ความคืบหน้าล่าสุดการแก้ปัญหา “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ มีสัญญาณที่ดี เมื่อศาลล้มละลายกลาง “เห็นชอบ” การขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยลดวงเงินกู้ดำเนินธุรกิจจากเดิม 50,000 ล้านบาท เหลือ 25,000 ล้านบาท
จากภาพรวมธุรกิจการบินฟื้นตัวเร็วหลังสถานการณ์โควิด ทำให้การบินไทย สามารถสร้างรายได้จากธุรกิจการบิน (Flight Business) และธุรกิจสนับสนุนการบิน (Non-flight Business) เพิ่มขึ้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้ใหม่เพื่อใช้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเดิม
การแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการนี้ เพื่อให้ภาครัฐโดยกระทรวงการคลังยังคงสถานะเป็นผู้ถือหุ้นหลัก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ให้สินเชื่อใหม่ เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นเดิม และนักลงทุน ลดภาระหนี้ เปิดโอกาสให้การบินไทย หลุดพ้นจากภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว คือ มีส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินเป็นบวกได้เร็วที่สุดและทำให้แผนฟื้นฟูสำเร็จ
สรุปแนวทางแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” หลักๆ มีดังนี้
1. แปลงหนี้เป็นทุน
– การจ่ายหนี้ด้วยการแปลงหนี้เดิมตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่เจ้าหนี้ กระทรวงการคลัง สถาบันการเงินและเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ โดยกำหนดจ่ายหนี้ให้แต่ละรายอย่างเท่าเทียมกัน ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567
– กำหนดราคาหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม พนักงานและนักลงทุนใหม่ให้เหมาะสม ถือว่าเป็นวิธีที่ช่วยทำให้ การบินไทยมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นและทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้เร็วขึ้น การแปลงหนี้เป็นทุนจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ
– เจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 เจ้าหนี้มีประกัน จากเดิมต้องนำเครื่องบินที่เป็นหลักประกันออกขายเพื่อจ่ายหนี้อย่างเดียว แก้ไขเพิ่มวิธีจ่ายหนี้จากกระแสเงินสด เพื่อนำเครื่องบินมาใช้ประกอบธุรกิจได้
– เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน จากเดิมจ่ายหนี้ด้วยเงินสดจนครบในปีที่ 12 ของแผน แก้ไขเป็นจ่ายหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นทั้งจำนวนเป็น “หุ้นสามัญ” ของการบินไทย ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยจะได้รับภายในปี 2567
– เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิได้รับเงินจากการขายเครื่องบิน เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) จากเดิมจะได้รับจ่ายหนี้ด้วยเงินสดครบถ้วนในปีที่ 12-15 ของแผนแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม แก้ไขเป็นจ่ายหนี้ด้วยการแปลงหนี้เงินต้นตามแผนในอัตรา 24.50% ของภาระหนี้เงินต้นของแต่ละราย เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยได้รับภายในปี 2567 หนี้ส่วนที่เหลือจะจ่ายจากกระแสเงินสดตามเวลาที่กำหนดในแผน และเจ้าหนี้ได้ดอกเบี้ยระหว่างยังไม่มีการแปลงหนี้เป็นทุน
2. วิธีจ่ายหนี้ผู้โดยสาร
– การจ่ายหนี้ “กลุ่มผู้โดยสาร” ที่ขอคืนบัตรโดยสาร (Refund) ได้เพิ่มรายละเอียดเรื่องขั้นตอนการจ่ายคืนให้เป็นไปตามมูลค่าบัตรโดยสารที่บันทึกไว้ โดยเริ่มชำระได้ตั้งแต่วันที่ศาลเห็นชอบแผนแก้ไข และจ่ายหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567
3. เจรจาเจ้าหนี้ต่างประเทศ
– การจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้ที่มีข้อพิพาทในต่างประเทศ ผู้บริหารแผนต้องเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทกับเจ้าหนี้ดังกล่าว หากการบินไทยไม่จ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้กลุ่มดังกล่าว อาจทำให้ต้องถูกบังคับยึดทรัพย์ในต่างประเทศ รวมถึงเครื่องบินในช่วงเวลาลงจอด เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อรายได้และชื่อเสียง และส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและความสามารถในการจ่ายหนี้คืนตามแผนฟื้นฟูกิจการ
4. การปรับโครงสร้างทุน
– การบินไทย จะเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 216,773,146,220 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ไม่เกิน 21,677,314,622 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดยจัดสรรหุ้นดังนี้
1. ไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
2. ไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น เพื่อจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้ตามแผนแปลงหนี้เดิมเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน
3. ไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่
– แผนการปรับโครงสร้างทุนนี้ “การบินไทย” จะเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกไม่เกิน 98,224,736,260 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวน 9,822,473,626 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น ในราคาที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควร แต่ไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น เพื่อให้ได้รับเงินเพิ่มทุนไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท
– โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม ไม่น้อยกว่า 228,108,476 หุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นเดิมคงสัดส่วนการถือหุ้นไม่น้อยกว่า 10% ของทุนจดทะเบียน ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติการนำหลักทรัพย์การบินไทยกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้ง
– กรณีไม่มีผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน หรือใช้สิทธิไม่เต็มจำนวน ให้นำหุ้นเสนอขายแก่บุคคล ตามลำดับดังนี้ 1. พนักงานการบินไทย (ปัจจุบันมีจำนวน 18,832 คน) 2. บุคคลในวงจำกัด (Private Placement)
– การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ การแปลงหนี้เดิมเป็นทุน และการเสนอขายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิม/พนักงาน/นักลงทุน ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567
5. การก่อหนี้และการระดมเงินทุน รวมถึงแหล่งเงินทุน
– แก้ไขจำนวนเงินสินเชื่อใหม่ โดยลดลงเหลือไม่เกิน 25,000 ล้านบาท (จากเดิม 50,000 ล้านบาท) เพื่อให้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ค่าใช้จ่ายการดำเนินธุรกิจ การลงทุน ซ่อมแซมทรัพย์สิน พัฒนาระบบบริหารในองค์กร เทคโนโลยีสารสนเทศ และการปรับฝูงบินให้เหมาะสม
– การก่อหนี้สินเชื่อระยะยาว ไม่เกิน 6 ปี หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี ไม่เกิน 12,500 ล้านบาท
– การก่อหนี้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียน หรือตราสารหนี้อายุไถ่ถอนน้อยกว่า 6 ปี ไม่เกิน 12,500 ล้านบาท
6. ผลสำเร็จของแผน
– หลักเกณฑ์วัดผลสำเร็จของแผน คือ เมื่อจดทะเบียนเพิ่มทุนที่กำหนดไว้ในแผน มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้ตามสัญญาเช่าเครื่องบินไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือนก่อนหน้าที่จะรายงานศาลและส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินเป็นบวก และมีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น
แนวทางการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” สอดคล้องกับภาพรวมธุรกิจการบินที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังโควิด โดยอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ของการบินไทยเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 ไตรมาส 4 คาดว่าปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ 80% ทำให้การบินไทยมีกระแสเงินสดสะสม 20,000 ล้านบาท
จากทิศทางต่างๆ ที่เป็นสัญญาณบวกนี้ “การบินไทย” คาดหวังจะออกจากแผนฟื้นฟูให้ได้เร็วที่สุด ทำให้ส่วนของทุนกลับมาเป็นบวกในปี 2567 และนำหุ้นการบินไทยเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ได้อีกครั้งใน ปี 2568 สร้างกำไรและการเติบโตอย่างยั่งยืนในฐานะ “สายการบินแห่งชาติ”