HomeBrand Move !!เส้นทาง 30 ปี ‘นพพร วาทิน’ จากบันเทิงสู่แบรนด์ THAI FIGHT ปั้น 4 ธุรกิจ ‘โรงแรม-ยิม-อีเวนต์-เครื่องดื่ม’ เข้าตลาดฯ ปี 67 

เส้นทาง 30 ปี ‘นพพร วาทิน’ จากบันเทิงสู่แบรนด์ THAI FIGHT ปั้น 4 ธุรกิจ ‘โรงแรม-ยิม-อีเวนต์-เครื่องดื่ม’ เข้าตลาดฯ ปี 67 

แชร์ :

THAI FIGHT coverชื่อเสียงของ “คุณมด นพพร วาทิน” เป็นที่รู้จักดีในอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิง นับจากเริ่มเข้าสู่วงการเมื่อปี 2533 กับหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับละครเวทีเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” ที่ศาลาเฉลิมไทย จากนั้นเป็นทั้งผู้กำกับการแสดง ผู้จัดการกองถ่ายผลิตละคร ทำรายการทีวีให้กับช่อง 3 ร่วมกับ “ไฟว์สตาร์-สหมงคลฟิล์ม” ทำภาพยนตร์ ตลอดเส้นทางกว่า 30 ปี ทำละครและหนังรวมกันกว่า 300 เรื่อง 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ก่อนยุคทีวีดิจิทัล คุณนพพร ที่รู้จัก “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” เจ้าของ “อาร์เอส” เป็นอย่างดี ได้จับมือกันเข้าไปร่วมทำรายการทีวี ละคร ให้กับ “ช่อง 3” ในยุคคุณประวิทย์ มาลีนนท์ ที่คุณนพพร นับถือและเรียกว่า “นาย” 

แม้เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ในวงการบันเทิง ทำละคร “มือปืน” ในปี 2542 ทางช่อง 3 กวาดเรตติ้ง 29 (สูงกว่าละครบุพเพสันนิวาส เรตติ้ง 17) ทำหนัง “เด็กเสเพล” ในปี 2539  รายได้ 124 ล้านบาท  หรือ “หลวงพี่เท่ง” ปี 2548  รายได้ 138 ล้านบาท

แต่สุดท้ายแล้วส่วนใหญ่ไม่มีใครจดจำผลงานเหล่านี้ได้ว่ามี “นพพร วาทิน” เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ คุณนพพร คิดใหม่กับเส้นทางธุรกิจ ต้องการสร้างความยั่งยืนและส่งต่อให้ “ทายาท”  ในปี 2553 จึงสร้างแบรนด์ THAI FIGHT (ไทยไฟท์) เวทีการแข่งขันชกมวยไทย รูปแบบใหม่จัดเต็มเวที แสง สี เสียง ใส่ความบันเทิงเข้าไปในศิลปะการต่อสู้ “มวยไทย”  จัดอีเวนต์แต่ละแมทช์ลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท  ปัจจุบันมีต่างประเทศติดต่อขอร่วมจัดการแข่งขันมากกว่า 40 ประเทศ

“เชื่อว่าวันนี้คนไทย 90% รู้จัก THAI FIGHT  ต่างจากการทำละครและหนังที่ชื่อเสียงหายไปกับสายลม” 

Thai Fight 2

ชู Soft Power ต่อยอดแบรนด์ THAI FIGHT ขายลิขสิทธิ์  

จากจุดเริ่มต้นแบรนด์ THAI FIGHT การแข่งขันชกมวยไทยระดับโลกในปี 2553 ได้รับความสนใจจากคนไทยและชาวต่างชาติ ตลอดเส้นทาง 12 ปี สร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการมวยไทย ด้วยการจัดการแข่งขันชกมวยไทยรอบชิงชนะเลิศขึ้นครั้งแรก ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เคยสร้างสถิติผู้ชมในสนามสูงสุดกว่า 80,000 คน  รายการมวยได้เรตติ้งอันดับหนึ่งและสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของช่อง 3  “ไทยไฟท์” มีผู้ชมจากทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน  จนได้รับการยอมรับว่าเป็นการจัดการแข่งขันมวยไทยที่ดีที่สุดในโลก

คุณนพพร วาทิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด กล่าวว่าแบรนด์ THAI FIGHT เริ่มจาก Sport Entertainment ยกระดับการแข่งขันมวยไทยขึ้นสู่ระดับสากล ด้วยการจัดการแข่งขันมวยไทยระดับนานาชาติ มีนักมวยไทย และต่างชาติที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกเข้าร่วมแข่งขัน และออกอากาศพร้อมกันทั่วโลก เป็นแบรนด์กีฬาที่สร้างสรรค์โดยคนไทยและมีคนไทยเป็น “เจ้าของ” 

ไทยไฟท์ ได้เปลี่ยนรูปแบบรายการมวยไทยสู่สปอร์ต เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เปลี่ยนสปอนเซอร์โฆษณาจากยาฆ่าหญ้า ปุ๋ย ราคาสปอตละ 5,000 บาท มาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ สปอตโฆษณานาทีละ 450,000 บาท ดันค่าชกนักมวยจากแมทช์ละ 7,000 บาท เป็นหลักล้านบาท ถือเป็นการยกระดับมวยไทยสู่ระดับสากล

วันนี้ได้นำแบรนด์ THAI FIGHT ที่เป็นเรื่องการต่อสู้ (fight) หนึ่งใน Soft Power ไทย มาสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกแล้ว

ปัจจุบันแม้ THAI FIGHT ยังเป็นรายการมวยไทยที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทางช่อง 8 แต่ในมุมของที่อยู่ในอุตสาหกรรมสื่อมากว่า 30 ปี คุณนพพร มองว่าเส้นทางเดินของสื่อแคบลงเรื่อยๆ หลังมี “ทีวีดิจิทัล” จากจำนวนช่องที่มากขึ้น แต่งบโฆษณาทีวีเท่าเดิมและมีแนวโน้มลดลง จากผู้ชมหันไปเสพสื่อออนไลน์มากขึ้น

วิธีคิดการทำธุรกิจให้ยั่งยืน จึงต้องการหารายได้ที่มั่นคง โดยโฟกัสมาที่การขาย “ลิขสิทธิ์” โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ เห็นได้ว่า อังกฤษ มี EPL อเมริกา มี NFL  ญี่ปุ่น มีซูโม่  จึงเชื่อว่า THAI FIGHT ของไทย เป็นอีกแบรนด์ลิขสิทธิ์กีฬาที่แข่งขันได้  

พร้อมมองโอกาสต่อยอดแบรนด์ สู่ธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่บน Core Value ศิลปะการต่อสู้อันโดดเด่นของไทย เพราะเชื่อว่า “การต่อสู้” (fight) จะอยู่กับไทยตลอดไป เป็นวัฒนธรรมประจำชาติ หนึ่งใน Soft Power สร้างรายได้จากตลาดโลก

Thai Fight 1

จัดทัพ 4 ธุรกิจ “อีเวนต์-โรงแรม-ยิม-เครื่องดื่ม” 

ปีนี้ “ไทยไฟท์” ได้จัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ ตั้ง “ไทยไฟท์ โฮลดิ้ง” ลงทุนใน 4-5 ธุรกิจหลักๆ ดังนี้

1. ไทยไฟท์ อีเวนต์ 

ธุรกิจหลักคือ การจัดแข่งขันชกมวยไทย THAI FIGHT ทั้งไทยและต่างประเทศ ปีละ 8 ครั้ง ใช้เงินลงทุนรวม 140-150 ล้านบาทต่อปี มีรายได้จากสปอนเซอร์รายละ 35 ล้านบาทต่อปี  เช่น  ช้าง อีซูซุ  โออาร์ ททท. ออมสิน ไทยประกันชีวิต  นอกจากนี้ยังมีรายการมวย THAI FIGHT ออกอากาศทางช่อง 8 ที่ทำเรตติ้งสูงสุดมากกว่าละครหลายเรื่อง

โดยเริ่มนำแบรนด์ THAI FIGHT ออกไปจัดแข่งขันในต่างประเทศครั้งแรกปี 2555 ที่ Asia World Arena ฮ่องกง มีคนดู 15,000 คน  จากนั้นไป โตเกียว ญี่ปุ่น มีผู้ชมกว่า 10,000 คน  ตามด้วย Leicester City F.C. อังกฤษ, The Venatian มาเก๊า, Phu Tho Indoor Sport Stadium โฮจิมินห์ เวียดนาม, Henan Indoor Stadium  เมืองเจิ้งโจว จีน, Ray Just Arena มอสโก รัสเซีย, ปารีส ฝรั่งเศส, บาร์เซโลน่า สเปน, โรม อิตาลี

ปัจจุบันจัดอีเวนต์  THAI FIGHT ไปแล้วกว่า 30 ประเทศ แต่ละแมทช์คนดูกว่า 10,000 คน  คนรู้จักแบรนด์มากขึ้นและรู้ว่าเป็น “มวยไทย” 

ตลาดใหญ่ที่กำลังเตรียมเข้าไปจัดอีเวนต์ คือ มณฑลซานตง จีน เซ็นสัญญาแล้ว 5 ปี เพื่อจัดแข่งขันมวยไทย THAI FIGHT นอกจากนี้ยังมีการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันชกมวยไทยให้ชมผ่านช่องทางออนไลน์ เริ่มต้นเดือนมกราคม 2566  รวมทั้งการเปิด “ยิม ไทยไฟท์” ในจีน และการทำตลาดสินค้าเมอร์เชนไดส์

รวมทั้งเตรียมจัดอีเวนต์ THAI FIGHT ในอินเดีย, อาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

THAI FIGHT HOTEL

2. ไทยไฟท์ แอสเสท 

นำแบรนด์ THAI FIGHT มาต่อยอดทำธุรกิจโรงแรม แห่งแรกคือ THAI FIGHT Hotel พื้นที่ 5 ไร่ ตั้งอยู่บนหาดละไม เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโรงแรมธีม “มวยไทย” แห่งแรกในประเทศไทย ใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท  เป็นการร่วมลงทุนกับ กลุ่ม“ศรีชวาลา” สัดส่วน 50:50

โดยรีโนเวทโรงแรมเมอร์เคียว สมุย เดิม ให้เป็นแฟลกชิพของแบรนด์ THAI FIGHT Hotel  ประกอบด้วย อาคาร 3 หลัง จำนวน 50 ห้อง ราคา 3,500-6,500 บาทต่อคืน  และ 4 พูลวิลล่า ราคา 20,000-25,000 บาทต่อคืน  เปิดให้บริการตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2565

โรงแรม THAI FIGHT เป็นสไตล์ไทยโมเดิร์น ห้องพักทุกห้องเป็นธีมมวยไทย มีกระสอบทราย นวม พร้อมมงคลสวมศีรษะ หรือ ประเจียดแขน ตกแต่งในห้องพัก

THAI FIGHT HOTEL 2

นอกจากยังมีบริการ เช่น  THAI FIGHT PHYSPORTS สถานที่ฝึกสอนมวยไทย โดยนักมวยไทยชื่อดังของ THAI FIGHT โดยสามารถมาเรียนมวยตัวต่อตัวกับนักมวยไทยไฟท์ อาทิ แสนชัย, กิตติ, ป.ต.ท., เต็งหนึ่ง, ไทรโยค, สุดสาคร, น้องโอ, พยัคฆ์สมุย 

พันธมิตรกลุ่มศรีชวาลา ซึ่งมีในธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศหลายแห่ง มีแผนขยายแบรนด์ THAI FIGHT Hotel ไปยังต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะในอังกฤษ ซึ่งชื่นชอบและรู้จักการแข่งขันชกมวยไทยเวที THAI FIGHT อยู่แล้ว

แผนการขยายธุรกิจโรงแรม THAI FIGHT หลังจากเปิดแฟลกชิพแห่งแรกที่สมุย ต่อไปจะเป็นการขยายในรูปแบบ “เชนโรงแรม” ไม่เน้นการลงทุนเป็นเจ้าของพร็อพเพอร์ตี้เอง แต่จะเข้าไปรับจ้างบริหารให้เจ้าของโรงแรม ทั้งรายใหญ่ที่ต้องการขยายพอร์ตโฟลิโอแบรนด์ในธีมมวยไทย ที่ชาวต่างชาติรู้จักและชื่นชอบ  รวมทั้งโฟกัสในกลุ่มเจ้าของโรงแรมทุนท้องถิ่นในจังหวัดท่องเที่ยวทั่วประเทศ ที่ต้องการสร้าง “จุดขาย” โรงแรมด้วยแบรนด์ THAI FIGHT โดยวางตำแหน่งเป็น Legend Hotel ที่แตกต่างจากในตลาด

Thai fight gym

3. ไทยไฟท์ ยิม 

ไทยไฟท์ มีนักมวยไทยชื่อดังที่ขึ้นชกบนเวทีอยู่แล้ว จึงต่อยอดธุรกิจด้วยการทำ “ไทยไฟท์ ยิม”  ซึ่งเป็นยิมมวยไทยมาตรฐานสากล โดยมีนักมวยชื่อดังของ THAI FIGHT เป็นผู้ฝึกสอน โดยมีการออกแบบการฝึกให้เหมาะสมกับผู้ที่ต้องการเรียนศิลปะการต่อสู้และการกำลังกาย ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับมืออาชีพ

รูปแบบ “ยิม” จะใช้พื้นที่ตั้งแต่ขนาด 300-400 ตารางเมตร ขึ้นไป ลงทุน 5-7 ล้านบาท โดยใช้โมเดล “แฟรนไชส์” ในการขยายสาขาทั้งไทยและต่างประเทศ สามารถเปิดได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ  ปัจจุบันได้รับการติดต่อจากธุรกิจฟิตเนส ในกรุงเทพฯ ที่เป็นแบรนด์ของคนไทย มีกว่า 100 แห่ง  ที่สนใจจะเปลี่ยนจาก ฟิตเนสเดิม มาเป็นแบรนด์  “ไทยไฟท์ ยิม” ในปี 2566 คาดว่าจะเปิดแฟรนไชน์ได้ 40-50 แห่ง

โดยไทยไฟท์ จะเปิดยิม ที่เป็นแฟลกชิพ ลงทุนเอง 40-50 ล้านบาท บริเวณสวนจตุจักร พื้นที่ 1 ไร่ครึ่ง  ในต้นปี 2566 เพื่อเป็นต้นแบบของธุรกิจ “ไทยไฟท์ ยิม”

Thai fight beverage

4. ไทยไฟท์ เบฟเวอเรจ 

อีกธุรกิจที่ไทยไฟท์ เห็นโอกาสต่อยอดแบรนด์ คือสินค้าเครื่องดื่ม ปัจจุบันได้ผลิตสินค้าตัวแรกแล้วคือ “น้ำดื่ม THAI FIGHT”  จำหน่ายผ่านยิม โรงแรม และอีเวนต์ของไทยไฟท์ ช่วงกลางปี 2566  จะเปิดตัวเครื่องดื่ม “สปอร์ตดริ้งค์” ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถต่อยอดกับแบรนด์ THAI FIGHT ได้เป็นอย่างดี

การทำธุรกิจในกลุ่มเครื่องดื่มจะมีการร่วมทุนกับโรงงานผู้ผลิตเครื่องดื่ม เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตทั้งน้ำดื่มและ สปอร์ตดริ้งค์ ทำการตลาดผ่านทุกช่องทางของไทยไฟท์ รวมทั้งทุกช่องทางขายปลีกในตลาด

thai fight china

เตรียมบุกออนไลน์ขายแพ็กเกจดูมวยรายเดือน  

อีกธุรกิจที่เตรียมเปิดตัว คือ “ไทยไฟท์ ออนไลน์” ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มที่ดูแลการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์การแข่งขันชกมวยไทยทั้งที่เป็นอีเวนต์ประจำปี และการจัดแข่งขันชกมวยไทยเวทีประจำ ที่กำลังจะเปิดตัวในปลายปีนี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ในโครงการ BEAT active ซึ่งเป็น Sports Entertainment มีกิจกรรมมากกว่า 50 ประเภทกีฬา

โดยไทยไฟท์ ได้เข้าไปลงทุน 300-400 ล้านบาท สร้างฮอลล์ สำหรับการแข่งขันชกมวยไทยประจำทุกสัปดาห์ โดยต่อไปจะเป็นคอนเทนต์ขายลิขสิทธิ์ออนไลน์ ทั้งไทยและต่างประเทศ ให้ผู้ที่ต้องการรับชมการถ่ายทอดสดมวย THAI FIGHT สมัครสมาชิกรับชมเป็นรายเดือน เดือนละ 99 บาท  ตลาดใหญ่คือ จีน ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก หากได้ฐานสมาชิก 5% ของประชากรจีนสมัครรับชม ราคา 5 หยวนต่อเดือน ก็จะสร้างรายได้จำนวนมาก

“กว่า 10 ปี ของเวทีไทยไฟล์ สร้างฮีโร่ นักชกมวยไทยเบอร์หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น บัวขาว, อองตวน ปินโต, เต็งหนึ่ง การมีฮอลล์ประจำที่ไบเทค จะเป็นเวทีสำคัญ สร้างฮีโร่ ในแต่ละปีเพิ่มขึ้น  นับ 100 คน  ที่จะมาทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนในยิมของไทยไฟท์ ทั้งหมดเป็นบิสซิเนสโมเดลต่อยอดจากแบรนด์ THAI FIGHT” 

มองว่าอีก 1-2 ปีข้างหน้า ช่องทางออนแอร์ทางทีวีจะลดบทบาทลง ตามพฤติกรรมผู้ชมที่อยู่กับสื่อออนไลน์เป็นหลัก ไทยไฟท์ก็จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ช่องทางออนไลน์เต็มตัวเช่นกัน หารายได้จากฐานสมาชิกดูคอนเทนต์เช่นเดียวกับโมเดล Netflix

thai fight bitech

ไทยไฟท์ เล็งเข้าตลาดฯ ปี 67

ภายใต้บิสซิเนส โมเดล ที่วางไว้ทั้งหมด  “ไทยไฟท์ โฮลดิ้ง” เตรียมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2567  โดยจะยื่นไฟลิ่งปลายปี 2566

ปัจจุบันไทยไฟท์ มีรายได้หลักจากอีเวนต์ปีละ 300-400 ล้านบาท ธุรกิจเมอร์เชนไดส์ ขายสินค้าเสื้อผ้า อุปกรณ์มวย กว่า 300 ไอเท็ม ปีละ 100 ล้านบาท รวมรายได้ 500 ล้านบาท

จากแผนขยายธุรกิจอีเวนต์ โรงแรม ยิม  เครื่องดื่ม และออนไลน์ คาดว่าปี 2566 จะมีรายได้ 1,000 ล้านบาท  การเข้าตลาดฯ ในปี 2567 จะนำเงินมาขยายธุรกิจต่อเนื่องในทุกกลุ่มมูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท และสร้างความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ THAI FIGHT  ต่อยอดขายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like