การหาเงิน และเล่นกับเงิน 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เพื่อมาซื้อทวิตเตอร์ (Twitter) ในปี 2022 อาจเป็นสีสันที่เรียกความสนใจได้จากทั่วโลก แต่หลังจากนี้ อาจเป็นบทพิสูจน์ฝีมือจริง ๆ ของ Elon Musk กับการทำให้เงิน 44,000 ล้านเหรียญที่ซื้อไปออกดอกออกผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เห็นได้จากดราม่าที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ถาโถมเข้ามาเป็นบททดสอบ ไม่ว่าจะเป็นการที่ Elon Musk บอกให้พนักงาน Twitter กลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ห้าม Work From Home การเลย์ออฟพนักงานจำนวนมาก แล้วก็มีรายงานว่า บริษัทต้องโทรกลับไปชวนพนักงานบางส่วนที่เลย์ออฟออกไปกลับเข้ามาทำงานใหม่
หรือการบอกให้พนักงานต้องทำงานหนักขึ้น ถ้าทำไม่ได้ก็ลาออกไป จนทำให้เกิดเทรนด์ #RIPTwitter ขึ้นบนแพลตฟอร์ม ไปจนถึงการประกาศปิดออฟฟิศตั้งแต่วันศุกร์จนถึงวันจันทร์ เพราะประเมินผิด เนื่องจากมีพนักงานลาออกเยอะเกิน จนเกรงว่าจะมีพนักงานบางส่วนเข้าออฟฟิศและนำข้อมูลที่เป็นความลับออกไป
ถ้านี่คือถ่านร้อนแล้ว อนาคตจากนี้ยังมีถ่านร้อนอีกมากที่รอ Elon Musk อยู่ ไม่ว่าจะเป็น
1. พนักงานที่เหลืออยู่ไม่ได้รู้ทั้งหมด
มีรายงานจาก Bloomberg ระบุว่า ตอนนี้พนักงาน Twitter อาจถูกเลย์ออฟไปแล้วประมาณ 3,700 คน ซึ่งพนักงาน Twitter ที่ยังเหลืออยู่ไม่ได้รู้จักซอร์สโค้ดทั้งหมด และหากเกิดบั๊กขึ้นมาในจุดที่พนักงานไม่รู้ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้
2. เสี่ยงต่อการถูก Hack มากขึ้น
อดีตพนักงานทวิตเตอร์รายหนึ่งบอกว่า ภายในระบบของทวิตเตอร์มีไมโครเซอร์วิสอยู่มากกว่า 1,000 ตัว ซึ่งคนที่ไม่รู้ถึงความซับซ้อนนี้ อาจไม่สามารถแก้บั๊กได้อย่างถูกต้อง และบั๊กเล็ก ๆ หลาย ๆ ตัวรวมกันมันก็อาจทำให้ระบบเกิดปัญหาร้ายแรงได้ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อข้อมูลของผู้ใช้งานได้ด้วย
3. บริการขาดความน่าเชื่อถือ
เมื่อมีพนักงานลาออกมากขึ้นเรื่อย ๆ ทีมงานที่จะดูแลระบบให้ทำงานได้ตามปกติก็อาจมีไม่เพียงพอ นำไปสู่ปัญหาทางเทคนิคต่าง ๆ ตามมา Twitter ในอนาคตจึงเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดได้ง่าย
4. ผู้ใช้ – นักการตลาดเมิน
เมื่อ Twitter พังง่าย มันจะเริ่มน่าเบื่อ และไม่สนุก สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือคนเล่นจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อคนเล่นน้อยลง โอกาสที่เม็ดเงินโฆษณาจะมาที่ Twitter ก็จะน้อยตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานภาพทางการเงินของ Twitter ในอนาคตอย่างแน่นอน
5. ขาดทีมงานตรวจสอบคอนเทนต์รุนแรง
เป็นธรรมดาที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจะต้องมีทีมงานคอยประสานงานกับตัวแทน – หน่วยงานของประเทศต่าง ๆ ในกรณีที่มีคอนเทนต์ล่อแหลม รุนแรง ไม่เหมาะสม เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม เพื่อจะได้นำคอนเทนต์เหล่านั้นออกจากแพลตฟอร์มได้อย่างทันท่วงที แต่ถ้าทีมงานส่วนนี้ลาออกไปหมด ก็เป็นไปได้ว่า Twitter อาจทำได้ไม่ทันทันตามที่ประเทศต่าง ๆ ร้องขอ และอาจมีค่าปรับตามมาได้
เรียกโปรแกรมเมอร์เข้าประชุมด่วน
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาดังกล่าวดูเหมือนว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว เพราะมีรายงานว่า Elon Musk ได้ส่งอีเมลถึงวิศวกรซอฟต์แวร์ของ Twitter ให้เข้ามาที่สำนักงานใหญ่ตอน 14.00 น. ในวันนี้เพื่อประชุมกับเขาอย่างเป็นทางการ โดยพนักงานที่เข้ามาจะต้องรายงานว่า ตนเองดูแลซอร์สโค้ดในส่วนใดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และแคปหน้าจอการเขียนโค้ดของตัวเองที่คิดว่าเจ๋งที่สุดมาให้ด้วย (แคปมาได้มากที่สุด 10 หน้าจอเท่านั้น) โดยคาดว่าการพบปะกันครั้งนี้จะช่วยให้ Elon Musk เข้าใจเทคโนโลยีของ Twitter มากขึ้น