HomeInsightสรุป ‘โซเชียลเทรนด์’ 8 ประเด็นเสี่ยงดราม่า พร้อมข้อแนะนำรับมือ ‘ทัวร์ลง’      

สรุป ‘โซเชียลเทรนด์’ 8 ประเด็นเสี่ยงดราม่า พร้อมข้อแนะนำรับมือ ‘ทัวร์ลง’      

แชร์ :

social trends


Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

เมื่อ “โซเชียลมีเดีย” หลากหลายแพลตฟอร์มกลายเป็นช่องทางหลักเสพคอนเทนต์ของผู้คนในปัจจุบันแบบทุกที่ทุกเวลา  สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเรื่อง “ดราม่า” ทัวร์ลง ที่เห็นได้บ่อยครั้ง จากมุมมองที่แตกต่างของคนในสังคม จนกลายเป็นยุค  Drama is a new normal

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำรวจเสียงผู้บริโภคในโลกโซเชียลมีเดียของ Wisesight  ล่าสุด คุณพุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท รองผู้อำนวยการฝ่ายการบริการวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) สรุป Social Trends ไว้ 3 เรื่องดังนี้

1. Spectrum of attitude

โซเชียลมีเดียมีผู้ใช้งานจำนวนมากจึงมีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย จึงเห็นประเด็นดราม่า ทัวร์ลง เกิดขึ้นเร็วและบ่อยครั้งในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การศึกษา กีฬา หรือดูได้จากรายการ “โหนกระแส” ที่มีดราม่าให้เสพอยู่บ่อยครั้ง

จากข้อมูลเดือนมกราคม-สิงหาคมปีนี้  มีคนพูดเรื่องดราม่า ทัวร์ลง กว่า 760,000 ข้อความ  มี 187 ล้านเอนเกจเมนต์ แค่ช่วงเวลา 8 เดือน ก็มากกว่าปีก่อนทั้งปี ที่มี 186 ล้านเอนเกจเมนต์  สรุปเรื่องดราม่าได้ 8 ประเด็นหลัก

– Privacy ความเป็นส่วนตัว ประเด็นนี้ดราม่าล่าสุดก็เรื่อง “เปิด-ไม่เปิดหน้าลูก” ของคนดัง ซึ่งเป็นสิทธิของทั้งสองฝ่าย แต่ก็ถูกจับโยงให้เป็นดราม่าขึ้นมา  จึงต้องมาดูว่าบุคคลสาธารณะต้องมีเส้นแบ่งความเป็นส่วนตัวที่เหมาะสม

– Belief ความเชื่อ ความศรัทธา ศาสนา เรื่องราวดราม่าจากการเปิดประเด็นแฉ บุกจับพระของ “หมอปลา” มีอยู่หลายกรณี ที่ผ่านมาไม่ค่อยเห็น เพราะคนทั่วไปไม่ค่อยพูดเรื่องพระ จากความเชื่อทางศาสนา แต่ปีนี้ชาวโซเชียลมีมุมมองว่า “ไม่เชื่อก็ต้องหลบลู่”  ไม่เชื่อต้องลุย ต้องแฉ เปิดโปง จึงเกิดการปะทะกันในเรื่องความเชื่อ

– Social Issue  ประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม ถือเป็นประเด็นใหญ่  อย่างกรณีดราม่าของ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ที่มักเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว กลายเป็นคนดังที่สร้างคาร์บอนฟุตพรินต์มากที่สุดในโลก ทำให้กลุ่มแฟนคลับที่มีจุดยืนในเรื่องสิ่งแวดล้อม มีคำถามว่าควรสนับสนุนศิลปินหรือไม่ จากประเด็นทางสังคม เรื่องความเท่าเทียมต่างๆ

– Life Value  คุณค่าการใช้ชีวิต  การให้ความสำคัญกับเรื่องราวที่มีความแตกต่างกัน เช่น กรณีเปลี่ยน “ไอโฟน” ทุกปีที่ออกรุ่นใหม่  ก็จะมีดราม่าเห็นต่าง จากสินค้าราคาแพง แต่อีกมุมคนจะมองเรื่อง Value ของตัวเองที่มีความสามารถหาซื้อได้ กลายเป็นประเด็นที่เป็นเรื่องส่วนตัวและมุมมองของแต่ละคน ที่ให้คุณค่าในเรื่องที่แตกต่างกัน

– Gender เพศ  ปัจจุบันสังคมเปิดกว้างเรื่อง LGBTQ  “ทุกเพศเท่าเทียมกัน” แต่ก็ยังมีดราม่าให้เห็นเรื่อยๆ อย่างกรณี “เขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ”  ที่มีจุดยืนเรื่องความเท่าเทียม การแต่งกายที่ชัดเจน เป็นคนเปิดกว้างและรับฟังความเห็นแตกต่าง ก็ยังมีคนคอมเมนต์เชิงลบ  สังคมจึงยังต้องหาเส้นแบ่งที่เหมาะสมของ “ความหลากหลายทางเพศ”

– Racism เชื้อชาติ  ในยุคนี้น่าจะเป็นสิ่งที่เปิดกว้างยอมรับ แต่ก็มีดราม่ากรณีภาพยนตร์ The Little Mermaid ของดิสนีย์ เลือกนักร้องผิวสี มารับบทแอเรียล  แต่มีมุมมองเรื่องไม่เคารพต้นฉบับ  กลายเป็นประเด็นว่าคนผิวขาวผิดตรงไหน วันนี้การอยากขาวถูกมองว่าเป็นการให้คุณค่าความสวยแบบเดิมๆ  จึงเป็นอีกประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน

– Rights  สิทธิ ปัจจุบันเราเห็นการเรียกร้องสิทธิของวัยรุ่นค่อนข้างเยอะ ประเด็นล่าสุด สิทธิไว้ผมยาวของนักเรียน, การแต่งเครื่องแบบ และอีกหลายเรื่อง คำถามคือ  สิทธิเหล่านี้เราเรียกร้องได้ถึงไหน ในปีที่ผ่านๆ มาเห็นการเรียกร้องสิทธิค่อนข้างเยอะ แต่ปีนี้จะเห็นการฟ้องกลับจากการใช้สิทธิต่างๆ เช่นกัน และเป็นคดีฟ้องชนะด้วย คำถามวันนี้คือ  “สิทธิที่เราเรียกร้องต่างๆ มันไปละเมิดสิทธิคนอื่นหรือไม่และเส้นแบ่งที่ถูกต้องอยู่ตรงไหน”

– Generation Gap  ความแตกต่างทางความคิดระหว่างวัย ถือเป็นอีกเรื่องใหญ่ ปีก่อนเห็นได้ว่า Generation Gap ถูกแบ่งด้วยทัศนคติทางการเมือง คนที่เป็นวัยรุ่นหรือหัวก้าวหน้ากับกลุ่มอนุรักษ์นิยม (Conservative) จะมีความเห็นแตกต่างกัน กลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นหัวก้าวหน้าก็จะสนับสนุนวัยรุ่น อนาคตใหม่ของประเทศให้ลุยเต็มที่

แต่ปีนี้กลุ่มผู้ใหญ่หัวก้าวหน้าที่เคยเชียร์ เริ่มมีเสียงพูดถึง  “นักเอดดุเขต 4 โมงเย็น”  มาจากคำว่า Educate  คือ คนที่ศึกษาเรื่องบางเรื่อง เช่น สิทธิมนุษยชน การเมือง พยายามไปสอนคนอื่น แต่อาจล้ำเส้นไป คือไปแตะเรื่องส่วนบุคคล สิทธิ จึงถูกเรียกว่าเป็น “นักเอดดุเขต”  ส่วนที่มาของ “4 โมงเย็น” คือเป็นเวลาเลิกเรียน เป็นคำที่หลายคนใช้เรียก “น้องๆ นักเรียนที่เพิ่งเรียนรู้ ความรู้ใหม่ๆ และพยายามมาให้ความรู้คนอื่น”

ตอนนี้จึงมีเสียงออกมาว่า “เด็กสมัยนี้ มีความรู้แต่ไม่มีมารยาท”  ถือเป็น Generation Gap ที่ไม่เกี่ยวกับทัศคติทางการเมืองเหมือนปีก่อน เพราะเป็นเสียงที่ออกมาจากฝั่งหัวก้าวหน้าเหมือนกัน

wisesight social trends

ดังนั้นการพูดถึงประเด็นเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์หรือกระทั่งสื่อเอง เป็นเรื่องเสี่ยง “ดราม่า”  ต้องระมัดระวังหากพูดถึงก็ต้องดูลานจอดรถทัวร์ด้วยว่ากว้างพอหรือยัง

ปัจจุบันประเด็น “ดราม่า” ในประเทศไทยค่อนข้างรุนแรง หากแบรนด์ต่างๆ เจอกับดราม่า มีข้อแนะนำสำหรับการรับมือ 3 เรื่อง

1. Principles หลักการของแบรนด์คืออะไร กำลังทำเพื่ออะไร สื่อสารกับใคร  และสื่อสารประเด็นไหน ทำให้ถูกต้องตามหลักการ

2. Humbleness มีความอ่อนน้อม ทำอย่างจริงใจ รับรู้อยู่เสมอว่าสิ่งที่เราทำอาจไม่ถูกต้องเสมอไป

3. Open-mindedness เปิดกว้าง เปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ๆ เพราะความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

โซเชียลเทรนด์ เรื่องทัศนคติความแตกต่างหลากหลาย จนกลายเป็นประเด็นดราม่า เป็นสิ่งที่สังคมต้องมีกระบวนหารือกันว่าสุดท้ายแล้วเราจะให้คุณค่าและยอมรับที่เส้นแบ่งแบบไหน ที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ถือเป็นปรากฏการณ์ปกติ เมื่อโลกกำลังมีความรู้ใหม่ๆ  ดังนั้นความรู้เก่ากับความรู้ใหม่จึงต้องมาหาเส้นแบ่งการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม

2. The norm is shift 

ปัจจุบันมุมมองของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ให้ความสำคัญกับ “จุดยืน” ของแบรนด์ที่มีต่อสังคม และต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดมาตรฐานใหม่ๆ  ไม่ใช่แค่ทำแคมเปญหรือสร้างการรับรู้ เพื่อเกาะกระแสตามเทรนด์เท่านั้น อย่างช่วง Pride Month  ปีนี้ ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคสูงมาก มีหลายแบรนด์เกาะกระแสเปลี่ยนโลโก้สีรุ้ง แต่ก็มีเสียงชาวโชเชียล บอกว่า แบรนด์ต้องจริงจังและมุ่งมั่นมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่จัดแคมเปญ  หรือกรณีพรรคการเมืองเปลี่ยนโลโก้สีรุ้ง แต่ไม่ได้ผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียม ก็มีดราม่าทัวร์ลง

การเกาะเทรนด์นี้แนะนำว่าแบรนด์ต้อง Sincerity จริงใจในสิ่งที่ทำ ไม่ทำแคมเปญเกาะกระแสชั่วครั้งชั่วคราว และ Consistency ทำอย่างสม่ำเสมอ และเข้าใจว่าเป้าหมายสุดท้ายคืออะไร ผู้บริโภคมุ่งหวังอะไรกับสิ่งที่แบรนด์ทำอยู่

3. Short, Fast, Repeat  

เทรนด์ “วิดีโอสั้น” ยังคงเป็นกระแสแรง ที่ขับเคลื่อนโดยแพลตฟอร์ม TikTok  ที่มีทั้ง  Viral และ Drama ซึ่งเป็นเรื่องใกล้เคียงกัน  หากเป็นเรื่องเชิงบวก เรียก “ไวรัล” แต่หากเป็นเรื่องเชิงลบ เรียก “ดราม่า”

ปีนี้ทั้งกระแสไวรัลและดราม่า เกิดขึ้นเฉพาะแพลตฟอร์ม และเป็นประเด็นซ้ำๆ เรื่องเดิม ไม่มีอินไซต์ใหม่ให้วิเคราะห์และถอดบทเรียน  ดังนั้นแบรนด์ที่มีหลักการ เรียนรู้การเกาะกระแสไวรัลและรับมือดราม่าอยู่แล้ว สามารถใช้หลักการเดิมได้ในการแก้ไขสถานการณ์

ยุคนี้เป็น Fast & Furious Consumer เทรนด์มาเร็วไปไว แบรนด์ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าจะเล่นกับกระแสไหน เพราะเป็นยุคที่ไม่สามารถตามเทรนด์ได้ทั้งหมดอีกต่อไป

wisesight tor

คุณต่อ พุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท


แชร์ :

You may also like