HomeBrand Move !!e-Conomy SEA Report 2022 ยก “อีคอมเมิร์ซ” ดันเศรษฐกิจดิจิทัลไทย แตะ 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

e-Conomy SEA Report 2022 ยก “อีคอมเมิร์ซ” ดันเศรษฐกิจดิจิทัลไทย แตะ 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

แชร์ :

google e-conomy

Google, Temasek และ Bain & Company เปิดรายงาน e-Conomy SEA Report ประจำปี 2022 โดยคาดการณ์มูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Volume: GMV) ของเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้จะมีมูลค่าทะลุ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ถึง 3 ปี (ในตอนแรกคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าทะลุ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025) สำหรับประเทศไทย ผลสำรวจ e-Conomy SEA Report 2022 คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในปีนี้ จะมีมูลค่า GMV สูงถึง 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 17% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนนักลงทุนจะหันไปให้ความสำคัญกับเซกเตอร์ใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น HealthTech, EdTech, Software as a Service (SaaS) และยังพบว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาจจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศได้มากถึง  20 ล้านตันภายในปี 2030 (มาจาก 3 เซกเตอร์สำคัญอย่าง Transportation, Food Delivery และ e-Commerce)

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เป็นประจำทุกปีที่ Google, Temasek และ Bain & Company จะทำสำรวจเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัลออกมา โดยในปีนี้ e-Conomy SEA Report 2022 มองว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ระหว่างการ “ฝ่าคลื่นความเปลี่ยนแปลง สู่ท้องทะเลแห่งโอกาส” โดยคุณแจ็กกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย เผยว่าความท้าทายของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย

  • ปัญหาด้านซัพพลายเชนที่มีการหยุดชะงัก
  • สินค้าขาดตลาด
  • ราคาสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้น
  • กำลังซื้อของผู้คนลดลง
  • การล็อกดาวน์ทำให้การเดินทางหยุดชะงัก และกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ปัญหาด้านการเมืองระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดี หากมองในมุมของเศรษฐกิจดิจิทัล คุณแจ็กกี้ หวาง มองว่ายังมีการเติบโตที่ดี เห็นได้จาก

  • ตัวเลข Internet Users ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2022 อยู่ที่ 460 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 20 ล้านคน หรือคิดเป็นการเติบโต 4%
  • ผลสำรวจนี้ทำการศึกษาการใช้งาน Digital Services ใน 8 หมวด ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ, Food delivery, Transport, Travel, Music on demand, VDO on demand, Gaming และ Groceries และพบว่า อีคอมเมิร์ซเป็นเซกเมนต์ที่มี Adoption Rate สูงที่สุดในบรรดา Digital Services ทั้งหมด
Jackie Wang, Country Director, Google Thailand (1)

คุณแจ็กกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย

ประเทศไทยอยู่ตรงไหนใน SEA

สำหรับประเทศไทย ผลสำรวจ e-Conomy SEA Report 2022 คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในปีนี้ จะมีมูลค่า GMV สูงถึง 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 17% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ปี 2021 มีมูลค่าอยู่ที่ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) และคาดว่าในปี 2025 มูลค่าสินค้ารวมเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะแตะ 5.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 15% โดยพบว่า อีคอมเมิร์ซ, บริการส่งอาหารออนไลน์ และการซื้อของสดออนไลน์ เป็น 3 บริการดิจิทัลที่มีอัตราการใช้บริการสูงที่สุดในกลุ่มคนไทยที่อยู่ในเขตเมือง

e-Conomy SEA Report 2022

อีคอมเมิร์ซ หัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่เผชิญหน้าความท้าทายในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่ามีพระเอกอย่าง “อีคอมเมิร์ซ” เป็นหัวจักรขับเคลื่อนสำคัญ คิดเป็น 63% ของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมในปี 2022 และตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ในขณะที่อัตราการใช้บริการอีคอมเมิร์ซของไทยอยู่ที่ 94% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคฯ รองจากสิงคโปร์

สำหรับภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น 8% จากปีก่อน โดยมีมูลค่าสินค้ารวมสูงถึง 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะแตะ 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 โดย 23% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยตั้งใจจะใช้บริการอีคอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้าด้วย

e-Conomy SEA Report 2022

ส่วนภาคการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ โดยรวมคาดจะว่ามี GMV แตะ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 เพิ่มขึ้น 12% จากปี 2021 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นถึง 20% หรือแตะ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 ทั้งนี้ หากแยกเจาะในแต่ละตลาดจะพบว่า

  • ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์กลับสู่แนวโน้มการเติบโตในทิศทางเดิมหลังจากที่มีการเติบโตถึง 3 เท่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยคาดว่าจะเติบโต 11% มีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะแตะถึง 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 ซึ่งจะทำให้ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์ของไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย
  • ภาคการขนส่ง (Transportation) คาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 36% มีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 300 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 และพุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025

สื่อออนไลน์ (บริการวิดีโอออนดีมานด์ เพลงออนดีมานด์ เกม) มีการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมาที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์สืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 โดยในปี 2022 มีการเติบโต 10% และมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ การเติบโตของเพลงออนดีมานด์และวิดีโอออนดีมานด์เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ด้านโฆษณาออนไลน์ยังคงรักษาการเติบโตไว้ได้คงเดิม ส่วนเกมออนไลน์พบว่าการใช้บริการลดลงเนื่องจากผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภาคธุรกิจสื่อออนไลน์จะเติบโต 12% หรือคิดเป็นมูลค่า 7  พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 

การท่องเที่ยวออนไลน์ คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากการที่ผู้คนออกเดินทางท่องเที่ยวหรือออกไปทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านกันมากขึ้น ซึ่งมีระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีการเติบโต 139% จากปี 2021  คิดเป็น GMV  5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 22% หรือมีมูลค่าสินค้ารวมที่  9  พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 

ตลาด Digital Financial Services ไทย ยอดกู้โต 50%

e-Conomy SEA Report 2022

บริการด้านการเงินดิจิทัล หรือ Digital Financial Services (DFS) ซึ่งได้แก่ การชำระเงิน การโอนเงินต่างประเทศ การกู้ยืม การลงทุน และประกัน เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักในปี 2022 เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้นหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในส่วนของการกู้ยืม พบว่ามีการเติบโตมากถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2021

อย่างไรก็ดี คุณวิลลี่ ชาง (Willy Chang) Associate Partner จาก Bain & Company ให้ความเห็นว่า ตัวเลขการกู้ยืมที่สูงขึ้นนี้ยังเป็นการเติบโตในลักษณะ Healthy เนื่องจากเป็นการกู้ยืมผ่านสถาบันการเงิน และมีมาตรการควบคุมที่เคร่งครัด ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึงบริการของสถาบันทางการเงิน (อินโดนีเซีย) ทำให้การกู้ยืมดิจิทัลเกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม หรือเป็นการกู้ยืมแบบ Peer-to-Peer ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่านั่นเอง

ทั้งนี้ การเติบโตของบริการด้านการเงินดิจิทัลจากนี้ไปจนถึงปี 2025 จะถูกขับเคลื่อนโดยการกู้ยืมและการลงทุนซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compounded Annual Growth Rate: CAGR) ประมาณ 40% และ 45% ตามลำดับ

ส่วนบริการธนาคารดิจิทัล (Digibank) เริ่มได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวยยังคงมีความภักดีต่อผู้ให้บริการด้านการเงินที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างยาวนาน พิจารณาจากยอดเงินฝากในปัจจุบันและการลงทุนในหลายด้าน

การระดมทุนในภาคเทคโนโลยียังคงแข็งแกร่ง

อีกหนึ่งหัวข้อที่มีการเอ่ยถึงในรายงาน e-Conomy SEA Report 2022 ก็คือการลงทุนด้านเทคโนโลยี โดยในปี 2022 ผู้สำรวจเผยว่า มูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2021 จนถึงครึ่งแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้น 15% การระดมทุนในภาคเทคโนโลยียังคงแข็งแกร่ง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นแหล่งรวมการลงทุนด้านเทคโนโลยี ถึงแม้ว่านักลงทุนจะระมัดระวังมากขี้นในสภาวะเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบัน

e-Conomy SEA Report 2022 05

ทั้งนี้ การลงทุนในบริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services: DFS) มีสัดส่วนการลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 และการลงทุนในบริการด้านการเงินดิจิทัลแซงหน้าอีคอมเมิร์ซขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วนเกือบครึ่งของการลงทุนทั้งหมดในไทยเช่นเดียวกับทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมูลค่าการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนระดับ Series-C จำนวนมากในภาคธุรกิจบริการด้านการเงินดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ

 


แชร์ :