“ทำไมไทยต้องมีแรงงานดิจิทัลเพิ่ม” คำตอบนี้หลายคนที่มีตำแหน่งในหน่วยงานภาครัฐอาจเคยตอบกันมาแล้วมากมาย แต่ในมุมของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ก็มีคำตอบที่น่าสนใจมาบอกกล่าวเช่นกัน โดยในมุมของ Google ประเทศไทย ได้มีการอ้างอิงผลการสำรวจ e-Conomy SEA Report ที่ Google จัดทำร่วมกับ Temasek และ Bain & Company พบว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งดิจิทัล” พร้อมคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคจะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2030 ส่วนไทยนั้น คาดว่าในปี 2025 มูลค่ารวมในเศรษฐกิจดิจิทัล (GMV) ก็มีโอกาสแตะ 57,000 ล้านเหรียญสหรัฐด้วย
แต่ตัวเลขที่กล่าวมาข้างต้นนั้นใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้เอง เพราะสิ่งที่เป็นความท้าทายของประเทศไทยที่ผลสำรวจจำนวนมากชี้ตรงกันก็คือ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลนั่นเอง
หนึ่งในรายงานที่ชี้ให้เห็นว่า ทักษะด้านดิจิทัลของแรงงานคืออุปสรรคสำคัญ คือรายงาน Future of Jobs Report 2020 จาก World Economic Forum ที่ระบุว่า มีแรงงานไทยเพียง 55% ที่มีความรู้ด้านทักษะดิจิทัลสำหรับการทำงานในอนาคต ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต่างมีทักษะในจุดนี้เหนือกว่า (77%, 66% และ 61% ตามลำดับ)
แต่ถ้าไทยมีแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะคว้าโอกาสจากเศรษฐกิจดิจิทัลก็มีความเป็นไปได้สูงขึ้นด้วย โดยข้อมูลจาก AlphaBeta ระบุว่า การเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ถึง 79,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.5 ล้านล้านบาทภายในปี 2573
คอร์สแบบไหนตรงใจภาคธุรกิจ
แน่นอนว่า เราได้เห็นหน่วยงานภาครัฐของไทยพยายามจัดคอร์สอบรมเพื่อเพิ่มทักษะดิจิทัลอยู่มากมาย แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า โลกทุกวันนี้ไร้พรมแดน และคอร์สที่จะได้รับการยอมรับในวงกว้าง หรือในระดับสากลอาจต้องอาศัยบุคลากรที่มีประสบการณ์ตรง รวมถึงมีใบรับรองที่ได้มาตรฐาน ซึ่งนั่นทำให้ Google ประเทศไทย ส่งอีกหนึ่งโครงการอบรมในชื่อ Samart Skills ใน 6 สาขาอาชีพมาให้คนไทยได้เข้าไปเรียนบนแพลตฟอร์ม Coursera โดยผู้เรียนที่สอบผ่านจะได้รับ Google Career Certificates และสามารถนำเอกสารนี้ไปใช้สมัครงานได้ทั่วโลก
6 คอร์สใน Samart Skills มีอะไรบ้าง และแตกต่างอย่างไร
สำหรับคอร์สที่เปิดตัวใน Samart Skills ประกอบด้วย
- คอร์สการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)
- การตลาดดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ (Digital Marketing & E-commerce)
- IT Support
- การจัดการโครงการ (Project Management)
- การออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน (UX Design)
- การประมวลผลข้อมูลแบบคลาวด์ (Google Cloud Computing Foundation)
สำหรับผู้ที่สนใจทั้ง 6 คอร์สใน Samart Skills นั้น ทางผู้บริหาร Google ประเทศไทยอย่างคุณไมค์ จิตติวาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดด้านแบรนด์ของ Google ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า ได้มีการปรับเนื้อหาให้เป็นภาษาไทยโดย Skooldio และแต่ละคอร์ส อาจใช้เวลาในการเรียนแตกต่างกัน ระหว่าง 3 – 6 เดือน ซึ่งไทยไม่ใช่ประเทศแรกของภูมิภาคที่เปิดตัวคอร์สในลักษณะดังกล่าว แต่เคยมีการเปิดตัวไปแล้วในมาเลเซีย และอินโดนีเซียแล้วเช่นกัน
ทั้งนี้ ความพิเศษของโครงการ Samart Skills ในไทยคือจะมีการมอบทุนการศึกษาจำนวน 22,000 ทุนให้กับผู้ที่สนใจ โดยปัจจุบันมีการแจกไปแล้วประมาณ 7,000 ทุนให้กับกลุ่มนักศึกษา (แต่บุคคลทั่วไปที่มีศักยภาพทางการเงิน สามารถเข้าไปลงทะเบียนเรียนเองได้ โดยทาง Google บอกว่า อาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์ม Coursera รวมถึงมีการทดสอบความสามารถก่อนจบด้วย ผู้เรียนที่สอบผ่านเท่านั้นจึงจะได้รับ Google Career Certificates)
นอกจากนั้น ทาง Google ประเทศไทยยังได้จับมือกับบริษัทต่าง ๆ กว่า 30 แห่ง เช่น ธนาคารกสิกรไทย, เอไอเอส, ทรู, ดีแทค, เซ็นทรัลรีเทล, บลูบิค, ซัมซุง, เอสซีจี, พฤกษา, ปตท., เคทีซี, GroupM, บางจาก, เดนท์สุ, MFEC, Pomelo ฯลฯ เป็นพันธมิตรผู้ว่าจ้าง โดยบริษัทเหล่านี้ระบุว่าจะให้ความสนใจ และจ้างงานคนที่จบจากหลักสูตรดังกล่าวด้วย
ด้านคุณศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย Country Marketing Manager, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “การมอบทุนแบบให้เปล่าในโครงการ Samart Skills มีทั้งกลุ่มนักเรียนระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่สนใจ โดย Google จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันการอาชีวศึกษากว่า 100 แห่ง รวมทั้งพันธมิตรองค์กรธุรกิจชั้นนำจากภาคเอกชน ได้แก่ เอไอเอส และ ทรู คอร์ปอเรชั่น ในการมอบทุนการศึกษาจำนวนดังกล่าว”
“นอกจากนี้ เรายังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการนำหลักสูตรพื้นฐานการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) ของ Google (Google Cloud Computing Foundations) ไปให้นักศึกษาได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถทางเทคนิคในด้านการประมวลผลคลาวด์ โดยนักศึกษาที่เข้าเรียนในหลักสูตรนี้จะได้รับป้ายรับรองแบบดิจิทัล (skills badge) ด้วย”
คุณศารณีย์ยังกล่าวด้วยว่า 75% ของผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากคอร์สเหล่านี้ในสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่การงานที่ดีขึ้น เช่น ได้งานใหม่ หรือได้รับการเลื่อนตำแหน่งภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากได้รับ Certificate
สำหรับประเทศไทย น่าสนใจว่า การเปิดคอร์สด้านทักษะดิจิทัลอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีนี้ แสดงให้เห็นว่า Google น่าจะมองเห็นแล้วว่า การจะสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโตในภูมิภาคนี้ ยังมีอะไรอีกมากที่บริษัทเทคโนโลยีต้องเข้ามาช่วย ส่วนการมีทักษะดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นและตรงจุดของคนไทยจะทำให้ตัวเลข GMV 57,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 เป็นจริงขึ้นมาได้หรือไม่ สุดท้ายแล้ว ก็อาจต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์