จากนโยบายภาครัฐเปิดเสรีธุรกิจน้ำมัน ทำให้มีผู้ค้ามากราย เพื่อให้หน่วยธุรกิจน้ำมัน (Business Unit) ของ ปตท. มีศักยภาพและความคล่องตัวสูงขึ้น จึงปรับโครงสร้างโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมัน ตลอดจนหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้แก่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561
OR ถือเป็นบริษัท Flagship ของกลุ่ม ปตท. ภายใต้การบริหารของ CEO คนแรก คุณจิราพร ขาวสวัสดิ์ ซึ่งเป็นลูกหม้อ ปตท. เริ่มงานในฝ่ายบัญชี ในปี 2530 ด้วยวัย 25 ปี (หลังจบปริญญาตรีเริ่มงานบัญชีกับการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นที่แรก ทำงานอยู่ 2 ปี) อยู่ยาวจนถึงเกษียณอายุการทำงานในตำแหน่งผู้นำสูงสุดของ OR ในวันที่ 30 กันยายน 2565 กว่า 35 ปีกับองค์กร ปตท. และ OR
ตามดูภารกิจ “พี่แดง จิราพร” ซีอีโอ OR คนแรกกับผลงานการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป้าหมาย OR 2030 Goals ภารกิจเปลี่ยนสู่ RO ดัน “รีเทลนำออยล์” สิ่งที่ฝากให้องค์กรสานให้ได้ตามเป้าหมาย
เส้นทางของ OR ในช่วงปี 2555 – 2559 คุณจิราพร ในขณะนั้นตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผน หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ใช้เวลา 4 ปีเริ่มกระบวนการแยกหน่วยธุรกิจน้ำมัน Oil Business Unit ที่อยู่ใน ปตท.มา 40 ปี ออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ในชื่อ OR เพราะผู้ค้าน้ำมันทุกแบรนด์ เป็นบริษัทเอกชนทั้งหมด ขณะที่ ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. จากนั้นได้ก้าวสู่ตำแหน่ง ซีอีโอ คนแรกของ OR
ผลงานภูมิใจของซีอีโอ OR คนแรก
ถามถึงผลงานภูมิใจกับภารกิจใน OR ของ “พี่แดง จิราพร” บอกว่ามี 2 เรื่องหลักๆ
1. วันที่เปลี่ยนคู่สัญญาจากชื่อ ปตท. มาเป็น OR ของทั้งพนักงาน (ขณะนั้น 1,500 คน) รวมทั้งคู่ค้า ปั๊มน้ำมัน คาเฟ่อเมซอน โรงกลั่น ซัพพลายเออร์ โดยไม่ต้องร้องขอ หลังจากสื่อสารและทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงจาก ปตท.มาเป็น OR เรียกว่าทุกส่วนเซ็นยอมรับการเปลี่ยนคู่สัญญากลับทั้งหมด (ยกเว้น 1 ปั๊ม ซึ่งทนายเป็นเจ้าของแต่หลังจากพูดคุยให้ข้อมูลกันแล้วก็เซ็นในที่สุด)
ที่ภูมิใจกับเรื่องนี้ เพราะเป็นครั้งแรกของพนักงาน ปตท. และคู่ค้าที่เปลี่ยนสถานภาพมาเป็น OR หมายถึงความเชื่อใจในเส้นทางของ OR
2. การนำ OR เข้า IPO ซึ่งอยู่ในสถานการณ์โควิด แต่ก็ทำได้สำเร็จเข้าซื้อขายวันแรก 11 กุมภาพันธ์ 2564 สตอรี่การ IPO ด้วยวิธี small lot first เพราะธุรกิจของ OR ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำมัน คาเฟ่อเมซอน LPG น้ำมันหล่อลื่น เป็นธุรกิจที่มีมาร์เก็ตแชร์เป็นเบอร์หนึ่งต่อเนื่องมากว่า 20 ปี “เราเป็นแบบนี้ได้เพราะคนไทยสนับสนุน จึงตั้งใจว่าหุ้น OR ต้องให้คนไทยได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของอย่างทั่วถึงและมากที่สุด”
แม้ว่าการใช้วิธี small lot first เป็นสิ่งที่ต้องตัดสินใจ “แลก” ในสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ หากมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมาก การบริหารราคาหุ้น การสื่อสารทิศทางธุรกิจเพื่อเข้าใจและไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้ราคาหุ้นเกิดความผันผวน เป็นเรื่องที่เราต้องเลือกว่า “แม้หลัง IPO ราคาหุ้นอาจจะเอาอยู่ยาก หากมีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมาก”
แต่ OR ก็เลือกวิธีการ small lot first โดยกำหนดจำนวนหุ้นขั้นต่ำไว้หลายสูตรทั้ง 1,000 หุ้น แต่ก็ต้องใช้เงิน 18,000 บาท (ราคา IPO หุ้นละ 18 บาท) มองว่าในสถานการณ์โควิดก็ยังเป็นเรื่องที่หลายคนลำบาก จึงมาคิดที่ 500 หุ้น ก็ยังใช้เงินเกือบ 10,000 บาท ยังเยอะอยู่ จึงสรุปขั้นต่ำที่ 300 หุ้น ใช้เงินจำนวน 5,400 บาท เพื่อกระจายโอกาสให้รายย่อยร่วมถือหุ้นให้มากที่สุด
OR เป็นบริษัทที่มีรายย่อยถือหุ้นมากที่สุด ในวันแรกของการ IPO มีจำนวน 530,000 รายการ ถือว่าได้รับการไว้วางใจจากผู้ถือหุ้นจำนวนมาก สร้างความภูมิใจให้กลุ่มปตท. และ OR ปัจจุบันเหลือรายย่อย 350,000 รายการ บางคนยังถือเป็นใบหุ้นอยู่ นั่นหมายถึงการถือหุ้นถาวร และคงส่งต่อเป็นมรดก
เป้าหมาย OR เปลี่ยนสู่ RO “รีเทลนำออยล์”
ตลอด 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2561 ช่วง 2 ปีก่อน IPO) OR ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงออกจาก Oil สู่ Retail เห็นได้ว่า “รีเทล” ไม่ได้มีแค่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) เพราะ OR วางเป้าหมายไว้ชัดว่าตลอด 24 ชั่วโมงของการใช้ชีวิตของผู้คน ต้องคิดถึงผลิตภัณฑ์ของ OR และพาร์ทเนอร์ ที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต
ทิศทางจากเดิม OR ที่มาจาก Oil นำ Retail จากนี้ชาว OR จากเปลี่ยนเป็น RO ให้ Retail นำ Oil นี่คือเป้าหมายและความท้าทายนับจากนี้
ทำไม OR ถึงกล้าประกาศก้าวไปสู่ความเป็น RO ก็ต้องบอกว่ากลุ่มรีเทล หรือธุรกิจไลฟ์สไตล์ จุดเริ่มต้นไม่ได้มามือเปล่า เพราะตลอด 40 ปีในยุคหน่วยธุรกิจของ ปตท. ได้ทำธุรกิจผ่านการ Diversify ลองผิดลองถูก รู้ว่าอะไรเป็นจุดแข็งขององค์กร “เรามี Assets สำคัญที่จะนำไปต่อยอดสู่ความเป็น RO” ทั้ง Physical Asset และ Digital Asset ไม่ว่าจะเป็น
– สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น กว่า 2,473 แห่ง มีคนเข้ามาใช้บริการทั่วประเทศ 3.8 ล้านคนต่อวัน
– ร้านคาเฟ่ อเมซอน 4,051 สาขา (ไทยและต่างประเทศ)
– ร้านสะดวกซื้อ 2,138 แห่ง
– เครือข่ายเอสเอ็มอี 13,000 ราย
– ฐานข้อมูลลูกค้าใช้บริการนำมาพัฒนาเป็น Digital Asset ผ่าน Blue Card ที่มีผู้ถือบัตร 7.5 ล้านใบ แอคทีฟ 65%
จากฐานข้อมูลลูกค้า และ Assets เหล่านี้ OR ได้ประกาศ วิชั่น 2030 “Inclusive Growth” เป็นการเติบโตแบบ Outside-in ร่วมกันพันธมิตร ที่ถือเป็นน่านน้ำใหม่ หลังจากตลอด 40 ปีของการดำเนินธุรกิจเติบโตแบบ Inside-out จากการขยายธุรกิจของตัวเองมาตลอด โดยทีมงานของ OR 1,700 คน ที่มี Mindset พร้อมเปิดรับทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจนี้ให้บรรลุเป้าหมาย
เห็นได้ว่านับตั้งแต่ OR เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เดินหน้าแผนจับมือกับพันธมิตรขยายธุรกิจในกลุ่มรีเทลและไลฟ์สไตล์มาต่อเนื่อง ในกลุ่ม F&B ร่วมทุนกับแบรนด์ไทย อย่าง โอ้กะจู๋, โคเอ็นซูชิ, Kamu Kamu, Peaberry Thai (ร้านกาแฟ Pacamara), บุญรอดฯ ,ดุสิตธานี, กลุ่มสตาร์ทอัพ Pomelo, Carsome, freshket, GoWabi, Protomate, Hungry Hub, Hangry กลุ่มท่องเที่ยว tralveloka กลุ่มธุรกิจบริหาร Otteri, Flash Group
เพื่อทำให้ OR ไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้คน 24 ชั่วโมง และทำให้ “โออาร์=โอกาส” ของกลุ่มพาร์ทเนอร์
ทิศทางการก้าวไปสู่ “รีเทลนำออยล์” (RO) สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การลงทุนและรายได้จะสอดคล้องกัน ปัจจุบัน “กำไร” จากธุรกิจน้ำมันอยู่ที่ 75% กลุ่มไลฟ์สไตล์ 21% และต่างประเทศ 4%
แต่เป้าหมายปี 2030 ได้ปรับทิศทางธุรกิจใหม่ เน้นลงทุนธุรกิจไลฟ์สไตล์และต่างประเทศ ทำให้ทุกกลุ่มเติบโตไปด้วยกัน โดยสัดส่วนกำไรมาจาก น้ำมันและ EV ในกลุ่มธุรกิจ Mobility จะอยู่ที่ 35% ไลฟ์สไตล์ 28% ต่างประเทศ 13% ที่เหลือเป็นธุรกิจใหม่
แม้ปรับทิศทางไปทางฝั่งรีเทล แต่มาร์เก็ตแชร์น้ำมันขายปลีกในพีพีที สเตชั่นก็ยังเป็นเบอร์ 1 อยู่เหมือนเดิม ปัจจุบันเกือบ 40% (ยังทิ้งห่างเบอร์ 2 เยอะ) โดยสร้างความแตกต่างด้วย EV และไลฟ์สไตล์ และ O2O เพราะการเข้ามาชาร์จไฟฟ้าในสถานบริการ 25 นาที ก็ต้องจับจ่ายสินค้าและบริการอื่นๆ อยู่แล้ว ทำให้รีเทลและไลฟ์สไตล์เติบโตไปด้วย
การเปลี่ยนจาก OR ไปเป็น RO เปลี่ยนจากคนที่สำเร็จสูงสุดในธุรกิจน้ำมัน มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 มา 40 ปี จะต้องเปลี่ยนไปสู่วิถี Inclusive Growth เติบโตร่วมกับพันธมิตร ให้รีเทลนำหน้าออยล์ มีสิ่งสำคัญ 2 เรื่อง
1. Mindset shift ของพนักงานและทีมงาน 1,700 คน รวมทั้งบอร์ดบริหารซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายให้บริษัทเดินไปได้สำเร็จในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน คู่แข่งตามทัน ล้วนเป็นความท้าทาย OR ก็ต้องเปลี่ยน Mindset ด้วยเช่นกัน “ต้องมองเรื่องการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเรื่องสนุก เป็นความท้าทาย”
2. Tone from the top ไม่ใช่แค่ผู้นำองค์กร แต่หมายถึงผู้นำในทุกส่วนงาน ต้องสร้างแรงจูงใจให้คนมาร่วมลงมือทำงาน ปัจจุบัน OR มีพนักงาน 1,700 คน อายุเฉลี่ย 38 ปี ดังนั้นคนอายุ 50 ปีขึ้นไปมีราว 10% ดังนั้นต้องเปิดใจรับฟังคนรุ่นใหม่ อย่าเอาความคิดตัวเองเป็นหลัก ทำงานและคุยกันด้วยเหตุผล
คน OR ต้องมี DNA คือ O และ R
– O คือ Ownership ทำให้มีความเป็นเจ้าของ ทั้งพนักงาน 1,700 คน ดีลเลอร์ปั๊มน้ำมันกว่า 2,400 แห่ง ร้านคาเฟ่อเมซอนในประเทศไทยกว่า 3,700 แห่ง เป็นแฟรนไชส์ 80% คนเหล่านี้คือ Touchpoint ขององค์กร พนักงาน OR ต้องการไปทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เปิดรับฟังความเห็นและช่วยแก้ปัญหา ต้องคิดและทำเพื่อองค์กร
– R คือ Relationship สร้างสัมพันธ์ดี เป็นคนที่พึ่งพาได้ เชื่อถือได้ ธุรกิจของ OR ต้องทำงานอยู่บนข้อเท็จจริง การพิจารณาอนุมัติปั๊มน้ำมัน ร้านคาเฟ่อเมซอน หาซัพพลายเออร์ ต้องยืนอยู่บนหลักการโปร่งใสชี้แจงได้ และเป็นมืออาชีพในการทำงาน ต้องคิดถึงผู้อื่นก่อนตัวเอง ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร และติดดิน
OR 2030 เดินด้วย 4 ธุรกิจกับภารกิจ 3 ด้าน
ตามแผนธุรกิจปี 2030 เพื่อผลักดันให้เกิด Inclusive Growth Platform การเติบโตในธุรกิจของ OR ร่วมกับพันธมิตร โดยตั้งเป้าหมายจะมี EBITDA มากกว่า 40,000 ล้านบาท สัดส่วนกว่า 50% มาจากการเติบโตร่วมกับพันธมิตรของ OR ภายใต้ 4 ธุรกิจ
1. Seamless Mobility การเปลี่ยนจากพลังงานน้ำมันไปเป็นพลังงานสะอาด ทั้งไฟฟ้าและไฮโดรเจน ในปี 2030 วางเป้าหมายขยายจุดชาร์จไฟฟ้า EV Station Plus ให้ได้ 7,000 แห่งทั่วประเทศไทย
2. All Lifestyles นอกจากธุรกิจ F&B ที่ลงทุนเองและเข้าไปร่วมทุนแล้ว ได้ขยายสินค้าและบริการที่อยู่ในชีวิตผู้คนตลอด 24 ชั่วโมง ในกลุ่ม Health & Wellness และการท่องเที่ยว โดยในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเปิดตัว Super App เพื่อให้บริการทุกธุรกิจของ OR และพันธมิตร ตอบสนองไลฟ์สไตล์ 24 ชั่วโมง
3. Global Market การพาแบรนด์ไทยไปขยายธุรกิจในต่างประเทศ สินค้าและบริการที่อยู่ในอีโคซิสเต็ม OR มีโอกาสไปต่างประเทศพร้อม OR ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี หรือแม้แต่สินค้าชุมชน ก็มีโอกาสไปวางขายในร้านคาเฟ่อเมซอน ในต่างประเทศได้
ปัจจุบัน OR มีบริษัทย่อยทำธุรกิจอยู่ใน 10 ประเทศ ล่าสุดในเดือนกันยายนนี้ ได้เข้าไปเปิด คาเฟ่ อเมซอน ที่ซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นการขยายธุรกิจเข้าไปในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเพิ่มเติม
ภายในปี 2030 จะขยายให้ได้ 20 ประเทศ และพาแบรนด์ไทยไปขยายธุรกิจกับ OR ในต่างประเทศ ขั้นต่ำให้ได้ 100 แบรนด์
4. OR Innovation เป็นนวัตกรรมที่ทำให้ สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ไม่ใช่เทคโนโลยีขั้นสูง แต่เป็นการคิดค้นกระบวนการทำงาน ผลิตภัณฑ์ใหม่ มีทั้งการร่วมทุนถือหุ้น ซื้อกิจการ ตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ผ่าน ORZON Ventures เปิดโอกาสให้พาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมเติบโตไปกับ OR
นอกจากแผนธุรกิจ OR 2030 Goals ยังมีเป้าหมาย 3 ด้าน หรือ 3Ps คือ People Planet Performance ที่ต้องทำให้ได้พร้อมกัน
1. People การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน (Living Community) ครอบคลุมทั้งในพื้นที่ที่ OR ดำเนินธุรกิจและชุมชนรอบพื้นที่ธุรกิจมากกว่า 15,000 ชุมชน หรือกว่า 12 ล้านชีวิต ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันทำได้แล้ว 12,000 ชุมชน
2. Planet การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี (Healthy Environment) โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ครอบคลุมตลอดทั้งการดำเนินธุรกิจ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด และลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ ตั้งเป้าลดให้ได้มากกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 33% เมื่อเทียบกับปี 2018 รวมทั้งตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-Neutrality) ภายในปี 2030 และบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2050 ปัจจุบันทำได้แล้ว 33% ของเป้าหมาย
3. Performance การสร้างการเติบโต สร้างอาชีพ และการกระจายความมั่งคั่ง (Economic Prosperity) สู่คู่ค้า ผู้ถือหุ้น ผู้ประกอบการขนาดย่อม พนักงาน และชุมชนมากกว่า 1 ล้านราย ผ่านการเติบโตโดยการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) เป็นหลัก ปัจจุบันทำได้แล้ว 400,000 ราย
ด้วยวิชั่น OR 2030 Goals ที่บอร์ดอนุมัติมาแล้ว ดังนั้นแม้ซีอีโอคนแรกเกษียณอายุการทำงาน และต้องเปลี่ยนผู้นำทัพใหม่ ก็ไม่กระทบกับเป้าหมายองค์กรที่บริหารด้วย Function ไม่ใช่ตัวบุคคล OR ได้วางทิศทางไว้ชัดเจนแล้ว เป็นสิ่งที่ทุกคนจะช่วยกันสานต่อเพื่อให้ OR เป็นองคกรต้นแบบแห่งศตวรรษที่ 21 สร้างการเติบโตแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจับมือไปด้วยกันกับพันธมิตร
ชีวิตหลังเกษียณของ “พี่แดง จิราพร”
ตลอดการทำงาน 35 ปีในกลุ่ม ปตท. และ OR พี่แดง จิราพร บอกไม่เคยประเมินผลงานตัวเอง เพราะตลอดเวลาที่เป็นพนักงาน ปตท. หรือเป็นลูกน้องใคร จะไม่สนใจว่าจะได้รับการประเมินเกรดอะไรในการทำงาน ไม่สนใจว่าจะได้รับมอบหมายให้เลื่อนขั้นในระดับไหน เพราะมีคติการทำงานอย่างเดียว คือ “เป็นลูกจ้างองค์กร ทำเพื่อองค์กรส่วนรวม เมื่อถึงเวลาหัวหน้าจะประเมินเอง”
“ที่ผ่านมาไม่เคยมองเรื่องการทำงานเป็นเรื่องทุกข์ เรื่องยาก หรือลำบาก แต่มองเป็นเรื่องความท้าทายในทุกปัญหาที่เจอ เพราะหากเราปรับ Mindset ได้ก็จะมีความสนุกในการทำงาน”
ถามถึงชีวิตหลังเกษียณในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 สิ่งแรกที่ พี่แดง จิราพร บอกคือจะตื่นนอนอย่างอิสระ ไม่ต้องตื่นตี5 ไม่ต้องอ่านไลน์กรุ๊ปทำงานหลังตื่น รอวันพักมานานแล้ว
นับตั้งแต่ทำงานกับ ปตท. และ OR มา 35 ปี ในทุกตำแหน่งงานเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องรับผิดชอบ ต้องทำให้เต็มที่ บางครั้งลืมดูแลสุขภาพตัวเอง สิ่งแรกที่จะทำ คือ ไปเล่นโยคะ ดูแลต้นไม้
ชีวิตหลังกเกษียณ ไม่ได้สนใจทำธุรกิจเอง เพราะเป็นคนทำกำไร หรือสร้าง wealth ให้ตัวเองไม่เป็น แม้จบบัญชีมา ก็ไม่เคยดูแล wealth ตัวเอง
ตั้งแต่ทำงานบัญชีให้ ปตท. ปิดงบการเงินก็เห็นตัวเลข และไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ถูกห้ามซื้อขายหุ้น แต่ไม่ซื้อหุ้นกลุ่ม ปตท. เพราะแม้ซื้อปกติ ก็เกรงว่าจะถูกตรวจสอบได้ และเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยาก จึงเลือกที่จะไม่ซื้อหุ้นกลุ่ม ปตท. ทั้งหมด และไม่มีเวลาดูแลพอร์ตหุ้น แต่ก็มีการลงทุน ซื้อที่ดิน คอนโด ตามหลักการ passive income แต่ไม่ซื้อสะสม เพราะถือเป็นภาระที่ต้องมาดูแล
หลังเกษียณมีคนมาติดต่อให้ไปเป็นกรรมการบริษัทอยู่บ้าง แต่มีหลักการในการเลือกว่า หากเป็นบริษัทคู่แข่ง OR ทั้งทางตรงและทางอ้อมจะไม่ไปเป็นแน่นอน!
อ่านเพิ่มเติม