HomeBrand Move !!เริ่มเห็นกำไรแล้ว! Robinhood Mart  เก็บ GP 15% ต่อจิ๊กซอว์ Super App ลุยแพลตฟอร์มเรียกรถ-ธุรกิจ EV  

เริ่มเห็นกำไรแล้ว! Robinhood Mart  เก็บ GP 15% ต่อจิ๊กซอว์ Super App ลุยแพลตฟอร์มเรียกรถ-ธุรกิจ EV  

แชร์ :

Robinhood Mart coverจากจุดเริ่มต้นโปรเจกต์ CSR ของธนาคารไทยพาณิชย์ สร้างแพลตฟอร์ม Food Delivery “โรบินฮู้ด” (Robinhood) เพื่อคนตัวเล็ก แก้ pain point ให้ร้านอาหารที่ถูกเรียกเก็บค่าบริการ หรือ GP (Gross Profit) สูง ด้วยจุดยืนชัด ให้ใช้ฟรี ไม่เก็บค่า GP โดยกลุ่ม SCBX ให้เงินสนับสนุน เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในช่วงโควิด เดือนตุลาคม 2563

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เกือบ 2 ปี ภาพรวม Robinhood มีผู้ใช้บริการกว่า 3.2 ล้านคน  มีไรเดอร์กว่า 30,000 คน  มียอดสั่ง 3 ล้านออเดอร์ต่อเดือน และมีร้านค้าในแพลตฟอร์ม 270,000 ร้านค้า

หลังสร้างฐานผู้ใช้งานให้อยู่กับแพลตฟอร์มได้แล้ว Robinhood วางเป้าหมายก้าวสู่ Super App สัญชาติไทย ใช้พลังแพลตฟอร์มต่อยอดสู่บริการใหม่ คือ Robinhood Travel บริการจองที่พักและการท่องเที่ยวผ่านออนไลน์ OTA (Online Travel Agent) ทั้งโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน ทัวร์ รถเช่า และประกันภัยการเดินทาง เริ่มที่ธุรกิจโรงแรมทั่วไทย โดยยังคงจุดยืนเดิมแอพเพื่อคนตัวเล็ก ไม่เก็บค่า GP

บริการ Robinhood Travel เฟสแรกเดือนมีนาคม 2565 ปัจจุบันมีพาร์ทเนอร์โรงแรมระดับ 3-5 ดาว จำนวน 16,000 แห่ง ใน 71 จังหวัด  ยอดจองโรงแรมเฉลี่ย 4,500 บาทต่อคืน เป็นไปตามฐานลูกค้า Robinhood เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง

Robinhood app sep 2022

Robinhood Mart เก็บ GP 15%

การพัฒนาบริการต่อยอดสู่  Super App ของโรบินฮู้ด อยู่บนจุดยืนในการเป็น Pain Solver โฟกัสเพื่อแก้ Pain Point ของคนในสังคมไทย เซอร์วิสล่าสุด  Robinhood Mart  บริการสั่งซื้อสินค้า ของสด ของใช้ จากร้านค้า (Mart Service)

วิธีคิดก็มาจากการเห็น Pain Point การใช้ชีวิตช่วงหน้าฝน น้ำท่วม รถติด ทำให้ผู้บริโภคเดินทางไปซื้อสินค้าลำบาก ฝั่งร้านค้าก็ขายสินค้าไม่ได้ จึงทดลองให้บริการ Robinhood Mart  มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565

คุณสีหนาท ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือ SCBX ผู้พัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์มโรบินฮู้ด กล่าวว่าหลังจากทดลองเปิดบริการ Robinhood Mart  มียอดสั่งซื้อสินค้ากว่า 10,000 ออเดอร์ต่อเดือน ยอดสั่งซื้อต่อออเดอร์เฉลี่ย 280 บาท โดยมีสินค้า 32 กลุ่ม จากพันธมิตรกว่า 4,000 ร้านค้า รวมถึงร้านค้าเอ็กซ์คลูซีฟที่เปิดให้บริการเฉพาะที่ Robinhood Mart  โดยมีกว่า 100 แบรนด์พรีเมี่ยม สินค้าที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก คือ ผักสวนครัว เนื้อสัตว์ และยา

Robinhood Mart app 4 กลุ่มสินค้าหลักบริการ Robinhood Mart  

– ซูเปอร์มาร์เก็ต : วิลล่า มาร์เก็ต, แม็กซ์แวลู, กูร์เมต์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ มาร์เก็ต, เบทาโกร เดลี่  ร้านโชห่วย ร้านค้า ตลาดสดใกล้บ้าน

– บิวตี้ : มีร้าน EVEANDBOY เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ และเป็นครั้งแรกที่อยู่ในแพลตฟอร์ม Mart กลุ่มเครื่องสำอางมีอินไซต์ “ความสวยรอไม่ได้” ลูกค้าจึงมีพฤติกรรมสั่งจากบริการ Mart เพื่อส่งด่วนแบบออนดีมานด์เดลิเวอรี  และเป็นกลุ่มที่มีมาร์จิ้นสูง แบรนด์จึงพร้อมจ่ายค่าบริการ (GP)

– ของตกแต่งบ้าน : มีพันธมิตร HomePro ที่เข้ามาอยู่ในระบบ Mart ครั้งแรกเช่นกัน  กลุ่มนี้ลูกค้ามักสั่งอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้เร่งด่วน เมื่อของเดิมเสีย เช่น ก๊อกน้ำ หลอดไฟ โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางออกไปซื้อ

–  อุปกรณ์ไอที :  มีพาร์เนอร์ Studio 7 ที่เข้ามาใช้ระบบ Mart ครั้งแรก เพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าด่วน หากอุปกรณ์ทำงานเสียหาย เช่น  สายชาร์จแบต เมาส์ คีย์บอร์ด โดยเฉพาะกลุ่มเล่นเกม

– เครื่องเขียน ชุดนักเรียน 

– อาหารสัตว์เลี้ยง

 

บริการ Robinhood Mart ใช้ 4 จุดขายในการทำตลาด  

– ส่งไว ภายใน 30-45 นาที  เมื่อมีออเดอร์เข้ามาก็จะส่งทันทีเหมือนบริการ Food  Delivery  แตกต่างจากบริการอีคอมเมิร์ซที่ต้องรอรอบจัดส่ง

– เก็บค่า GP 15% จากร้านค้าพันธมิตร ถือว่าต่ำสุดในตลาด Quick Commerce ของบริการ Mart อื่นๆ ที่เรียกเก็บ 25-30% เพื่อให้ร้านค้ามีกำไรมากขึ้น และถือเป็นบริการแรกของ Robinhood ที่เก็บค่า GP

– สินค้าพรีเมี่ยม เช่น ของสด เนื้อสัตว์ แบรนด์คอสเมติกส์

– บริการ Call Center 24 ชั่วโมง ช่วยเลือกลูกค้า ไรเดอร์ ร้านค้า ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ

ในช่วงเปิดตัว Robinhood Mart ได้จัดโปรโมชัน “โค้ดส่วนลด 99 บาท เมื่อสั่งสินค้าจาก Robinhood Mart ครั้งแรก” ตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป กรอกโค้ด MART1 ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน – 27 ตุลาคม 2565 พร้อมสิทธิ์ส่งฟรี ในระยะทางไม่เกิน 5 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2565

บริการ Robinhood Mart ยังเข้ามาช่วยให้ “ไรเดอร์” กว่า 30,000 คน มีงานเข้ามามากขึ้น จากปกติบริการ Food Delivery จะมีช่วงเวลาขายดีอยู่ 2 ช่วง คือ มื้อกลางวัน 11.00 – 13.00 น. และมื้อเย็น 17.00 – 19.00 น.

โดยช่วงเวลาที่เหลือนอกจากนั้น หรือที่เรียกว่า off-peak บริการ Robinhood Mart จะเข้ามาสร้างงานให้ไรเดอร์ มีรายได้จากการส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ดึงลูกค้าให้ใช้บริการกับแพลตฟอร์ม เริ่มตั้งแต่ ร้านอาหาร โรงแรม ตามด้วย ร้านค้าต่างๆ

Robinhood Mart app 5

Robinhood Mart เซอร์วิสแรก “กำไร”

หลังจากเปิดบริการ Robinhood Mart  เริ่มในพื้นที่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล เชียงใหม่ ภูเก็ต  โดยเพิ่มไรเดอร์เข้ามาอีก 5,000 คน จากฐานลูกค้า Robinhood ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง  จึงวางเป้าหมายปี 2566 บริการ Robinhood Mart จะมีผู้ประกอบการและแบรนด์เข้าร่วมบนแพลตฟอร์มกว่า 10,000 ราย มียอดขายบนแพลตฟอร์มกว่า 500 ล้านบาท มียอดออเดอร์เฉลี่ย 4,000 ออเดอร์ต่อวัน และมียอดสั่งซื้อต่อออเดอร์โดยเฉลี่ย 300 บาท  สร้างกำไรได้ 50 ล้านบาท

คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่าบริการแรก Food Delivery  ไม่เก็บค่า GP ในส่วนนี้ “ขาดทุน” เพราะทุกออเดอร์ต้อง Subsidize โดยมี SCBX สนับสนุนงบประมาณ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มและฐานลูกค้า เพื่อต่อยอดบริการ Super App ส่วนบริการที่สอง Travel ไม่เก็บค่า GP จากผู้ประกอบการโรงแรมที่พักเช่นกัน แต่ธุรกิจ “เท่าทุน” เพราะใช้แพลตฟอร์มเดิม

ส่วนบริการที่สาม Robinhood Mart เป็นบริการแรกที่เก็บค่า GP ตามแผนธุรกิจในปี 2566 จะเป็นเซอร์วิสแรกที่ทำ “กำไร” ให้กับโรบินฮู้ด  

แต่ภาพรวมทั้งแพลตฟอร์มยัง “ขาดทุน” อยู่  แม้บริการ Food Delivery ยังต้องแบกขาดทุนต่อไป แต่แพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นมาและมีฐานลูกค้าใช้ประจำ คือ สิ่งที่จะสร้างโอกาสหารายได้และกำไรให้ Robinhood ในอนาคต

Robinhood Mart app 2

เดินหน้า Ride hailing – ธุรกิจ EV 

หลังจากเปิดตัวแพลตฟอร์ม Robinhood ครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2563  ถือเป็นช่วง Robinhood 1.0  สร้างแพลตฟอร์ม โดยมี Food Delivery  เป็นบริการสร้างฐานลูกค้า จากนั้นต่อยอดสู่บริการใหม่ๆ  คือ Travel และ Mart  บริการต่อไป คือ Express บริการรับ-ส่งของ เน้นเจาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ต้องการส่งของแบบออนดีมานด์ รวมทั้งกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัทต่างๆ โดยจะเปิดบริการในไตรมาส 4 ปีนี้

จากนั้นจะเข้าสู่ช่วง Robinhood 2.0  ซึ่งกำลังเสนอแผนให้บอร์ด SCBX พิจารณาลงทุน เป็นการเข้าสู่ธุรกิจแพลตฟอร์มเรียกรถ (Ride hailing) เต็มรูปแบบ หลังจากได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกแล้ว โดยจะใช้ชื่อ Robinhood Ride เตรียมเปิดบริการปลายปีนี้ ทั้งรถแท็กซี่และรถยนต์ส่วนบุคคล

ธุรกิจแพลตฟอร์มเรียกรถ เป็นตลาดที่มีโอกาสสูง โดยเฉพาะในประเทศไทย มีผู้ได้รับใบอนุญาต 2 ราย คือ Grab และ Robinhood ในต่างประเทศส่วนใหญ่มี 4 ราย หากรายใหม่จะเข้าสู่ตลาดต้องเริ่มสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ใช้เงินลงทุนหลักพันล้านบาท แต่ Robinhood มีแพลตฟอร์มพร้อมแล้วจึงลงทุนเพิ่มด้านระบบในส่วนของลูกค้าและคนขับหลักร้อยล้านบาท

การลงสนามแพลตฟอร์มเรียกรถ Robinhood เห็น Pain Point เรื่องราคาในตลาดที่ไม่ชัดเจน  จุดนี้จะทำราคาให้เข้าใจง่ายและเป็นมาตรฐาน การแก้ปัญหาคนขับไม่อยากรับลูกค้าระยะทางไกล รวมทั้งปัญหาใหญ่มีรถให้บริการในช่วงเวลาสำคัญ โดยเฉพาะช่วงฝนตก และดูแลเรื่องความปลอดภัย หากสามารถแก้ไขปัญหาสำคัญเหล่านี้ได้ก็เข้าตลาดได้

robinhood ride โรบินฮู้ด

สิ่งที่จะได้เห็นใน Robinhood 2.0 หรือเฟส 2 ในปี 2566 คือ การใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเดิมและฐานลูกค้าที่สร้างขึ้น ในการขยายไปสู่บริการใหม่ๆ ที่จะสร้างรายได้และกำไร บนจุดยืนเดิม “เพื่อช่วยเหลือคนตัวเล็ก”

สเต็ปต่อไปของ Robinhood ที่วางไว้แล้ว คือ การเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ระดับโลก “ธุรกิจของโรบินฮู้ด คือ ล้อ ทั้ง สองล้อ และสี่ล้อ  ดังนั้นในอนาคตคือ EV” 

ปี 2566 ตลาด EV จะเติบโตสูงจากราคารถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ที่ลดลงเรื่อยๆ  หากรถยนต์ราคาเหลือ 9 แสนบาท และมอเตอร์ไซค์เหลือ 5 หมื่นบาท จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้ตลาดแมสเกิดขึ้นทันที Robinhood  มองโอกาสจากการ ปล่อยเช่ารถยนต์อีวี ในกลุ่มผู้ขับที่อยู่ในแพลตฟอร์มเรียกรถ ทั้งของ Robinhood  และแพลตฟอร์มอื่น  รวมทั้งปล่อยเช่ามอเตอร์ไซค์อีวี ในกลุ่มไรเดอร์ ทุกแพลตฟอร์ม ปัจจุบันในประเทศไทยมี ไรเดอร์กว่า 1 แสนคน  และปล่อยเช่ารถยนต์อีวีในกลุ่มคนทั่วไป

แผนธุรกิจ Robinhood 2.0 รวมทั้งธุรกิจ EV ต้องใช้เงินลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มของธุรกิจ EV ทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์  สถานีชาร์จ และแพลตฟอร์ม ตามเป้าหมายปี 2568 อยากได้ 30,000 คัน ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์

ปัจจุบันแม้  Robinhood ยังต้องแบกขาดทุนจากการสร้างแพลตฟอร์ม Food Delivery ไปอีกระยะ แต่บริการใหม่ที่มาต่อยอดจะเริ่มสร้างรายได้และกำไร ทำให้ภาระขาดทุนลดลงเรื่อยๆ  รายได้ที่จะเริ่มเข้ามาหลังจากนี้ คือ โฆษณา การทำธุรกิจสินเชื่อ (Lending) ให้กับไรเดอร์

การเข้าสู่ธุรกิจ Ride hailing และ EV เป็นจุดสำคัญ ที่จะทำให้แพลตฟอร์ม Robinhood  เห็น “กำไร” ได้ในปี 2568  พร้อมก้าวสู่ “Super App สัญชาติไทย” ที่สามารถแข่งขันและเติบโตได้ในระดับภูมิภาค (Regional Player)

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like