ท่ามกลางภาวะโลกร้อนที่รุนแรงและหนักหน่วงมากขึ้นทุกปี หากต้องการรับมือกับวิกฤตภัยธรรมชาติที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนจะต้องขยับและปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนทั้งองคาพยพ เช่นเดียวกับที่ KBank Private Banking ผนึก Lombard Odier เห็นพ้องต้องกันว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนที่จะเป็น “ทางรอด” ไม่ใช่เพียงแค่ “ทางเลือก” อีกต่อไป เชื่อว่าความยั่งยืนของโลกจะนำไปสู่การเติบโตที่มั่นคงให้กับทั้งธุรกิจและการลงทุนในระยะยาว โชว์ผลตอบแทน 3 ปี ของกองทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี พร้อมแนะนักลงทุนปรับพอร์ตเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงผ่าน 3 ขั้นตอน คือ 1.ปรับแนวคิดการลงทุนมุ่งสู่ Net Zero 2.พิจารณาพอร์ตการลงทุนใหม่ และ 3.เสริมพอร์ตด้วยกองทุนเปลี่ยนโลก
พอร์ตการลงทุนในอนาคตไม่ใช่แค่รักษ์โลก แต่ให้ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจในระยะยาว
คุณจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อสมดุลของระบบนิเวศน์ รวมถึงสร้างทั้งความเสี่ยงและโอกาสแก่ภาคธุรกิจและการลงทุนอย่างมหาศาล ในฐานะผู้นำด้านบริการบริหารความมั่งคั่งในประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน จึงเชื่อว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนจะเป็นทางออกสำหรับวิกฤตินี้ ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง ผ่านการสนับสนุนธุรกิจดาวเด่นที่ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันจากการปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ เพราะไม่ได้มีศักยภาพในการดำเนินการเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นเท่านั้น แต่ยังบ่งบอกว่ามีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจอีกด้วย”
สถิติผลตอบแทนของกองทุนเพื่อความยั่งยืนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานเหนือกว่าดัชนีชี้วัด นับเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การลงทุนเปลี่ยนโลกไม่ได้เป็นทางเลือกที่มีต้นทุนสูงกว่าราคาเฉลี่ย แต่ทว่าเป็นการสร้างทางรอดที่โรยไปด้วยกลีบกุหลาบให้กับพอร์ตการลงทุนในอนาคต
ESG ก็ดี แต่ธุรกิจติดดาวที่แท้จริง ต้องเติบโตได้ด้วยระบบเศรษฐกิจที่มุ่งสู่ Net Zero
คุณแม็กซีม เพอเคอ Head of Sustainable Investment, Lombard Odier Investment Managers กล่าวเสริมว่า “ในยุคปัจจุบันและอนาคต การบริหารพอร์ตการลงทุนเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนบนกรอบแนวคิด ESG อาจไม่เพียงพอที่จะเฟ้นหาธุรกิจติดดาวได้ เนื่องจากมาตรวัด ESG คำนึงถึงบทบาทของบริษัทในฐานะพลเมืองของสังคม เช่น การปฎิบัติต่อพนักงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชนท้องถิ่น แต่การลงทุนเพื่อความยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยเกณฑ์ในการคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ในระบบเศรษฐกิจที่ลดการพึ่งพาคาร์บอนลง เช่น แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ความสามารถของบริษัทในการบริหารจัดการต้นทุน การตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต และการใช้ประโยชน์จากโอกาสต่าง ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรมและรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี กล่าวคือ ต้องให้ความสำคัญกับโมเดลธุรกิจของบริษัทที่จะขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต ควบคู่ไปกับแนวปฏิบัติของบริษัทในปัจจุบันนั่นเอง”
ทั้งนี้ ลอมบาร์ด โอเดียร์ เป็นผู้ให้บริการไพรเวทแบงค์ระดับสากลที่ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี1796 ซึ่งนับเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูงด้านการให้บริการไพรเวทแบงค์ และให้บริการลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงมาแล้วทั่วโลก
จับตาธีมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนที่กำลังร้อนแรง
ในฐานะพันธมิตรที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด คุณจิรวัฒน์บอกถึงหนึ่งในธีมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนที่ ลอมบาร์ด โอเดียร์ ให้ความสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีธุรกิจเป้าหมายที่กองทุนลงทุนแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. Solution Providers กลุ่มธุรกิจที่นำเสนอแนวทางและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอน
ไดออกไซด์ เช่น TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่และล้ำสมัยที่สุดของโลกจากไต้หวัน ซึ่งกำลังขยายกำลังการผลิตชิปสำหรับรถยนต์ประเภท EV/HEV และตั้งเป้าที่จะใช้พลังงานทดแทนสำหรับฐานการผลิตทั้งหมดในปี 2573 ตัวอย่างธุรกิจอีกราย คือ Darling Ingredients จากเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ผู้พัฒนาและผู้ผลิตส่วนผสมจากธรรมชาติที่ยั่งยืนจากสารอาหารชีวภาพทั้งที่กินได้และกินไม่ได้ โดยสร้างส่วนผสมและโซลูชันพิเศษเฉพาะสำหรับลูกค้าในอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ เชื้อเพลิง พลังงานชีวภาพ และปุ๋ย
2. Transition Candidates กลุ่มธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และ/หรือ รูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero เช่น Cummins บริษัทข้ามชาติอเมริกันที่ออกแบบ ผลิต และจำหน่ายเครื่องยนต์ การกรอง และผลิตภัณฑ์การผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันเป็นผู้ริเริ่มและเป็นผู้นำการผลิตระบบส่งกำลังพลังงานไฮโดรเจนในรถไฟ ซึ่งสำเร็จไปแล้ว 2 ขบวนแรกในโลก และมีแผนจะเพิ่มอีก 40 ขบวนทั่วโลก ส่วน NextEra Energy บริษัทสัญชาติอเมริกันผู้ประกอบการด้านสาธารณูปโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เบนเข็มธุรกิจมาด้านพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน
3. Adaptation Opportunities กลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และ/หรือ กระบวนการปรับธุรกิจเพื่อเข้ามุ่งสู่ Net Zero เช่น American Water บริษัทบริหารจัดการน้ำและบำบัดน้ำเสียที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับประโยชน์จากโครงการขจัดสารปนเปื้อนและฟื้นฟูแหล่งน้ำ รวมถึงการวางระบบการป้องกันน้ำท่วม ตัวอย่างอีกราย คือ Accenture บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจและเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก มีความโดดเด่นในด้านการส่งมอบเทคโนโลยีและโซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อการแก้ปัญหาทางธุรกิจให้กับลูกค้าอย่างตรงจุด ที่มีบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
กรณีศึกษา GC กลุ่มธุรกิจ Transition Candidates ที่ปรับตัวสู่ความยั่งยืนอย่างจริงจัง
ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC หนึ่งในบริษัทชั้นนำของประเทศไทยที่มุ่งผลักดันเรื่อง Net Zero อย่างจริงจัง กล่าวว่า “สำหรับแนวทางในการทำธุรกิจของ GC จะไม่ลงทุนในธุรกิจดาวร่วง แต่จะลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับเทรนด์ที่จะเติบโตในอนาคต โดย GC เดินหน้าสู่ความยั่งยืนมานานสิบกว่าปีแล้วตั้งแต่ยังไม่มีความตกลงปารีส แต่หลังจากนั้น 5-6 ปี เกือบ 200 กว่าประเทศให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งปีที่แล้วมีการประชุม COP26 ทำให้มีการตื่นตัวในเรื่องนี้ในหลายภาคส่วน แต่สำหรับภาคธุรกิจอย่าง GC เห็นว่ามีการกีดกันภาษีทางการค้าด้วยเรื่องนี้มานาน และนับวันจะยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ และหากใครเพิกเฉย ไม่ยอมทำ ยิ่งจะทำให้มีต้นทุนสูงมากขึ้น”
“การที่ GC เริ่มต้นก่อน ย่อมทำให้ได้เปรียบก่อน จากเมื่อราวปี 10 ลงทุนในสินค้ารักษ์โลก อย่างไบโอพลาสติก แต่ขาดทุนมาตลอด คนอยากใช้ แต่ไม่มีใครอยากจ่ายเพิ่ม จนกระทั่ง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผลิตไม่ทันขาย เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะมาก ทำให้แม้จะขายแพงกว่า 20-30% แต่ผู้บริโภคยอมจ่าย เพราะอยากช่วยโลก เขาเห็นถึงความยั่งยืน เห็นถึงเส้นทางวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ใช้มีที่มาที่ไป”
ไม่เพียงเท่านี้ GC ยังได้ปรับโครงสร้างของธุรกิจ ด้วยการลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น พลาสติกชีวภาพ พลาสติก รีไซเคิลคุณภาพสูง และเคมีภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง จากการเข้าซื้อกิจการ allnex จากเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกในธุรกิจผลิตภัณฑ์สารเคลือบผิว (Coating Resins) และสารเติมแต่งสำหรับงานอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายสำหรับใช้กับวัสดุทุกประเภท
ทั้งนี้ GC คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำเพื่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ควบคู่ไปกับการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ความสำเร็จของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนสามารถสร้างผลตอบแทนในเชิงธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม”
จากการที่ GC มีแผนดำเนินการระยะสั้น กลาง ยาวในเรื่องนี้ชัดเจน และสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ได้รับการจัดให้เป็นอันดับ 1 ของโลก จากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) 3 ปีต่อเนื่องในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ ล่าสุดตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปี 2573 และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593
โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ GC บรรลุความสำเร็จที่ท้าทายนี้ได้ ต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เช่น เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) เป็นเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้นนำมากักเก็บภายใต้พื้นดินหรือใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าในอนาคตอีก 20 ปี ข้างหน้าเทคโนโลยีนี้จะมีการใช้อย่างแพร่หลายในทุกอุตสาหกรรม
ถ้าไม่อยากตกขบวน ต้องเดินตามแนวทาง C.L.I.C Economy
คุณจิรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่มีแนวทางการผลิตและบริโภคที่สร้างความเสียหายแก่โลก หรือ W.I.L.D ซึ่งหมายถึงธุรกิจที่สิ้นเปลือง (Wasteful) เพิกเฉย (Idle) ไม่เท่าเทียม (Lopsided) และสกปรก (Dirty) สู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น หรือ C.L.I.C Economy ซึ่งหมายถึง เศรษฐกิจที่มีการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (Circular) ใช้ทรัพยากรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและไม่ผลิตของเสียในกระบวนการ (Lean) มีความเท่าเทียมและคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม (Inclusive) และไม่ส่งผลกระทบหรือทำลายสิ่งแวดล้อม (Clean)
โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสครั้งสำคัญของนักลงทุนที่สามารถเริ่มต้นด้วยการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนผ่าน 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. ปรับแนวคิด เปลี่ยน mindset ในการลงทุนมุ่งสู่ Net Zero และมองความยั่งยืนในฐานะแหล่งที่มาของผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว
2. พิจารณาพอร์ตการลงทุนว่ามีสัดส่วนการลงทุนหรือกลไกด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนและวัดผลได้หรือไม่ และที่ปรึกษาด้านการลงทุนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด
3. เสริมพอร์ตให้แข็งแกร่งขึ้นด้วยการลงทุนในกองทุนเปลี่ยนโลกที่สนับสนุนธุรกิจติดดาวหรือธุกริจที่มีโอกาสสูงที่จะเป็นผู้ชนะโดยตรง
ด้วยความเชี่ยวชาญ และทีมงานมากประสบการณ์ ร่วมกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง KBank Private Banking พร้อมให้บริการการบริหารความมั่งคั่งอย่างครบวงจร ด้วยมาตรฐานระดับสากล แก่ลูกค้าธนาคารกสิกรไทย ที่มีเงินฝากและเงินลงทุนกับธนาคาร ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ที่สนใจในการลงทุนอย่างยั่งยืน เพื่อให้ธุรกิจเติบโตสอดรับทิศทางการขับเคลื่อนของโลก
โดยที่ผ่านมา KBank Private Banking ได้นำเสนอโอกาสในการลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ผ่านกองทุน K-CLIMATE เป็นครั้งแรกในปี 2563 และสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 10% อีกทั้งยังมีความผันผวนที่ต่ำกว่าดัชนีตัวชี้วัด ขณะเดียวกันกองทุนหลักยังได้รับการรับรองเป็น Article 9 Fund โดย EU Sustainable Finance Disclosure Regulation (SFDR) ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดของกองทุนเพื่อความยั่งยืนที่ต้องมีเป้าหมายและดัชนีชี้วัดด้านความยั่งยืนโดยตรงอีกด้วย
สุดท้ายนี้ KBank Private Banking หวังว่านักลงทุนจะหันกลับมามองเรื่องความยั่งยืนในมุมใหม่ที่มุ่งสู่ Net Zero เพราะนี่ไม่ใช่เพียง ‘ทางเลือก’ แต่คือ ‘ทางรอด’ ทางเดียวของทั้งการลงทุน ธุรกิจ เศรษฐกิจ และโลกของเรา” คุณจิรวัฒน์ กล่าวสรุป