หลังได้กรรมกรข่าว “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” มาประจำหน้าจอ “ช่อง 3” ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ดันเรตติ้งรายการข่าวขยับขึ้นยกแผง รายได้โฆษณากลับมาอู้ฟู่อีกครั้ง เรียกว่าเติบโตทุกไตรมาส ปิดปี 2564 “บีอีซี เวิลด์” พลิกจากขาดทุน กลับมา “กำไร” 761 ล้านบาท ในรอบ 3 ปี
แม้ตัวเลขรายได้โฆษณาไตรมาส 2 ปีนี้ ต่อเนื่องไตรมาส 3 มีแนวโน้ม “ย่อลง” จากสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว ผู้ลงโฆษณายังชะลอใช้เม็ดเงิน ช่อง 3 จึงต้องปรับกลยุทธ์ใช้ “ละครรีรัน” มาออนแอร์ช่วงละคร 19.00 น. และ 20.30 น. อยู่หลายเรื่อง จากช่วงโควิดถ่ายละครลำบากและผลิตได้ช้ากว่ากำหนด แม้ช่วยให้ต้นทุนลดลง แต่รายได้ลดลงไปด้วย เพราะละครรีรันราคาโฆษณาต่ำกว่าเฟิร์สรัน
แต่ก็มีรายการที่เด่นชัดว่าไปได้ดีทั้งเรตติ้งและรายได้โฆษณา คือ รายการในกลุ่มข่าวแทบทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเล่าเช้านี้, ข่าวเที่ยง, โหนกระแส, เรื่องเด่นเย็นนี้
“รายการข่าวเป็นพระเอกของ ช่อง 3 รายได้โฆษณาเติบโตชัดเจนตั้งแต่ปีก่อน” คุณสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 3 กล่าว
ปีหน้าจ่อขึ้นค่าโฆษณารายการข่าว
ทิศทางรายการข่าวช่อง 3 เรียกว่าท็อปฟอร์ม หลังคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา กลับมาจัด 2 รายการ คือ เรื่องเล่าเช้านี้ จันทร์-ศุกร์ เวลา 6.00-8.20 น. และเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.30-12.15 น. รวม 7 วันรวด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 นอกจากนี้ยังมี “หนุ่ม กรรชัย” ช่วยดันเรตติ้งข่าวเที่ยงและ “โหนกระแส”
ช่วงเดือนเมษายน 2565 ช่อง 3 ได้ขยายเวลารายการข่าววันเสาร์-อาทิตย์ 3 รายการ เนื่องจากมีอัตราการใช้เวลาโฆษณา (utilization rate) เพิ่มขึ้น คือ รายการขันข่าวเช้าตรู่ เสาร์-อาทิตย์ เวลา 6.00-7.00 น. เพิ่มขึ้น 25-30 นาทีต่อวัน (ราคาโฆณา 120,000 บาท/นาที) รายการเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.15-12.15 น. เพิ่มขึ้น 15 นาทีต่อวัน (ราคาโฆษณา 290,000 บาท/นาที) และรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ เสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.30-18.20 น. เพิ่มขึ้น 30 นาทีต่อวัน (ราคาโฆษณา 300,000 บาท/นาที)
แนวโน้มรายการข่าวครึ่งปีหลัง 2565 ยังมี Momentum ที่ดี “ทุกวันนี้รายการข่าวเด่นๆ ทั้งเรื่องเล่า,โหนกระแส ยังมีอัตราการใช้เวลาโฆษณาเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80% หากกระแสยังดีต่อเนื่องปีหน้า มีโอกาสปรับขึ้นค่าโฆษณาได้”
ก่อนยุคทีวีดิจิทัล รายการข่าวช่อง 3 เคยขายโฆษณาได้ในราคาแพง แต่เมื่อมีช่องข่าวมากขึ้น ก็มีคู่แข่งมากขึ้น แต่หากรายการข่าวยังมีเรตติ้งดี จากผู้ชมชื่นชอบผู้ดำเนินรายการก็จะติดตามต่อเนื่อง เรตติ้งจึงไม่เปลี่ยนแปลงเหมือนละคร ดังนั้นแม้มีรายการข่าวจำนวนมาก ก็มีโอกาสขยับราคาโฆษณาได้ เพราะมีดีมานด์อยู่ในตลาด
รายการข่าวจึงเป็นคอนเทนต์สำคัญที่จะเพิ่มรายได้โฆษณาให้ ช่อง 3
ปี 2563 ช่อง 3 มีรายได้จากรายการข่าว 951 ล้านบาท สัดส่วน 20% ของรายได้โฆษณาช่อง 3 หลังจากคุณสรยุทธ คืนจอกลับมาจัด 2 รายการ ปี 2564 สัดส่วนรายได้รายการข่าวขยับขึ้นมาที่ 27% หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 1,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% ช่วงครึ่งปีแรก 2565 สัดส่วนรายได้รายการข่าวอยู่ที่ 30%
ในช่วงที่รายการข่าวทำรายได้สูงสุดให้ช่อง 3 เรื่องเล่าเช้านี้ มีเวลาออกอากาศ 3 ชั่วโมงกว่า ปัจจุบันออกอากาศอยู่ที่ 2.20 ชั่วโมง รายการข่าวจึงยังมีโอกาสที่จะทำรายได้เพิ่มทั้งการขยายเวลาและขยับขึ้นค่าโฆษณา ที่ผ่านมาทั้ง 2 รายการข่าวที่คุณสรยุทธ ทำอยู่สามารถขายเวลาโฆษณาได้เพิ่ม 40-50%
ไตรมาส 4 ปีนี้นอกจาก “พระเอก” รายการข่าวแล้ว ช่อง 3 ได้ส่งละครใหม่ออนแอร์ตั้งแต่เดือนตุลาคม คือ ลายกินรี, รากแก้ว และสายลับลิปกลอส คาดว่าจะเห็นรายได้โฆษณามากขึ้น ปัจจุบันรายได้โฆษณาทีวี มาจาก ละคร 55% ข่าว 30% วาไรตี้และอื่นๆ 15%
มุ่งสู่ผู้นำบริษัทผลิตคอนเทนต์สร้างรายได้หลายทาง
ครึ่งปีแรกรายได้ช่อง 3 มีรายได้ 2,614 ล้านบาท มาจากโฆษณาทีวี 88% ที่เหลืออีก 12% มาจากดิจิทัลแพลตฟอร์ม และการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในต่างประเทศ ปัจจุบันจำหน่ายไปแล้ว 25 ประเทศ
ภายใต้วิชั่น “ผู้นำบริษัทผลิตคอนเทนต์” ที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2563 วันนี้ช่อง 3 จึงไม่ได้เป็นแต่สถานีทีวีอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ใช้การผลิตคอนเทนต์เป็นตัวนำ ด้วยกลยุทธ์ Single Content Multiple Platform คือการทำคอนเทนต์ 1 ครั้ง ที่มีต้นทุนครั้งเดียว แต่เผยแพร่ได้หลายช่องทาง และสร้างรายได้หลายครั้ง
ใน 5 ปีจากนี้ หรือในปี 2570 ช่อง 3 วางสัดส่วนรายได้โฆษณาทีวี 50% และรายได้อื่นๆ (Non TV) 50%
ธุรกิจในฝั่ง Non TV คือ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ทั้งที่ช่อง 3 เป็นเจ้าของ คือ CH 3 Plus แพลตฟอร์ม OTT ของพันธมิตร เช่น Netflix VIU WeTV การขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในต่างประเทศ
ปีนี้ได้ขยายธุรกิจผลิตภาพยนตร์, ค่ายเพลง มีศิลปินเบอร์แรก คือ “แต้ว ณฐพร เตมีรักษ์” ต่อไปจะทำตลาดขายลิขสิทธิ์เพลงเพิ่มขึ้น จากเพลงละคร ที่ช่อง 3 ผลิตปีละ 30 เรื่อง
อีกธุรกิจที่ลงทุนเพิ่มในปีนี้ คือ “บีอีซี สตูดิโอ” (BEC Studios) ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ละครให้ช่อง 3 (Internal Production) เปรียบเป็นผู้จัดละครอีกราย และเป็นครั้งแรกที่ช่อง 3 ตั้ง หน่วยงานภายในขึ้นมาผลิตละครเอง มีเป้าหมายทำตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ
ธุรกิจที่เตรียมขยายเพิ่ม คือ Artist Management ทำหน้าที่ดูแลศิลปิน ทั้งงานแสดง อีเวนต์ โชว์ต่างประเทศ พรีเซ็นเตอร์ รวมทั้งการทำตลาด Integrated Marketing Communication (IMC) ร่วมกับสปอนเซอร์เพื่อสื่อสารแบรนด์ผ่านคอนเทนต์ละคร เช่น ละครเกมรักทรยศ รีเมคจากเรื่อง Doctor Foster ของ BBC Studios และ The World of the Married เวอร์ชั่นเกาหลี เรื่องนี้จะมีสินค้า Branded Content ไปกับเนื้อเรื่อง 3-4 แบรนด์ เป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว อย่าง มือถือ รถยนต์ เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม
การทำ IMC เข้าไปในละคร ทำให้มีรายได้จากสปอนเซอร์เพิ่มขึ้น นอกจากการขายสปอตโฆษณานาทีละ 4 แสนบาท เป็นสิ่งที่สปอนเซอร์สนใจเพราะสินค้าอยู่ในละคร สามารถทำกิจกรรมโปรโมทร่วมกันได้ในช่วงที่ละครออนแอร์ เช่น การเปิดตัวรถยนต์ หรือสินค้าใหม่
“วิสัยทัศน์ของช่อง 3 ชัดเจน ว่าต้องการเป็นผู้นำ Content Company ไม่ว่าจะอยู่ในแพลตฟอร์มใดก็ตาม เราไม่ใช่ TV Company อีกต่อไป เป็นภาพที่เราต้องการเปลี่ยน ปีนี้จึงเป็นเรื่องเตรียมการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ตามแผน 5 ปีที่วางไว้ ถามว่าช่อง 3 จะกลับไปทำกำไรได้เหมือนในช่วงสูงสุดที่ 5,000 ล้านได้ไหม หากเราทำงานใหม่ๆ สร้างช่องทางหารายได้นอกจากโฆษณาทีวี ในฐานะบริษัทผลิตคอนเทนต์ได้สำเร็จ ก็มีโอกาส”
อ่านเพิ่มเติม
- ช่อง 3 ดัน Soft Power ไทยโตตลาดโลก เปิดตัว BEC Studios ต่อยอดคอนเทนต์ขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศ
- โฆษณาแน่น! ‘ช่อง 3’ ขยายเวลารายการข่าว ประเดิมเสาร์-อาทิตย์ โบรกฯคาดปีนี้ฟาดกำไร 1,000 ล้าน