AWC หรือ แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือทีซีซี ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่บริหารโดยบุตรสาวคนโต “คุณวัลลภา ไตรโสรัส” ที่เพิ่งประกาศแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2565-2569) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ในการพัฒนาธุรกิจโรงแรมและค้าปลีกต่อเนื่อง 15 โครงการ แบ่งเป็นการลงทุนเอง 60,000 ล้านบาท ส่วนอีก 40,000 ล้านบาท ใช้สำหรับซื้อกิจการที่เห็นศักยภาพการเติบโต
นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดในปี 2563 ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบหนักตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา AWC ได้รับข้อเสนอให้เข้าซื้อกิจการโรงแรมทั่วประเทศกว่า 200 แห่ง
ในปี 2564 AWC ได้เข้าซื้อกิจการโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวไปแล้ว คือ โรงแรมซิกมา รีสอร์ท จอมเทียน พัทยา จำนวน 287 ห้อง มูลค่า 550 ล้านบาท ใช้งบประมาณปรับปรุง 1,288 ล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุน 1,838 ล้านบาท รวมทั้งซื้อโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ (D2CM) ตั้งอยู่บนถนนช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ขนาด 130 ห้องพัก จากบริษัท ดุสิตธานี พร็อพเพอร์ตี้ส์ รีท จำกัด ด้วยงบลงทุน 435 ล้านบาท
ซื้อโรงแรมอีก 2 แห่ง กรุงเทพฯ-ภูเก็ต 8,856 ล้าน
ล่าสุด AWC ได้เข้าซื้อกิจการและพัฒนาต่ออีก 2 โครงการในกรุงเทพฯ และภูเก็ต รวมมูลค่าลงทุน 8,856 ล้านบาท ได้แก่ การเข้าลงทุนและพัฒนาใน โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินด์เซอร์ และโครงการ เดอะ เวสทิน สิเหร่ เบย์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ต
– การลงทุนโครงการในกรุงเทพฯ เป็นการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท วินเซอร์ โฮเต็ล จำกัด ทำให้ได้ทรัพย์สิน “โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินด์เซอร์” โดยมีมูลค่า 3,184 ล้านบาท และใช้งบลงทุนพัฒนาโครงการ อีก 2,121 ล้านบาท รวมเงินลงทุน 5,306 ล้านบาท
– การลงทุนโครงการในภูเก็ต คือโรงแรม เดอะ เวสทิน สิเหร่ เบย์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ต มูลค่ารวม 2,450 ล้านบาท และใช้งบลงทุนพัฒนาโครงการอีก 1,101 ล้านบาท รวมลงทุน 3,551 ล้านบาท
ยึดทำเลทอง “สุขุมวิท” ขยายพอร์ตฯโรงแรม
โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินด์เซอร์ ที่เข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของ AWC เดิมคือโรงแรมวินด์เซอร์ สวีทส์ (Hotel Windsor Suites) ขนาด 456 ห้อง ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 20 เป็นธุรกิจของตระกูล “โบว์เสรีวงศ์”
ก่อนหน้านี้ในช่วงโควิด เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 โรงแรมวินด์เซอร์ สวีทส์ ได้ออกหนังสือประกาศเลิกจ้างพนักงานและปิดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2563 จากนั้นได้รีโนเวทโรงแรมใหม่เป็นแบรนด์ “แกรนด์ เมอร์เคียว”
ย้อนดูผลประกอบการ “วินเซอร์ โฮเต็ล” เป็นธุรกิจที่ทำกำไรมาตลอด แต่เริ่มขาดทุนจากโควิด
– ปี 2562 รายได้ 347 ล้านบาท กำไร 7.2 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้ 51 ล้านบาท ขาดทุน 138 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 28 ล้านบาท ขาดทุน 102 ล้านบาท
ปัจจุบัน AWC มีโรงแรมรวม 19 แห่ง แบ่งเป็น 8 แห่งในกรุงเทพฯ และโรงแรมในต่างจังหวัด 11 แห่ง ทั้งในภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน กระบี่ สมุย รวม 5,201 ห้องพัก
หากโฟกัสพื้นที่กรุงเทพฯ ทำเลใจกลางสุขุมวิท AWC มีโรงแรมอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ดิ แอทธินี โฮเต็ล, โอกุระ เพรสทีจ, แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค, ดับเบิ้ลทรี ฮิลตัน สุขุมวิท, ฮิลตัน สุขุมวิท
โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินด์เซอร์ ที่อยู่บนทำเล ซอยสุขุมวิท 20 เป็นอีกหนึ่งโรงแรมที่เติมเข้ามาในพอร์ตโฟลิโอย่านสุขุมวิท ซึ่งเป็นทำเลทองรองรับทั้งกลุ่มท่องเที่ยว จัดเลี้ยงและสัมมนา โดยเฉพาะกลุ่ม MICE ตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูง หลังจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กลับมาเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 และกลุ่มโรงแรม AWC ในย่านสุขุมวิท ก็อยู่ใกล้เคียงกับศูนย์ฯสิริกิติ์ ทั้งหมด
สถานการณ์ภาพรวมธุรกิจโรงแรมเครือ AWC ยอดจองห้องพักปีนี้เติบโตก้าวกระโดด โดยเฉพาะช่วงการประชุม APEC 2022 ในประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ เป็นช่วงที่ดีสุดของธุรกิจโรงแรม เนื่องจากมีงาน MICE จากทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทย ทำให้อัตราการเข้าพักฟื้นตัวจาก 30-40% เป็น 50% ปัจจุบันอยู่ที่ 60% ขณะที่ Room Rate ปรับเพิ่มจาก 4,200 บาท ป็น 4,900 บาท ถือเป็นสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้ AWC ยังเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง โดยมีโครงการใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา 15 โครงการ
ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2565 AWC มีกำไรสุทธิตามงบการเงิน 1,026 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.4% และช่วง 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 2,448 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม
- ท่องเที่ยวฟื้นแล้ว AWC ลุยต่อโรงแรมใหม่ในเครือเพิ่ม 15 แห่ง พิจารณาอีกเข้าซื้อโรงแรมเพิ่ม หลัง 200 แห่งเสนอขายกิจการ
- AWC ตั้งองค์กรร่วมทุน 16,500 ล้าน จับมือกลุ่มสถาบันไทย-ต่างประเทศ เข้าลงทุน ‘ธุรกิจโรงแรม’