หลัง 2 บิ๊กกิจการโทรคมนาคม “ทรู-ดีแทค” ประกาศดีลควบรวมกิจการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงปัจจุบันยังไม่มีบทสรุปจาก กสทช.หน่วยงานกำกับดูแลว่าจะให้ดำเนินการไปในทิศทางไหน
ล่าสุดมีความคืบหน้าจากที่ประชุม กสทช. วันนี้ (12 ตุลาคม) คุณไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กสทช. ได้มีมติกำหนดการพิจารณาวาระการรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ในวันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2565
เนื่องจากรอรายงานผลการศึกษาจากที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศเกี่ยวกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่จะส่งมาให้สำนักงาน กสทช. ในวันที่ 14 ตุลาคม 2565 ซึ่งต้องนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณา
โดย กสทช. บอกว่ากรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู-ดีแทค เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีผลกระทบต่อสาธารณะ จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ข้อมูลทุกๆ ด้านจึงมีความสำคัญต่อการพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อยุติในวันที่ 20 ตุลาคมนี้
ทรู – ดีแทค ยื่นหนังสือต่อกสทช. ไม่ดึงเรื่องควบรวมธุรกิจ
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 คุณจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าได้มายื่นหนังสือถึงประธานและคณะกรรมการ กสทช.อย่างเป็นทางการนี้ เพื่อให้ กสทช. ต้องพิจารณาการควบรวมโดยเร็ว เนื่องจากได้ยื่นเอกสารตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2565 จนล่วงเลยมาถึง 9 เดือน ยังไม่มีบทสรุปเป็นทางการจาก กสทช. ซึ่งปกติต้องพิจารณาภายใน 90 วัน
“ทรูและดีแทคเข้าใจดีว่าคณะกรรมการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่ด้วยการใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้เกินกว่าที่กฎหมายได้กำหนดไว้มานานแล้วได้เกิดผลกระทบความเสียหายต่อผู้บริโภคทั้งทรูและดีแทค ซึ่งจะยังใช้บริการและโครงข่ายร่วมกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงอยากขอความเป็นธรรมจาก กสทช. ให้ช่วยเร่งรัดพิจารณาไม่ให้เกิดความล่าช้าไปมากกว่านี้ หากกสทช. เห็นควรให้มีมาตรการตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ให้บริษัทผู้ควบรวมปฏิบัติ ก็ขอให้พิจารณามาตรการที่เหมาะสม โดยยึดถือหลักของผู้บริโภคและการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมควบคู่กันไป”
สำหรับมาตรการที่ทางกสทช. จะกำหนด ยังไม่ทราบว่ามีข้อใดบ้าง ตามที่มีข่าวว่าจะไม่ให้รวมคลื่นนั้น มองว่ากสทช. น่าจะไม่มีข้อนี้ เพราะการรวมคลื่นทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด ลูกค้าทั้งสองบริษัท สามารถใช้โครงข่ายร่วมกันได้
ในส่วนความกังวลว่าจะเกิดการผูกขาด ราคาค่าบริการจะสูงขึ้นและจะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนหรือไม่ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะกสทช. มีประกาศเรื่องอัตราค่าบริการ มีการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงสุด กสทช. สามารถกำกับได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ส่วนเรื่องคุณภาพ ยิ่งไม่ใช่ปัญหา เชื่อได้ว่าจะดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การควบรวมธุรกิจ ยังจะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน
คุณเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่ากระแสตอบรับการควบรวมจากลูกค้าดีแทคเป็นไปในทางที่ดี เพราะทำให้การใช้บริการดีขึ้น ซึ่งทุกองค์กรต้องมีการทำวิจัยเพื่อสอบถามความคิดเห็นของลูกค้าว่ามีผลอย่างไร แต่เท่าที่บริษัทได้วิจัยแล้วเห็นว่าไม่มีผลในแง่ลบ มีแต่แง่บวก ซึ่งยืนยันได้ว่าลูกค้าดีแทคจะได้ใช้งานเครือข่ายที่ดีขึ้น พื้นที่ใช้งานเพิ่มขึ้น และคุณภาพบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน