HomeBrand Move !!“กิมจิ” กับวิกฤติโลกร้อน ความท้าทายที่รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องแทรกแซง

“กิมจิ” กับวิกฤติโลกร้อน ความท้าทายที่รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องแทรกแซง

แชร์ :

กิมจิ เกาหลีใต้ Kimchi Soft Power

“กิมจิ” เมนูผักเคียงของชาวเกาหลีใต้ที่กลายเป็นอาหารยอดนิยมของชาวโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  กลายเป็นเมนูล่าสุดที่เผชิญหน้ากับวิกฤติโลกร้อนไปแล้วอย่างเป็นทางการ แถมความท้าทายนี้ยังทำให้บริษัทผู้ผลิตรายย่อยในประเทศต้องปิดตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สถานการณ์กิมจิในเกาหลีใต้ ส่วนหนึ่งเกิดจากอากาศของโลกที่ “ร้อนขึ้น” ทำให้วัตถุดิบหลักที่ใช้ทำกิมจิอย่างผักกาดขาวและกะหล่ำปลีในเกาหลีใต้มีผลผลิตลดต่ำลงอย่างมาก ประกอบกับการมีฝนตกมากขึ้น จนทำให้ผลผลิตที่ปลูกไว้เสียหาย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้มากเท่าในอดีต ส่งผลให้ราคาของวัตถุดิบหลักในการทำกิมจิอย่างผักกาดขาวและกะหล่ำปลีปรับตัวขึ้นถึงสองเท่าภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน ทำให้ผู้ผลิตกิมจิรายย่อยไม่สามารถหาซื้อผักในประเทศมาทำกิมจิได้

ข้อมูลจาก Korea Rating & Data ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา มีผู้ผลิตกิมจิรายย่อยเลิกกิจการมากกว่า 1,000 ราย หรือไม่ก็เปลี่ยนไปผลิตสินค้าชนิดอื่นแทนแล้ว

กิมจิแดนมังกรบุกตีตลาด

ขณะที่ผู้ผลิตกิมจิในประเทศเกาหลีใต้กำลังเพลี่ยงพล้ำ กิมจิจากจีนในราคาที่ถูกกว่าก็เข้ามาตีตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกิมจิจากจีนครองส่วนแบ่งตลาดในเกาหลีใต้ไว้มากถึง 40% และมีราคาราว 1 ใน 3 ของกิมจิที่ผลิตโดยผู้ประกอบการเกาหลีด้วย

สื่อของจีนอย่าง Global Times ระบุว่า ยอดการส่งออกกิมจิพุ่งแรงตลอดทั้งปี และบริษัทผู้ผลิตต่างมองว่ามีอนาคตที่สดใสรออยู่ เห็นได้จากยอดการส่งออกกิมจิไปเกาหลีใต้ที่มากถึง 10 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อสัปดาห์ โดยเมืองที่มีการผลิตกิมจิเพื่อส่งออกไปเกาหลีใต้มากที่สุดอยู่ในเมืองผิงตู่ (Pingdu) มณฑลซานตง (80% ของกิมจิที่ส่งออกไปเกาหลีใต้ผลิตจากมณฑลนี้)

เกาหลีใต้สร้างโรงงานผลิตกิมจิ

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องเข้ามาแทรกแซงด้วยการสร้างสถานที่เก็บผักกะหล่ำปลีขนาดใหญ่ขึ้นมา 2 แห่งในย่าน Goesan และ Haenam โดยแต่ละแห่งมีพื้นที่ถึง 9,900 ตารางเมตร และคาดว่าจะสามารถเก็บรักษากะหล่ำปลีได้มากถึง 1 หมื่นตัน อีกทั้งยังสามารถผลิตกิมจิได้ราว 50 ตันต่อวันเลยทีเดียว

ทั้งนี้คาดว่าโครงการดังกล่าวจะมีมูลค่ามากถึง 40 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่น่าเสียดายที่ว่า กำหนดแล้วเสร็จของโครงการคือปี 2025 หรืออีก 3 ปีนับจากนี้ ซึ่งอาจไม่ช่วยให้สถานการณ์ในปัจจุบันดีขึ้นได้ รวมถึงในส่วนของผู้ผลิตกิมจิรายย่อย ก็ยังต้องซื้อหาผักราคาแพงกันต่อไป หรือไม่ก็ต้องยอมยกธงขาว เลิกผลิตกิมจิไปแทน

สำนักข่าวรอยเตอร์ได้สัมภาษณ์บริษัทผู้ผลิตกิมจิในเกาหลีใต้อย่าง Cheongone Organic ซึ่งทางบริษัทให้ข้อมูลว่า ปกติแล้ว สามารถผลิตกิมจิได้ราว 15 ตันต่อวัน แต่ตอนนี้ ผลิตได้ไม่ถึง 10 ตันต่อวันเท่านั้น โดยบริษัทมีการปรับขึ้นราคากิมจิเป็น 5,000 วอนต่อกิโลกรัมด้วย (ประมาณ 132 บาท)

ส่วนการทำกิมจิไว้รับประทานเองภายในครัวเรือนนั้นพบว่า ไม่เพียงเจอกับสถานการณ์ผักแพง แต่ค่าวัตถุดิบในการดองผักก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายบ้านเลือกที่จะซื้อกิมจิสำเร็จรูปจากซูเปอร์มาร์เก็ตแทน สะท้อนจากตัวเลขยอดขายกิมจิสำเร็จรูปของซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อ Hanaro Mart ที่มียอดขายกิมจิพุ่งสูงขึ้น 20% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ข่าวดีของเกาหลีใต้ก็ยังมีอยู่ เพราะอาจกล่าวได้ว่ากิมจิได้กลายเป็น Soft Power ของประเทศไปแล้วอย่างเป็นทางการ เห็นได้จากยอดการส่งออกกิมจิของเกาหลีใต้พุ่งสูงขึ้น 10.7% หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 160 ล้านเหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมา โดยคาดว่า ความต้องการนี้มาจากพลังของศิลปินดังอย่างวงบอยแบนด์ BTS และซีรีย์เรื่อง Squid Game ที่ได้รับความสนใจอย่างจากบน Netflix นั่นเอง

Source

Source

 


แชร์ :

You may also like