หากใครยังจำได้ ตอนปี 2019 – ต้นปี 2020 ภาพของประเทศไทยที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติทำให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นเมืองในฝันของใครหลายคนที่มองหาโอกาสในการเติบโต เช่นเดียวกับ ตลาดรถแท็กซี่ VIP สไตล์อังกฤษของ CABB Bangkok Taxi ผลงานการพัฒนาของบริษัทสัญชาติไทยอย่าง เอเชีย แค็บ (Asia Cabb) ที่หวังเปิดตัวรับกับโอกาสของเมืองไทยในเวลานั้น แต่แล้ว ความฝันก็ดับวูบไปพร้อม ๆ กับการประกาศล็อกดาวน์ประเทศไทยในเดือนเมษายน 2020
สองปีที่ผ่านมา จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นสองปีที่แบรนด์ CABB Bangkok Taxi ต้องเผชิญความท้าทายอย่างมาก แต่นั่นก็ทำให้แบรนด์พบด้วยว่า ตลาดรถแท็กซี่ VIP ในไทยนั้นยังมีความต้องการซ่อนอยู่เช่นกัน โดยคุณศฤงคาร สุทัศน์ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย แค็บ จำกัด นิยามตลาดดังกล่าวว่า เป็นตลาดที่ “คนนั่งไม่ได้จ่าย คนจ่ายไม่ได้นั่ง”
แท็กซี่วีไอพี กับตลาดที่ “คนนั่งไม่ได้จ่าย คนจ่ายไม่ได้นั่ง”
“เราเจอตลาดที่ใหญ่มาก นั่นคือตลาดที่คนเรียกรถไม่ได้เป็นคนใช้บริการ และคนที่นั่งรถเราก็ไม่ได้เป็นคนจ่ายเงิน ยกตัวอย่างเช่น ลูกเรียกรถไปรับพ่อแม่สูงอายุ หรือพ่อแม่เรียกรถให้พี่เลี้ยง นั่งไปรับลูกที่โรงเรียนให้ หรือการเรียกรถเพื่อพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล รวมถึงบริการสำหรับผู้ที่ต้องนั่งรถวีลแชร์ เป็นต้น การที่เขาใช้บริการของเราอย่างการเรียกรถให้พี่เลี้ยงนั่งไปรับลูกที่โรงเรียน มันสะท้อนว่าเขามีความมั่นใจในบริการ – ความปลอดภัยในระดับสูง”
“ข้อดีของรถ CABB คือเราสามารถเรียกใช้บริการได้ทั้งจากแอปพลิเคชัน CABB หรือโทรเข้าคอลล์เซ็นเตอร์ โดยหากเรียกผ่านแอปพลิเคชันจะมีส่วนลดให้ด้วย ซึ่งนับจากเดือนกันยายน 2021 เป็นต้นมา ทางบริษัทเริ่มเห็นตัวเลขการเรียกใช้รถปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ จำนวนลูกค้าประจำของแบรนด์จากการเปิดเผยของผู้บริหาร พบว่ามีมากกว่า 30,000 ราย และบางรายมีการเรียกใช้รถของ CABB มากกว่า 100 เที่ยวต่อเดือน โดยค่าเฉลี่ยของลูกค้าที่เรียกใช้รถอยู่ที่ 3.5 ครั้งต่อเดือน (ค่าบริการเริ่มต้นอยู่ที่ 120 บาท) โดยสถานที่ที่ลูกค้านิยมเรียกให้ไปส่งมากที่สุด 4 อันดับแรกได้แก่
- สนามบินสุวรรณภูมิ
- สนามบินดอนเมือง
- โรงพยาบาลเอกชน
- โรงเรียนนานาชาติ
เริ่ม Q3 สร้างรายได้ผ่านแอปพลิเคชัน
ทั้งนี้ ตัวแอปพลิเคชันมียอดดาวน์โหลด 1.53 แสนครั้ง ทำให้บริษัทมีแผนจะทำรายได้จากตัวแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยมีแผนจะเปิดรับรถประเภทอื่น ๆ เข้ามาให้บริการในแอปพลิเคชันร่วมด้วย
“สำหรับแผนการขยายธุรกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ บริษัทได้จัดสร้างแอปพลิเคชันตัวใหม่ สำหรับใช้บริการรถแท็กซี่วีไอพี CABB และ แท็กซี่พรีเมียมส่วนบุคคล (แท็กซี่ป้ายดำ) เพื่อเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายแก่ผู้โดยสาร อีกทั้งบริษัทยังได้รับการพิจารณารับรองจากกรมการขนส่งทางบกตามกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นความสำเร็จในด้านการขยายการให้บริการสู่กลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น”
จากรถ 400 คัน สู่เป้า 1,200 คันภายในปี 2023
ปัจจุบัน CABB มีรถแท็กซี่ VIP ให้บริการ 400 คันทั่วกรุงเทพและปริมณฑล และมีแผนจะเพิ่มรถเป็น 600 คันภายในสิ้นปีนี้ โดยคุณศฤงคารกล่าวว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนรถ CABB Bangkok Taxi เป็น 1,200 คัน ภายในปี 2024 ด้วย
ส่วนในต่างจังหวัด ตอนนี้มีรถ CABB ให้บริการแล้วในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 12 คัน และอาจขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียง (ภาคใต้) ในเร็ว ๆ นี้
ส่องรายได้ผู้เช่าขับ CABB
อีกหนึ่งข้อมูลที่ทางผู้บริหารเผยก็คือรายได้ของผู้เช่าขับ โดยทาง CABB Bangkok Taxi แบ่งกลุ่มผู้เช่าขับเป็น 3 กลุ่ม และรายได้ของแต่ละกลุ่มมีดังนี้ (รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว)
- กลุ่ม A ทำรายได้ 1,500 บาทขึ้นไปต่อวัน มีประมาณ 10% ของระบบ
- กลุ่ม B ทำรายได้ราว 1,300 – 1,500 บาทต่อวัน
- กลุ่ม C ทำรายได้ราว 900 บาทต่อวัน
คุณศฤงคารกล่าวต่อไปด้วยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณรถที่จะออกให้บริการมากยิ่งขึ้น ทางบริษัทมีแผนในการจัดหาและฝึกอบรมผู้เช่าขับขับรถเพิ่มอีก เพื่อเตรียมพร้อมในการให้บริการที่สอดคล้องต่อความต้องการของลูกค้า พร้อมเผยถึงข้อดีของแพลตฟอร์มที่มีช่องทางหลากหลายในการรับงาน เช่น CABB Application, จุดบริการ CABB Counter Service ตามห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงมีสายด่วนช่วยหาลูกค้า และแนะนำการให้บริการ
เปิดแผนรุกตลาด EV ตั้งเป้าส่งขาย “มาเลย์-อินโด”
นอกจากนี้ ในปี 2023 ที่กำลังจะมาถึง ทางบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการบุกตลาดรถ EV โดยเป็นการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถแท็กซี่เพื่ออนาคต (CABB EV) รวมไปถึงลงนามสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรกับผู้รับจ้างประกอบและซัพพลายเออร์ในการผลิตรถ “CABB EV” หรือ “แท็กซี่วีไอพีพลังงานไฟฟ้า” เพื่อผลิตรถแท็กซี่ไฟฟ้าต้นแบบสัญชาติไทยคันแรก โดยมีเป้าหมายที่จะใช้ภายในประเทศในปี 2566 (ไตรมาส 2) และจำหน่ายในต่างประเทศที่ใช้พวงมาลัยขวา ภายในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งคาดว่าจะมียอดจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 1,000 คันต่อปี
ทั้งนี้ สำหรับแผนดังกล่าว คุณศฤงคารระบุว่า บริษัทจะมีการระดมทุน (Raise Fund) โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำมาลงทุนและพัฒนาด้านรถแท็กซี่ EV และ แท็กซี่ไร้คนขับ (Autonomous driving) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่โลกแห่งอนาคตต่อไป