หัวเว่ย (Huawei) เปิดงานประชุม Global Mobile Broadband Forum (MBBF) ครั้งที่ 13 โดยคุณเคน หู ประธานกรรมการบริหารแบบหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ยกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ที่พบว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น น้ำมันและก๊าซ การผลิต และการขนส่ง และสามารถสร้างรายได้ให้โอเปอเรเตอร์กว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐในปีเดียว ในขณะเดียวกันก็มีการยกเคสของประเทศไทยอย่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล – มหาวิทยาลัยมหิดลในการพัฒนาระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะเป็นกรณีศึกษาของเวทีการประชุมดังกล่าวด้วย
นอกจากเรื่องของตัวเลขรายได้แล้ว สิ่งที่มีการเปิดเผยในเวทีดังกล่าวมีตั้งแต่เรื่องของการเติบโตของเครือข่าย 5G ที่ ข้อมูลเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ระบุว่า มีผู้ให้บริการเครือข่ายมากกว่า 230 รายทั่วโลกได้เปิดตัวบริการ 5G เชิงพาณิชย์แล้วเรียบร้อย และมีตัวเลขของสถานีฐาน 5G รวมกันมากกว่า 3 ล้านแห่ง และให้บริการสมาชิกมากกว่า 700 ล้านรายทั่วโลก
5G พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน
สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม การเปิดบริการ 5G ที่แพร่หลายมากขึ้น ได้ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่าปริมาณการรับส่งวิดีโอความละเอียดสูงเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งความสามารถของ 5G ที่มีความหน่วงต่ำทำให้ปริมาณการดูข้อมูลโดยเฉลี่ยต่อผู้ใช้ (DOU) เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า และเพิ่มอัตราเฉลี่ยค่าบริการต่อผู้ใช้งาน (ARPU) ขึ้น 20%-40% ส่งผลให้รายได้ด้านบริการเชื่อมต่อของผู้ให้บริการเครือข่ายเติบโตขึ้นด้วยอีกทางหนึ่ง
จีนสร้างรายได้จาก 5G กว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ
ข้อมูลจากหัวเว่ยระบุด้วยว่า ในปี พ.ศ. 2564 ผู้ให้บริการเครือข่ายของจีนสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่กว่า 3.4 พันล้านหยวน (ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากโครงการ 5G เชิงอุตสาหกรรมมากกว่า 3,000 โครงการ ยิ่งไปกว่านั้น โครงการเหล่านี้ยังสร้างรายได้มากขึ้นอีก 10 เท่าจากการประยุกต์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและบริการด้านไอซีทีแบบครบวงจร
“การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในธุรกิจ B2B กลายเป็นกลไกสร้างการเติบโตของรายได้ของผู้ให้บริการเครือข่าย สร้างมูลค่ามหาศาลในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น น้ำมันและก๊าซ การผลิต และการขนส่ง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเหล่านี้กลายเป็นนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าทางธุรกิจอย่างมหาศาลให้กับผู้ให้บริการเครือข่าย” คุณเคน หู ประธานกรรมการบริหารแบบหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ยกล่าว
ด้านผู้ให้บริการโทรคมนาคมไทยที่เข้าร่วมในเวทีดังกล่าวอย่างเอไอเอส และทรู ก็ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน โดยระบุว่า การปรับตัวสู่ 5G ของผู้บริโภคชาวไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว (คาดว่าภายในปี 2565 นี้ ไทยจะมีผู้ใช้บริการ 5G แตะ 10 ล้านราย) โดยจะเห็นได้ว่า การเติบโตของผู้ใช้งาน 5G ในปีที่ 3 นั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับยุค 4G
นอกจากนั้น ทางทรูยังมีการเผยตัวเลขยอดขายสมาร์ทโฟน 5G ของทางค่ายที่เติบโตขึ้น 3 เท่า ในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2564 ด้วย
ขณะที่ คุณศรัณย์ ผโลประการ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ เอไอเอส เผยว่า ทิศทางที่จะทำให้ค่ายผู้ให้บริการสามารถนำเสนอประสบการณ์ 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอาจต้องเป็นการปิดให้บริการ 3G ในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อจะได้นำคลื่นที่มีไปทุ่มใน 4G/5G นั่นเอง
จาก 5G ถึงเวลาเขยิบสู่ 5.5G
คุณเคน หู ยังได้กล่าวถึงยุคต่อไปที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องขับเคลื่อนไปสู่ 5.5G ซึ่งจะมีความสามารถเพิ่มขึ้นจาก 5G อีก 4 ข้อ นั่นคือ
- อัตราดาวน์ลิงค์ 10 Gbps
- อัปลิงค์ 1 Gbps
- รองรับการเชื่อมต่อ 100 พันล้านรายการ
- คลาวด์ Native Intelligence
จากความสามารถดังกล่าว ผู้บริหารหัวเว่ยมองว่า เครือข่าย 5G จะสามารถสร้างรายได้ในโมเดลธุรกิจที่แตกต่างจากเดิมให้กับผู้ให้บริการเครือข่าย ยกตัวอย่างเช่น การปรับราคาตามความสามารถของ 5G (เช่น ความเร็ว ค่าความหน่วงต่ำและประสบการณ์การอัปลิงค์ เป็นต้น) นอกจากนั้น ยังมองว่า การใช้ 5G ในธุรกิจ B2B จะกลายเป็นกระแสรายได้ที่เติบโตเร็วที่สุดสำหรับผู้ให้บริการ 5G เนื่องจากทำให้เกิดสถานการณ์ใหม่ในอุตสาหกรรมบริการ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ นั่นเอง