เวทีสัมมนาใหญ่วันนักการตลาด Thailand Marketing Day 2022 ของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยปีนี้ มาในหัวข้อ The Game Changer เพราะตลอดระยะเวลา 3 ปีนี้ นักการตลาดต้องฝ่าวิกฤติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโควิด -19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงาน เกิดภาวะเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง
4P จุดเปลี่ยนการตลาดยุคใหม่
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย สรุป “จุดเปลี่ยน” ในโลกธุรกิจและการติดอาวุธทางการตลาดยุคใหม่ ที่จะนำพาธุรกิจและแบรนด์ไปสู่อนาคตได้อย่างแข็งแกร่งต้องมีมุมมอง 4 จุดเปลี่ยน หรือ 4P
1. Perspective Changer จุดเปลี่ยนด้านวิสัยทัศน์ เปิดมุมมองใหม่ๆ พิชิตการเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจผันผวน
2. Practice Changer จุดเปลี่ยนด้านวิธีการ เพราะกระบวนการในอดีตไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จในอนาคต จึงต้องเริ่มเดินบนทิศทางใหม่ เมื่อกล้าเปลี่ยนก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
3. Platform Changer จุดเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี ทำความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ๆ ผสมผสานการทำงานร่วมกับคนในรูปแบบ Marketing Automation และการวิเคราะห์ดาต้า
4. Planet Changer จุดเปลี่ยนด้านคุณค่าของธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มองผลลัพธ์ใหม่ที่เริ่มจากการสร้างคุณค่าก่อนมูลค่า ทำให้เกิด Inclusive Growth ในโลกการตลาดยุคใหม่
ตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วย 4C
การเปลี่ยนมุมมองการตลาดยุคใหม่สิ่งสำคัญคือ “ผู้บริโภค” ที่เป็นผู้ตัดสินการแพ้ชนะของนักการตลาด จึงต้องทำความเข้าใจผู้บริโภคในยุคนี้ว่าพวกเขาต้องการให้แบรนด์ตอบโจทย์ 4 เรื่อง หรือ 4C
1. Caring ผู้บริโภคต้องการแบรนด์ที่เข้าใจพวกเขา โดยต้องทำหน้าที่เสนอทั้ง “ของดี” และ “คิดดี” เป็นการตอบโจทย์การห่วงใยและเข้าใจผู้บริโภค
2. Community Based แบรนด์ต้องเป็นเพื่อนที่ดีในสังคมที่ดี เพราะยุคที่สังคมถูกเชื่อมต่อด้วยโซเชียล มีเดียต้องยอมรับว่า ลูกค้ามักจะเลือกแบรนด์ที่เป็นพวกเดียวกับเขา เชื่อในสิ่งเดียวกัน และยืนหยัดในสิ่งเดียวกับพวกเขา
3. Connected Experiences การสร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อ ทั้งการสื่อสารดีและประสบการณ์ดี ตรงกับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ โดยมีเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานเชื่อมโยงทั้งสร้างประสบการณ์แบรนด์และการทำคอมเมิร์ซ
4. Competitive Price & Value ราคาดีและความคุ้มค่ายังเป็นเรื่องสำคัญ แบรนด์ที่ช่วยเหลือผู้บริโภคในช่วงที่เกิดวิกฤติจะเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคเลือก
ชูแนวคิด C.A.R.E พาองค์กรอยู่รอด
มุมมองการปรับตัวขององค์กรที่ฝ่าวิกฤติและอยู่รอดได้ในช่วง 3 ปีของสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องมีคุณสมบัติ C.A.R.E ที่แปลว่าห่วงใย
1. C – Careful บริษัทที่จะอยู่รอดได้ ต้องมีความระแวดระวังในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยง เพื่อรับมือกับภาวะผันผวน
2. A – Authentic บริษัทที่ประสบความสำเร็จต้องเป็น “ตัวจริง” เพราะในยุคนี้ผู้บริโภครู้ทันแบรนด์ทุกอย่าง จึงต้องมีความชัดเจน โปร่งใส และทำจริง
3. R – Resilience การยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวและปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ล้มแล้วต้องลุกได้ เพราะธุรกิจยุคใหม่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ไม่สามารถนำรูปแบบเดิมๆ มาใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ
4. E – Empathy การใส่ใจและเข้าใจลูกค้า คู่ค้า รวมถึงพนักงานเพราะความแข็งแกร่งของทุกองค์กรเริ่มจากคนข้างใน และการจะพัฒนาคนข้างในได้ ก็ต้องเข้าใจเขาอย่างแท้จริง
อ่านเพิ่มเติม
- รู้จัก 7 เทรนด์การตลาดยุคใหม่ จาก Meta สู่กลยุทธ์ Metta + Mitri (เมตตา+ไมตรี) การตลาดเกื้อกูลคนตัวเล็ก
- สรุป 10 ประเด็นเทรนด์การตลาด ปี 2023 พร้อมคาถาความสำเร็จ ‘4ร’ เร็ว-รู้-เรื่อง-รักษา