หลังสถานการณ์โควิด-19 จบลงแล้ว หลายประเทศได้ประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่ปีนี้ต้องมาเจอกับผลกระทบใหม่ จากภาวะ “เงินเฟ้อ” ทำให้ประชาชนกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและไม่มั่นใจรายได้
ดังนั้นเพื่อทำให้เห็นพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงผู้บริโภคในสถานการณ์ปัจจุบัน “อิปซอสส์” (Ipsos) บริษัทวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคระดับโลก ซึ่งทำวิจัยมาตั้งแต่เกิดโควิด ครั้งแรกเดือนพฤษภาคม 2563 ต่อเนื่องถึงพฤษภาคม 2565 ได้เผยผลวิจัยล่าสุดครั้งที่ 6 กับข้อมูลชุด SEA AHEAD wave 6
โดยสำรวจผู้บริโภคใน 6 ประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จำนวน 3,000 ราย ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 รวมถึงความคิดเห็นในอีก 6 เดือนข้างหน้า
คุณภาคี เจริญชนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การตลาด บริษัท อิปซอสส์ จำกัด สรุปอินไซต์ผู้บริโภคไทยและอาเซียนออกมาเป็น 8 ประเด็นหลักๆ จากผลวิจัยล่าสุดดังนี้
1. อาเซียนเชื่อมั่นคุมโควิดได้ แต่ไทยมั่นใจต่ำสุด
หลังเจอสถานการณ์โควิดมาตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันที่กลายเป็นโรคประจำถิ่น ความคิดเห็นของประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อมั่นว่าสามารถควบคุมสถานการณ์โควิดได้ 71%
อินโดนีเซียมีความเชื่อมั่นสูงสุดที่ 85% เวียดนาม 81% สิงค์โปร์ 74% ฟิลิปปินส์ 68% มาเลเซีย 65% และไทย 55% ซึ่งต่ำที่สุด เนื่องจากประเทศไทยประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นและผ่อนคลายการสวมหน้ากากช้ากว่าทุกประเทศในภูมิภาคนี้
2. ยังช้อปปิ้งออนไลน์ต่อเนื่องแม้จบโควิด
กิจกรรมที่ผู้บริโภคทุกวัยทำในช่วงการแพร่ระบาดโควิด คือ การดูแลสุขภาพและช้อปปิ้งออนไลน์ แม้โควิดคลี่คลายไปแล้วผู้บริโภค 96% ยอมทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น เพื่อการดูแลสุขภาพร่างกายตนเองให้ดีมากขึ้น และ 83% ยอมตัดความสะดวกสบายบางอย่าง เพื่อนำเงินไปซื้อสินค้าด้านสุขภาพ
การซื้อของออนไลน์ยังคงเป็นช่องทางที่เติบโตต่อไปหลังโควิด จากสถิติการซื้อของออนไลน์ใน 6 เดือนที่ผ่านมาเปรียบเทียบกับปี 2564 พบว่ามีกลุ่มที่ซื้อมากขึ้น 47% ซื้อเท่าเดิม 36% และซื้อน้อยลง 14% ความถี่ในการช้อปปิ้งออนไลน์สัปดาห์ละครั้ง 34% และอย่างน้อยเดือนละครั้ง 40%
โดยผู้บริโภคไทยช้อปปิ้งออนไลน์ เพิ่มขึ้นสัดส่วน 42% ช้อปเท่าเดิม 37% และซื้อน้อยลง 18%
ประเภทสินค้าที่ซื้อออนไลน์ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า แฟชั่น 70% สินค้าส่วนบุคคลและผลิตภัณฑ์ความงาม 58% กลุ่มอาหาร 46% ของใช้ในบ้าน 39% เครื่องดื่ม 35% ของเล่น และเกม 33% ผลิตภัณฑ์ซ่อมแซมบ้าน 20%
คนไทยซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย (โซเชียล คอมเมิร์ซ) เช่น เฟซบุ๊กไลฟ์ ยูทูบไลฟ์ อินสตาแกรมไลฟ์ 87% ซื้อผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopee Lazada 71%
3. คนไทยยังซื้อสินค้าช่องทางออฟไลน์
แม้มีพฤติกรรมช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้นในทุกวัย แต่คนไทยยังนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์เช่นกัน โดยกลุ่มที่มีความถี่ซื้อสินค้าเดือนละครั้งและสัปดาห์ละครั้งหรือมากกว่า ซื้อผ่านช่องทางดังต่อไปนี้
– ซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์ 82%
– ร้านสะดวกซื้อและมินิมาร์ท 81%
– โชห่วย 79%
– ตลาดสด 73%
4. ทั่วโลกกังวลภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ต้องรัดเข็มขัด
หลังจากทั่วโลกได้รับผลกระทบโควิดตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นปัจจัยที่สร้างความวิตกกังวลสูงสุดต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2563-2564 แต่ปี 2565 ทั่วโลกไม่กังวลกับโควิดอีกต่อไปแล้ว หลังจากได้กลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่สิ่งที่เข้ามาเป็นปัญหาใหม่และสร้างความวิตกกังวลสูงสุด คือ ภาวะเงินเฟ้อ ที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายและความไม่แน่นอนของรายได้
โดยผู้บริโภคในอาเซียน 95% บอกว่า “เงินเฟ้อ” มีผลกระทบอย่างมากทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น โดยส่งผลต่อการจับจ่ายซื้อสินค้าดังนี้
– กลุ่มที่ซื้อมากขึ้น คือ อาหารสำหรับปรุงเองที่บ้าน 50% ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด 35% สินค้าส่วนบุคคล 31% ภัตตาคารและร้านกาแฟ 22% และเสื้อผ้า-รองเท้า-เครื่องประดับ 19%
– กลุ่มสินค้าและบริการที่ใช้จ่ายลดลง ได้แก่ การท่องเที่ยวภายในประเทศ 40% ท่องเที่ยวต่างประเทศ 39% กิจกรรมด้านวัฒนธรรม 38% เครื่องใช้ไฟฟ้า 33% และเสื้อผ้า 30%
ในกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคใช้จ่ายลดลง อย่างเรื่องการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มเปิดประเทศ ทำให้ราคาค่าตั๋วโดยสารและโรงแรมที่พักมีราคาแพงจึงลดการใช้จ่ายลง ส่วนสินค้ากลุ่มอื่นๆ หากมีการจัดโปรโมชั่นก็จะช่วยกระตุ้นการซื้อได้ดี
5. ปัญหา “เงินเฟ้อ” คนไทยมองเศรษฐกิจไม่ดี 73%
จากปัจจัย “เงินเฟ้อ” ซึ่งประเทศไทยมีตัวเลขสูงกว่ากลุ่มอาเซียน เดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 7.7% ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นคนไทย 73% จึงมองว่าขณะนี้ “เศรษฐกิจไม่ดี” ทำให้ต้องระมัดระวังการจับจ่าย
คนไทย มองว่าสินค้าที่ราคาสูงขึ้นจากเงินเฟ้อ 3 อันดับแรก คือ 1.อาหาร 59% 2. พลังงานและของใช้ส่วนตัว 41% 3.เครื่องดื่ม 38%
การที่ผู้บริโภคจำต้องจับจ่ายเกี่ยวกับกลุ่มอาหาร ของใช้ส่วนตัว และเชื้อเพลิง ที่มีการปรับขึ้นราคาจากเงินเฟ้อ ทำให้พวกเขาต้องตัดงบสำหรับกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นและที่มีราคาสูงไว้ก่อน ทำให้พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคหันมาคำนึงถึงคุณค่าสินค้าเพื่อความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
“การวางแผนทำตลาด แบรนด์ต้องคำนึงถึงกลยุทธ์ด้านราคาที่ส่งผลต่อความอ่อนไหวด้านความรู้สึกของผู้บริโภคในภาวะเงินเฟ้อ ต้องดูว่าสินค้ามีความจำเป็นต่อการชีวิตประจำวันของผู้บริโภคไหม มีสินค้าอื่นทดแทนได้ไหม หรือสินค้าในหมวดเดียวกันมีการขึ้นราคาหรือไม่”
6. Gen Z ยอมจ่ายเพิ่มหากแบรนด์เสริมภาพลักษณ์
แม้ผู้บริโภคส่วนใหญ่กังวลเรื่องการจับจ่าย แต่พบว่าผู้บริโภคชาวไทย 71% ยินดีจ่ายเพิ่มให้กับแบรนด์ที่สามารถเสริมภาพลักษณ์ให้ตนเอง และ 74% เลือกซื้อแบรนด์ที่สะท้อนคุณค่าให้กับตนเองได้ แต่สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่จะให้คุณค่าต่อแบรนด์มากกว่าอัตราเฉลี่ยของภาพรวมการบริโภค ดังนี้
76% ของคนไทย Gen Z มักเลือกซื้อแบรนด์ที่สะท้อนถึงคุณค่าส่วนตัว
73% ยินดีจ่ายเพิ่มให้กับแบรนด์ที่สร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเอง
7. คนไทยมองบวกอีก 6 เดือนเศรษฐกิจดีขึ้น
ผลสำรวจมุมมองต่ออนาคตในอีก 6 เดือนข้างหน้าของคนไทย ส่วนใหญ่ยังมองในทางบวกหรือทรงตัว ดังนี้ เศรษฐกิจดีขึ้น 47% เศรษฐกิจทรงตัว 31% และเศรษฐกิจจะแย่ลงกว่าเดิม 23%
โดยมองการเงินส่วนบุคคล สถานะการเงินภายในครอบครัว ใน 6 เดือนข้างหน้า ดังนี้ เชื่อมั่นว่าดีขึ้น 51% มองว่าทรงตัว 32% และแย่ลงกว่าเดิม 17%
ช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ เห็นได้ว่าคนไทยมีความเชื่อมั่นการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากขึ้น จากการสำรวจพฤติกรรมเกี่ยวกับกิจกรรมที่อยากทำในอีก 3 เดือนข้างหน้า คือ ไปเยี่ยมเพื่อนและครอบครัวที่บ้าน ไปภัตตาคาร ท่องเที่ยวภายในประเทศ นอกจากนี้เห็นไว้ว่ามีการจัดกิจกรรมอีเวนต์ คอนเสิร์ต งานเฟสติวัล ต่างๆ จำนวนมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้
8. เลือกใช้ “ผู้เชี่ยวชาญ” สื่อสารกับผู้บริโภค
ในยุคที่มีข้อมูลจำนวนมากเข้าถึงผู้บริโภคโดยง่าย กุญแจสำคัญสำหรับแบรนด์สินค้าและนักการตลาดในการช่วยผู้บริโภคตัดสินใจได้เร็วขึ้น คือ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่มีความรู้เฉพาะด้านอย่างลึกซึ้ง โดย 69% ของผู้บริโภคไทยต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญเลือกผลิตภัณฑ์และบริการแทนการตัดสินใจเอง
กลยุทธ์สื่อสารกับผู้บริโภคในยุคนี้ นักการตลาดควรเลือก “ผู้เชี่ยวชาญ” มากกว่า “อินฟลูเอนเซอร์” ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก เพื่อสื่อสารเฉพาะด้านกับผู้บริโภคที่มีความสนใจในแต่ละกลุ่ม การที่ผู้บริโภคเลือกแบรนด์สินค้าที่สะท้อนคุณค่าของตัวตนและความคุ้มค่า จุดนี้อาจใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อแบรนด์สินค้าในการชนะใจผู้บริโภคและการสร้างความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว
อ่านเพิ่มเติม