กลุ่มอมรินทร์พริ้นติ้งฯ เจ้าของธุรกิจสื่อและคอนเทนต์ รวมทั้งทีวีดิจิทัลช่อง “อมรินทร์ทีวี” ปัจจุบันมีถือหุ้นใหญ่ คือบริษัท วัฒนภักดี จำกัด สัดส่วน 60.35% ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของตระกูลสิริวัฒนภักดี เจ้าของอาณาจักร “ไทยเบฟ” โดยมีกลุ่มผู้ก่อตั้งตระกูล “อุทกะพันธุ์” ถือหุ้นรวมกว่า 21.66% เป็นผู้บริหารธุรกิจ
ล่าสุดกลุ่มอมรินทร์ ได้เข้าลงทุนใน บริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด เจ้าของเว็บไซต์และแพลตฟอร์มออนไลน์ Dek-D โดยเป็นการเข้าลงทุนในหุ้นสามัญเพิ่มทุนและหุ้นสามัญเดิมของ Dek-D สัดส่วน 51% รวมมูลค่า 204 ล้านบาท
Dek-D ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับการศึกษา ธุรกิจให้บริการคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ และธุรกิจโฆษณาผ่านเว็บไซต์หลัก คือ www.dek-d.com ที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 23 ปี
คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าการลงทุนใน Dek-D ที่มีประสบการณ์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และธุรกิจคอนเทนต์ รวมถึงมีฐานลูกค้าที่ชัดเจนในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น สามารถนำมาต่อยอดกับธุรกิจของกลุ่มอมรินทร์ได้เป็นอย่างดี
การลงทุนใน Dek-D แบ่งเป็น 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 มาจาก 1.ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 1,111 หุ้น หรือ 10% ของหุ้นทั้งหมดหลังเพิ่มทุน 2.ซื้อหุ้นสามัญเดิม (จากผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นเดิม) จำนวน 1,678 หุ้น หรือ 15.10% ของหุ้นทั้งหมดหลังเพิ่มทุน รวมสัดส่วน 25.1% โดยเข้าลงทุนในช่วงไตรมา 4 ปี 2565
การลงทุนครั้งที่ 2 มาจากซื้อหุ้นสามัญเดิม 2,878 หุ้น คิดเป็น สัดส่วน 25.9% เข้าลงทุนในช่วงเดือนมิถุนายน 2567
โดยกลุ่มผู้ขายหุ้นสามัญเดิมของ Dek-D ให้กับ “อมรินทร์” คือกลุ่มผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นเดิม 4 ราย คือ คุณวโรรส โรจนะ คุณณปสก สันติสุนทรกูล คุณสรวงศ์ ดาราราช และ Charity Private Limited บริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศสิงคโปร์
Dek-D เป็นเว็บไซต์รุ่นบุกเบิกที่ได้รับความนิยมมาต่อเนื่อง นำเสนอเรื่องราวสำหรับเด็กและวัยรุ่น ก่อตั้งในปี 2542 ในยุคเดียวกับเว็บไซต์ Sanook Kapook Hansa จากการเข้าซื้อหุ้น 51% ของกลุ่มอมรินทร์ ที่มูลค่า 204 ล้านบาท ทำให้มูลค่ารวมของ Dek-D อยู่ที่ 400 ล้านบาท
ปัจจุบัน Dek-D ดำเนินธุรกิจ 1. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น จัดอีเวนต์ การจัดสอบในสนามสอบจำลองและออนไลน์ รวมถึงการขายคอร์สติวต่างๆ 2. ธุรกิจให้บริการคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น 3. ธุรกิจโฆษณา
ผลประกอบการของ Dek-D ภายใต้บริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ ย้อนหลัง 5 ปี ดังนี้
– ปี 2560 รายได้ 121 ล้านบาท กำไร 11 ล้านบาท
– ปี 2561 รายได้ 114 ล้านบาท ขาดทุน 8 ล้านบาท
– ปี 2562 รายได้ 125 ล้านบาท ขาดทุน 14 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้ 154 ล้านบาท กำไร 3 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 191 ล้านบาท ขาดทุน 2 ล้านบาท
การเข้าซื้อหุ้น Dek-D ของกลุ่มอมรินทร์ ใช้ บริษัทย่อย “อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์” เข้าไปถือหุ้น เพื่อขยายฐานกลุ่มเด็กและวัยรุ่น และต่อยอดกับธุรกิจเดิม ที่ดูแลการจัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ ร้านค้าปลีก “นายอินทร์” จำนวน 131 สาขา (ณ สิ้นปี 2564) แอป Naiin รวมทั้งกลุ่มนิตยสาร 7 หัว อาทิ แพรว สุดสัปดาห์ ชีวจิต National Geographic และธุรกิจสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์จำนวน 12 สำนักพิมพ์
ปัจจุบันมีสำนักพิมพ์ที่ทำตลาดในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอยู่แล้ว อย่าง สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน วรรณกรรมเยาวชนไทยและแปลจากทั่วโลก สำนักพิมพ์สปริงบุ๊กส์ หนังสือความเรียงและจิตวิทยาสำหรับวัยรุ่น สำนักพิมพ์อมรินทร์คิดส์ หนังสือสำหรับเด็กและคู่มือพ่อแม่
นอกจากนี้ยังมีช่องทางจัดจำหน่ายหนังสือแบบเรียนระดับประถมศึกษา ผ่านอีคอมเมิร์ซ เว็บไซต์ www.naiin.com และ แอป naiin และเว็บไซต์ www.primeskill.co แพลตฟอร์ม คอร์สเรียนออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญ เป็นศูนย์รวมความรู้เพื่อเสริมทักษะทางอาชีพ การทำงาน ภาษา และการพัฒนาตนเอง
ผลประกอบการกลุ่มอมรินทร์ฯ ย้อนหลัง 5 ปี สรุปได้ดังนี้
– ปี 2561 รายได้ 3,526 ล้านบาท กำไรสุทธิ 172 ล้านบาท
– ปี 2562 รายได้ 3,268 ล้านบาท กำไรสุทธิ 167 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้ 2,937 ล้านบาท กำไรสุทธิ 170 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 2,960 ล้านบาท กำไรสุทธิ 313 ล้านบาท
– ปี 2565 (6เดือน) รายได้ 1,963 ล้านบาท กำไรสุทธิ 232 ล้านบาท