปดูว่ามีโอกาสอยู่ตรงไหน แล้วสร้างเครื่องยนต์ใหม่ๆ ทักษะใหม่ๆ  ก็เหมือนการสร้างกังหัน เตรียมไว้รับลมใหม่ เมื่อวิกฤติผ่านไป จะทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้เร็วและมั่นคง”  

CEO dusit Quote

วาง 4 ขา ธุรกิจบาลานซ์รายได้

คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในช่วง 2 ปีโควิด เป็นสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเจอ ทำให้แผนสร้างการเติบโตของดุสิต หลายอย่างหยุดชะงัก โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม Hospitality Service จึงเลือกที่จะ “ปรับแผน” ใหม่ แม้ฝั่งโรงแรมต้องชะลอออกไป แต่ก็เห็นโอกาสของการขยายธุรกิจใหม่ในฝั่งอาหาร (Food Business) 

จากวันแรกที่เข้ามาเป็นซีอีโอ ดุสิตมีธุรกิจหลักโรงแรม สัดส่วนรายได้มากกว่า 90% และธุรกิจการศึกษา 10% ทั้ง วิทยาลัยดุสิตธานี และเลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ที่มีนักเรียนกว่า 3,000 คน

หากดูจากโครงสร้างสัดส่วนรายได้ เปรียบเป็นเก้าอี้ ก็มีขาที่แข็งแรงขาเดียวคือโรงแรม ทำให้บาลานซ์รายได้ยาก เวลาเจอปัญหาที่มากระทบธุรกิจโรงแรมอย่างโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 “ดุสิต” จึงปรับกลยุทธ์การเติบโต มองโอกาสการขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่ใกล้เคียงกับธุรกิจที่ทำอยู่ วางโครงสร้างไว้ 4 กลุ่ม เปรียบเป็น “เก้าอี้ 4 ขา” ที่จะช่วยบาลานซ์รายได้ให้มั่นคง

1. Hotel กลุ่มโรงแรมไม่ใช่เพียงการขยายจำนวนประเทศใหม่ๆ แต่จะขยายบริการให้หลากหลาย มีทั้งโรงแรมเต็มรูปแบบแบรนด์ดุสิต, โรงแรมไลฟ์สไตล์แบรนด์ ASAI,  ลักชัวรี่ วิลล่า ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่เติบโตเร็วในช่วงโควิดและหลังโควิด

ในปี 2559 ที่เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ ดุสิตมีโรงแรม 28 แห่ง ใน 7 ประเทศ  แบ่งเป็นดุสิตลงทุนเอง 10 แห่ง และบริหาร 18 แห่ง  ปัจจุบันปี 2565 มีจำนวน 332 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรม 47 แห่ง และวิลล่า 285 แห่ง ใน 16 ประเทศ

ปัจจุบันเซ็นสัญญาบริหารโรงแรมไว้แล้วอีก 45 แห่งที่จะทยอยเปิดปีละ 10-15 แห่ง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีทั้งการขยายในประเทศเดิมและเปิดในประเทศใหม่ๆ เช่น  เนปาล เมียนมา กรีซ อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย   ในปี 2566 จะเปิดโรงแรมที่เกียวโต ญี่ปุ่น ทั้งแบรนด์ดุสิตและ ASAI  ในจีน 2-3 แห่ง ในไทยมี ASAI สาทร,  D2 สามย่าน  ปี 2567 เปิดบริการโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ สีลม

2. Education กลุ่มการศึกษา นอกจาก วิทยาลัยดุสิตธานี ดีกรีโปรแกรม ปริญญาตรี ปริญญาโท และเลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต คอร์สเรียนระยะสั้น ล่าสุดได้เปิดโรงเรียนแห่งใหม่ The Food School Bangkok โรงเรียนฝึกการประกอบอาหารนานาชาติแห่งแรก ที่จะเป็น Next Chapter ในธุรกิจกลุ่มนี้

สำหรับ The Food School Bangkok  เป็นความร่วมมือของพันธมิตร 3 แห่ง ได้แก่ ALMA – The School of Italian Culinary Arts ประเทศอิตาลี, TSUJI Culinary Institute ประเทศญี่ปุ่น และ Dusit Thani College ประเทศไทย  ที่จะสร้างให้เป็น Food Community  โดยมี Test kitchen และ Incubator ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาหารครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย  เครื่องครัวและอุปกรณ์ทันสมัย และสถานที่ที่เอื้อต่อการเรียนทำอาหาร บนพื้นที่รวม 3,200 ตารางเมตร โครงการ BLOCK 28 จุฬาฯ ซอย 5

food school dusit

3. Property Development  ดุสิตได้เข้าไปลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 2 โครงการใหญ่  คือ 1.ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มูลค่า 46,700 ล้านบาท เป็นโครงการมิกซ์ยูสลงทุนร่วมกับ “เซ็นทรัลพัฒนา”  โดยมีโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เตรียมเปิดในปี 2567 เรสซิเดนซ์ อาคารสำนักงาน และพื้นที่รีเทล  ส่วนเรสซิเดนซ์ มูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท ปัจจุบันขายได้แล้ว 47% สิ้นปีนี้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 55-60%  2. Hampton ศรีราชา ดุสิตลงทุน 50% ร่วมกับ ออริจิ้น ปัจจุบันขายไปแล้ว 72% สิ้นปีนี้โครงการก่อสร้างเสร็จพร้อมโอน

4. Food Business  ธุรกิจอาหาร ถือเป็นเส้นทางการเติบโตใหม่ของดุสิต โดยเริ่มต้นลงทุนผ่านบริษัท “ดุสิตฟู้ดส์” ตั้งแต่ปี 2561 ด้วยการเข้าไปซื้อหุ้น NRF 26% มูลค่า 600 ล้านบาท หลังจาก NRF เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จึง Exit ตามแผน ได้เงินมา 1,300 ล้านบาท โดยนำเงินมาลงทุนธุรกิจอาหารต่อเนื่อง ในรูปแบบ M&A และเป็นพันธมิตร เพื่อเติบโตไปพร้อมกับกลุ่มที่เข้าไปลงทุน  วางเป้าหมายสร้าง Food Platform แห่งอนาคต

วางวิชั่นธุรกิจอาหาร คือ Bring Asia to The World  โดยเห็นโอกาสและศักยภาพ 4 กลุ่ม คือ สินค้าจากธรรมชาติ ออร์แกนิก ดูแลสุขภาพ และสนับสนุนท้องถิ่น

จากกลยุทธ์ปรับพอร์ตโฟลิโอรายได้ใน 4 กลุ่มธุรกิจ ในช่วง 5 ปีจากนี้ หรือในปี 2570 ดุสิตจะมีรายได้จากโรงแรมอยู่ที่ 60-65%  ธุรกิจอาหาร 25-30%  การศึกษา 7-8% และอื่นๆ 2-3%  ถือเป็นการบาลานซ์ “น้ำหนัก” ที่เหมาะสม 

Dusit Food Business

เจาะ 5 ธุรกิจอาหาร 5 ปีสร้างรายได้ 2,500 ล้าน 

จากเป้าหมายรายได้ธุรกิจอาหารในอีก 5 ปีข้างหน้า ดุสิตวางสัดส่วนไว้ 25-30% เป็นอันดับ2 รองจากโรงแรม ภายใต้การลงทุนของ “ดุสิตฟู้ดส์”  ที่เริ่มในปี 2561 และตลอดช่วง 2 ปีโควิด ได้มองหาโอกาสลงทุนใหม่ต่อเนื่อง โดยมี 5 กลุ่มหลัก

1. Dusit Gourmet เป็นแพลตฟอร์มหาวัตถุดิบอาหาร ด้วยการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในรูปแบบ Contract farming และ Smart farming  เช่น สหกรณ์โคนมขอนแก่น ข้าวออร์แกนิกจากทุ่งกุลาร้องไห้  โดยรับซื้อวัตถุดิบมาใช้ในธุรกิจโรงแรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยทำเป็นเครื่องปรุงสำเร็จ เพื่อให้รสชาติและคุณภาพอาหารเป็นมาตรฐานเดียวกัน ในอนาคตจะขยายธุรกิจซัพพลายวัตถุดิบให้ธุรกิจอื่นๆ นอกกลุ่มดุสิตด้วย

2. Epicure เป็นเบอร์ 1 ด้านเคเทอริ่งในโรงเรียนนานาชาติ ดุสิตเข้าไปลงทุนในปี 2562 สัดส่วน 70% เนื่องจากได้ปิดโรงแรมดุสิตธานี เพื่อก่อสร้างใหม่ จึงมองหาธุรกิจใหม่ให้พนักงาน โดยขยายบริการเคเทอริ่ง ในธุรกิจอีเวนต์, ไพรเวท ไดนิ่ง, จัดงานเลี้ยงที่บ้าน

ส่วนธุรกิจเคเทอริ่งในโรงเรียนนานาชาติของ Epicure ปัจจุบันมี 90 สัญญา สัดส่วน 90% ต่อสัญญาซ้ำ โดยให้บริการ 40,000 มื้อต่อวัน ตามจำนวนนักเรียนที่ดูแล ถือเป็นธุรกิจที่มีรายได้ประจำต่อเนื่อง

หลังจากดุสิต มาถือหุ้น Epicure ในปี 2563 ได้พา Epicure ไปซื้อกิจการ The Caterers ในเวียดนาม ซึ่งเป็นอันดับ 1 ธุรกิจเคเทอริ่งในโรงเรียนนานาชาติเช่นกัน  โดยให้บริการ 13,000 มื้อต่อวัน โดยมี 50 สัญญากับโรงเรียนนานาชาติ

ในกลุ่มเคเทอริ่งวางแผนจะขยายการลงทุน Epicure เพิ่มเติมในประเทศที่โรงแรมดุสิตเข้าไปลงทุน โดยกำลังดูตลาดตะวันออกกลาง รวมทั้งขยายบริการเคเทอริ่งในเซ็กเมนต์ใหม่ เช่น โรงพยาบาล ออฟฟิศ

3. Dusit Real Food  ร่วมทุนกับ Real Food แอฟริกาใต้ ซึ่งทำธุรกิจร้านอาหารสุขภาพแบรนด์ คาวาอิ (Kauai) ทำตลาดในแอฟริกาใต้และยุโรป กว่า 200 สาขา โดย 96 สาขา อยู่ใน “เวอร์จิน แอคทีฟ”  โดยวางแผนนำแบรนด์ “คาวาอิ” ขยายธุรกิจในเอเชีย ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย ทั้งสาขาในเวอร์จิน แอคทีฟ และนอกฟิตเนส

ปัจจุบันในประเทศไทย มีร้านคาวาอิ 5 สาขา ที่ทรูดิจิทัล พาร์ค, สาขาคีออส ที่เวอร์จิน แอคทีฟ คลับ 3 แห่ง คือ เอ็มควอเทียร์, สยามดิสคัฟเวอรี่ และเอ็มไพร์ทาวเวอร์ และสาขาแฟลกชิปสโตร์นอกฟิตเนสย่านอโศก  ปี 2566-2570  วางแผนเปิดปีละ 3-4 สาขา

ร้านคาวาอิ มีร้าน 4 ฟอร์แมท คือ ร้านขนาดใหญ่ 110-120 ตารางเมตร, ร้านขนาดกลาง 70-80 ตารางเมตร, ร้านขนาดเล็ก 40 ตารางเมตร และคีออส 20-25 ตารางเมตร

dusit bonjour

4. Bonjour Bakery Asia  ซึ่งมีทั้งโรงงานและหน้าร้าน ปี 2565 ดุสิตฟู้ดส์ เข้าไปลงทุน 55% ส่วนโรงงานผลิตเบเกอรี่ คือ Port Royal อยู่ที่ปลวกแดง จังหวัดระยอง ปัจจุบันใช้กำลังผลิต 50%

“บองชู” ถือเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้สูง ในฝั่งโรงงานสามารถผลิตเบเกอรี่ป้อนให้โรงแรมดุสิต รวมทั้งโมเดลใหม่ทำธุรกิจแบบ B2B ผลิตเบเกอรี่ OEM ให้กับแบรนด์ต่างๆ ตามสูตรของแต่ละแบรนด์ ที่มีความร่วมมือแล้วคือผลิตให้ร้านแบล็คแคนยอน สาขาแรกโรงพยาบาลรามาฯ

ส่วนธุรกิจรีเทล ปัจจุบันมีร้านบองชู เบเกอรี่ 60 สาขา อยู่ในไทย 59 สาขา และ จีน 1 สาขา ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการขยายสาขาเพิ่ม เพราะดุสิต มีโรงแรมอยู่ในจีนอยู่แล้ว วางแผนที่จะนำ “บองชู” ขยายสาขาไปในประเทศที่ดุสิตเข้าไปดำเนินธุรกิจแล้ว ประเทศที่เตรียมจะไปเข้าพร้อมโรงแรมเร็วๆ นี้ คือ เวียดนาม

ในปี 2566 จะเปิดฟอร์แมทใหม่ “มินิ บองชู” ใช้พื้นที่ 15 ตารางเมตร  แต่ละปีจะขยายเพิ่ม 20 สาขา โดยเป็นแฟรนไชส์ 15 สาขา

5. Savor Eats จะเปิดตัวในไตรมาส 4 ถือเป็นอาวุธลับของดุสิตในธุรกิจอาหาร ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแห่งอนาคตสำหรับบริการส่งอาหาร รวมทั้งการเป็นพาร์ทเนอร์กับ Farm-2-plate ซึ่งมีความเชี่ยวชาญผลิตอาหารแช่แข็งที่มีรสชาติไม่ต่างจากอาหารปรุงสุก จะมาร่วมกันสร้าง Next Move ให้ดุสิตเติบโตในธุรกิจอาหาร

OR x Dusit

ผนึก OR ขยายธุรกิจอาหาร 

เดือนสิงหาคม 2565 บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้เข้ามาลงทุนใน “ดุสิตฟู้ดส์”  25%  คุณศุภจี มองความร่วมมือนี้ ถือเป็นการสร้างโอกาสเติบโตร่วมกัน โดยอาศัยจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่าย

โดย OR มีความเชี่ยวชาญในส่วนของธุรกิจค้าปลีกและเป็นเจ้าของเครือข่าย Retail Platform ที่สามารถเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้คนและกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น (PTT Station) เกือบ 2,500 แห่ง และคาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon) อีกกว่า 4,000 สาขาทั้งในไทยและต่างประเทศ

กลุ่มธุรกิจอาหารที่จะทำร่วมกับ OR คือ  โรงงานบองชู จะผลิตสินค้าเบเกอรี่ป้อนให้กับ คาเฟ่ อเมซอน, ร้านกาแฟ Pacamara นอกจากนี้ร้านเบเกอรี่ บองชู ได้มองโมเดลเข้าไปเปิดมุมจำหน่ายเบเกอรี่ใน Kamu Kamu ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการเช่าพื้นที่หรือแบ่งรายได้ร่วมกัน รวมทั้งเข้าไปเปิดร้านในปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ

ปัจจุบันทั้งดุสิต และ OR ต่างมีธุรกิจในต่างประเทศอยู่แล้ว หลังจากนี้จะเห็นความร่วมมือในการขยายธุรกิจอาหารร่วมกันในประเทศที่ทั้ง 2 องค์กรเข้าไปทำธุรกิจมากขึ้น

หลังจากรุกขยายธุรกิจอาหารในช่วง 2 ปีโควิด วางเป้าหมายปี 2570 หรืออีก 5 ปีจากนี้ ธุรกิจอาหารจะทำรายได้ 2,500 ล้านบาท เติบโตปีละ 15-20% ถือเป็น New Chapter ของดุสิตธานี

Dusit x OR 

อ่านเพิ่มเติม 


แชร์ :

You may also like