HomeSponsoredผ่า Vision 2030. Actions every day. วิถียั่งยืน “โลตัส” สู่ New SMART Retail อย่างแท้จริง

ผ่า Vision 2030. Actions every day. วิถียั่งยืน “โลตัส” สู่ New SMART Retail อย่างแท้จริง

แชร์ :

เมื่อมาตรวัดการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตในยุคนี้ ไม่ได้วัดกันที่เรื่องผลกำไร หรือแค่ชนะใจลูกค้าเท่านั้น แต่ต้องมองไปถึงคนในองค์กร คู่ค้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้สามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างแข็งแกร่ง หลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในกลยุทธ์ที่องค์กรต่างๆ หันมาให้ความสำคัญก็คือ “ความยั่งยืน” หรือ “Sustainability” ซึ่งหลายองค์กรไม่ได้สร้างความยั่งยืนตามกระแส หรือทำเป็นโครงการระยะสั้นๆ แต่ได้นำ Sustainability มาใช้เป็นหลักขับเคลื่อนธุรกิจในระยะยาว เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจยั่งยืน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หนึ่งในนั้นคือ “โลตัส” ห้างค้าปลีกที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 28 ปี ที่ผลักดันความยั่งยืนให้เกิดขึ้นทุกมิติมาตลอด กระทั่งล่าสุดได้ยกระดับการดำเนินงานมาสู่นโยบาย “Vision 2030. Actions every day.” เพื่อสร้างความยั่งยืนจากการดำเนินงานในทุกๆ วัน นโยบายนี้คืออะไร และที่มาที่ไปอย่างไร Brand Buffet ชวนมาถอดแนวคิด พร้อมยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจบนเส้นทางความยั่งยืนของโลตัสจาก คุณสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย

ต่อยอดสู่ Vision 2030. Actions every day. ความยั่งยืนที่เน้นลงมือทำทุกวัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจค้าปลีกในยุคปัจจุบันแตกต่างไปจากเดิมมาก ทั้งในเรื่องพฤติกรรมนักช้อปที่เปลี่ยนไป ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมถึงสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ “โลตัส” ต้องปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จากยุคเริ่มต้นที่วางตำแหน่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคา จนขยับมาเป็น “New SMART Retail” ในปัจจุบัน เพื่อเชื่อมต่อประสบการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ

คุณสมพงษ์ บอกว่า การจะก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกยุคใหม่ นอกจากการสร้าง Format Store ใหม่ที่มีรูปแบบเฉพาะแตกต่างกันไป ให้เหมาะกับคนในแต่ละพื้นที่ หรือนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเสริมศักยภาพให้กับร้านค้าปลีกออฟไลน์เท่านั้น แต่ต้องดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืนด้วย ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจในไทยเมื่อ 28 ปีที่แล้ว ความยั่งยืนเป็นหนึ่งในหัวใจที่โลตัสยึดถือมาตลอด และในปีนี้โลตัสทบทวนและยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมาสู่นโยบาย Vision 2030. Actions every day.

“Vision 2030. Actions every day. จะเน้นการลงมือปฏิบัติในทุกๆ วันเพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนทั้ง 15 ข้อของเครือเจริญโภคภัณฑ์ สำหรับโลตัส ได้กำหนดประเด็นสำคัญ 5 ด้าน ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ ซึ่งประกอบด้วย การสนับสนุนการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี การสร้างคุณค่าและประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ” คุณสมพงษ์ ย้ำถึงประเด็นสำคัญของ Vision 2030. Actions every day.

ลุยปรับสูตรสินค้า พร้อมสร้างงาน 200,000 ตำแหน่ง

สำหรับนโยบายในแต่ละด้านนั้น จะกำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานชัดเจน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนสู่เป้าหมายที่วางไว้ภายในปี 2030 โดย การสนับสนุนการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Health & Well-being) โลตัส ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 ทุกตะกร้าสินค้าของลูกค้าจะต้องมีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ดี และเพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายดังกล่าว โลตัสได้วางแผนดำเนินการใน 4 ด้าน คือ

1. ผลิตภัณฑ์ (Products) มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ของโลตัสที่ดีต่อสุขภาพ ปรับสูตรผลิตภัณฑ์เดิมให้ดีขึ้น อาทิ ลดหวาน มัน เค็ม การมีฉลากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสินค้าที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น

2. ราคา (Prices & promotions) ทำให้สินค้าที่ดีต่อสุขภาพมีราคาที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน

3. แพลตฟอร์ม (Platforms) ใช้ช่องทาง omni-channel ในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค ทั้งการให้ความรู้และข้อมูล รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่ดี

4. ความร่วมมือ (Partnerships) กับทั้งคู่ค้าและพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลตัส ได้นำเสนอสินค้าที่ดีต่อสุขภาพให้แก่ลูกค้า ทั้งการไม่ใช้ไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหารที่โลตัสผลิตทุกชนิด การริเริ่มโครงการรับซื้อผลผลิตตรงจากเกษตรกร ทำให้มั่นใจในคุณภาพความปลอดภัยของอาหารสดที่จำหน่ายแก่ลูกค้า

ส่วน การสร้างคุณค่าและประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม (Social impact & economic contribution) โลตัส ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 จะสามารถสร้างงานได้จำนวน 200,000 ตำแหน่ง และสนับสนุนผู้ประกอบการ SME และเกษตรกร โดยเป็นการสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม อาทิ ขยายผลการจ้างงานเยาวชน และผู้สูงอายุ ที่ปฏิบัติงานในสาขา รวมทั้ง โลตัส ยังเป็นแพลทฟอร์มแห่งโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SME และเกษตรกรไทย โดยใช้แพลตฟอร์มของโลตัส ทั้งในสาขา ศูนย์การค้า และออนไลน์ เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้า สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการไทย

ในขณะที่ การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ (Responsible supply chain management) เป้าหมายของโลตัส คือ สินค้าแบรนด์ของโลตัสที่มีความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่ และคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 1 (Critical tier 1 Suppliers) รวมถึงผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ของโลตัสทุกรายได้รับการประเมินความเสี่ยงประเด็นด้านความยั่งยืนและมีการทวนสอบ 100% ครอบคลุมตั้งแต่คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า กระบวนการผลิตสินค้า แรงงาน สิทธิมนุษยชน สวัสดิภาพสัตว์ การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เป็นต้น

ส่วน การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate resilience) เป้าหมายของโลตัส คือ การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 และองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ด้วยการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคาสาขาและศูนย์กระจายสินค้าเพื่อผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ใช้ทดแทนพลังงานไฟฟ้าบางส่วน โดยวางแผนติดตั้ง 1,042 สาขา มีกำลังผลิตรวม 135mw ภายในปี ค.ศ. 2024 รวมถึงนำรถไฟฟ้า (EV) มาใช้ในการขนส่งสินค้า และเดินหน้าปลูกต้นไม้เพิ่มเติมจากการปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 20 ล้านต้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง

ส่วนแผนงานด้าน ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) เป้าหมายของโลตัส คือ การลดปริมาณของเสียในการนําไปฝังกลบและลดขยะอาหารเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2030 และบรรจุภัณฑ์สินค้าแบรนด์ของโลตัสทั้งหมด 100% ผลิตจากวัสดุที่รีไซเคิลได้ภายในปี ค.ศ. 2025 ซึ่งการลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ตามวิสัยทัศน์ โลตัสจะดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ Farm to Fork เพื่อลดขยะอาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการวางแผนการเพาะปลูกร่วมกับเกษตรกร การขนส่งสินค้าด้วยรถควบคุมอุณหภูมิ การบริหารจัดการอาหารสดอย่างมีประสิทธิภาพ นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ ขยายการบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดในแต่ละวันร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ตลอดจนสร้างการรับรู้ในภาคครัวเรือนเกี่ยวกับขยะอาหารและการแยกขยะที่ถูกต้อง

ขณะที่การดำเนินงานด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากจนเกือบบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยบรรจุภัณฑ์ประเภทอาหารสดและสินค้าอุปโภคสามารถรีไซเคิลได้แล้ว และหากดูในภาพรวมทั้งหมดความคืบหน้าอยู่ที่ 98.8% นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยให้ลูกค้าและประชาชนแยกและรีไซเคิลขยะได้อย่างสะดวกผ่านสาขาของโลตัส โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการตั้งจุดรับขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล สามารถรวบรวมขวดพลาสติกได้เกือบ 3 ล้านขวด พลาสติกยืดกว่า 1.5 ล้านกิโกรัม และกล่องและลังกระดาษกว่า 157 ล้านกิโลกรัม เพื่อนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด โดยจะเดินหน้าจับมือพันธมิตรเพิ่มเติม รวมถึงซัพพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้าประเภทต่างๆ เพื่อเก็บรวมรวมบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบเพื่อนำไปรีไซเคิลให้ได้ต่อไป

จากแนวทางการสร้างความยั่งยืนทั้ง 5 ด้านของโลตัส จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้ห้างค้าปลีกโลตัสยังคงเติบโตและสามารถครองใจนักช้อปชาวไทยมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะต้องเผชิญกับการแข่งขันดุเดือดและการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน


แชร์ :

You may also like