HomeInsightศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ ขึ้นค่าแรง ทำต้นทุนพุ่ง ฉุดกำไรธุรกิจลด “เกษตร-ค้าปลีก-โรงแรม-ร้านอาหาร-ก่อสร้าง” กระทบหนักสุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ ขึ้นค่าแรง ทำต้นทุนพุ่ง ฉุดกำไรธุรกิจลด “เกษตร-ค้าปลีก-โรงแรม-ร้านอาหาร-ก่อสร้าง” กระทบหนักสุด

แชร์ :

เรียกได้ว่าเป็นอีกปีที่ “ไม่ง่าย” สำหรับทุกธุรกิจ แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายให้ธุรกิจได้กลับมาเดินต่อ แต่ก็มีโจทย์ท้าทายใหม่ๆ ให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤต “เงินเฟ้อ” ที่สูงเป็นประวัติการณ์ แถมซ้ำเติมด้วยการปรับ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ขึ้นอีก 5% จากอัตราเดิม ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนพุ่งสูงขึ้น และทำให้กำไรธุรกิจลดลง โดย “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้ประเมินการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ พบว่า อาจกระทบกำไรจากการดำเนินงานให้ลดลงราว 4.6% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานสูง ทั้งธุรกิจการเกษตร ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ก่อสร้าง กระทบหนักสุด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หลังจากคณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 ทั่วประเทศ โดยจังหวัดชลบุรี ระยอง ภูเก็ต ปรับขึ้นสูงสุด 354 บาท และต่ำสุดอยู่ที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี ปรับขึ้นเป็น 328 บาท ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 353 บาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์เพื่อประเมินผลกระทบ และพบว่า อาจส่งผลต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ และปีถัดไป โดยอาจทำให้ต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นราว 0.5% และกระทบกำไรจากการดำเนินงานให้ลดลงราว 4.6%

สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างในแต่ละจังหวัดในอัตราที่แตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่มีแหล่งที่ตั้งกิจการต่างกันได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน เบื้องต้นกิจการที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะได้รับผลกระทบด้านต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่าพื้นที่อื่น ขณะเดียวกันโครงสร้างต้นทุนและความยืดหยุ่นในการปรับตัวที่ต่างกัน ยังส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบไม่เท่ากันอีกด้วย

โดยอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมในสัดส่วนสูงอย่างอุตสาหกรรมการเกษตร ค้าปลึก โรงแรม ร้านอาหาร และก่อสร้าง เบื้องต้นอาจมีกำไรลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม หรือลดลงประมาณ 5-15% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปรับตัวและความสามารถในการแข่งขันในตลาดของแต่ละธุรกิจ

แต่สำหรับบางธุรกิจโดยเฉพาะ “อุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหาร จะเป็นกลุ่มที่เผชิญความท้าทายสูง เนื่องจากจังหวะในการพลิกกลับมาทำ “กำไร” อาจถูกเลื่อนออกไปจากเดิม ทั้งนี้ ตัวเลขข้างต้น เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นโดยเน้นไปที่ต้นทุนแรงงาน ภายใต้สมมติฐานว่าปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือคงที่และกำไรจะลดลงหากธุรกิจไม่สามารถขยับราคาขายได้

สำหรับในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ประเด็นด้านแรงงานจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างประชากรไทยจะเริ่มมีจำนวนลดลงและแรงงานมีอายุมากขึ้น หรือเข้าสู่สังคมสูงวัยสุดยอด (Hyper-aged society) ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อนยิ่งขึ้น

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like