HomeSponsoredผ่า 8 กลยุทธ์ความยั่งยืน KBank : ESG Strategy 2566 สู่ ผู้นำธนาคาร ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผ่า 8 กลยุทธ์ความยั่งยืน KBank : ESG Strategy 2566 สู่ ผู้นำธนาคาร ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แชร์ :

การดำเนินธุรกิจตามกรอบของความยั่งยืน  หรือ ESG  ที่ต้องสร้างสมดุล  ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (Environment)  สังคม ( Society)  และการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล (Governance) ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องเรียนรู้ และวางแนวทางในการทำธุรกิจให้สอดคล้อง โดยเฉพาะการวางเรื่องนี้ให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ มากกว่าแค่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมแบบที่ผ่านมา​ เพราะเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่แค่เทรนด์​หรือแฟชั่นที่มาแล้วไป แต่เป็นโลกใหม่ที่คนทำธุรกิจต้องเรียนรู้ เพราะหากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ​อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งจากลูกค้า และนักลงทุน ​รวมถึงอาจลดทอนศักยภาพในการแข่งขัน หรือเติบโตของธุรกิจในอนาคตได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะ Bank of Sustainability ที่ดำเนินธุรกิจตามหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานการทำงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มาอย่างต่อเนื่อง และใช้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการนำพาลูกค้าและธุรกิจไทยขับเคลื่อนสู่ระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยวางเป้าหมายสู่การเป็น ธนาคารชั้นนำด้าน ESG ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านกลยุทธ์ KBank ESG Strategy 2566

คุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า KBank ESG Strategy 2566 ​เป็นการกำหนดกลยุทธ์การทำงานอย่างเป็นระบบ และสามารถวัดผลได้ โดยมีหลักการและมาตรฐานสากล เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะธนาคารแรกที่แสดงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจตามกรอบ ESG ​ที่ผสมผสาน ESG เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การทำธุรกิจ พร้อมทั้งยังประกาศตัวเลขที่ท้าทายและต้องพิชิตให้ได้ไว้อย่างชัดเจน โดยธนาคารได้ให้เหตุผลถึงความจำเป็นที่ธุรกิจต้องขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน พร้อมกำหนดเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ​ดังนี้

1. วิถีแห่งความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคธุรกิจไม่สามารถละเลยได้ เพราะเป็นทิศทางที่ทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนไป ประกอบกับ Stakeholder ทุกภาคส่วนของธุรกิจ​ ต่างให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่ใช้ประเด็นความยั่งยืนมาเป็นเกณฑ์ในการจับจ่ายใช้สอย เริ่มมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการเลือกใช้สินค้าที่ส่งผลกระทบต่อโลกให้น้อยที่สุด เช่นเดียวกับกลุ่มนักลงทุนที่เริ่มถามหานโยบายขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน มากกว่าแค่ตัวเลขผลกำไรที่ได้รับเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการลงทุน รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ ของแต่ละประเทศ​ที่ต่างพยายามศึกษากฎระเบียบ หรือออกมาตรการต่างๆ เพื่อนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการควบคุม หรือดูแลให้ทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วยเสมอ ​

“หากธุรกิจปรับตัวไม่ทันกับวิถีแห่งความยั่งยืน ก็อาจทําให้ต้นทุนในอนาคตสูงขึ้น ต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาสินค้าและบริการสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งความเชื่อมั่นทั้งต่อลูกค้าและนักลงทุน ซึ่งความเชื่อมั่นถือเป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจต้องรักษาเอาไว้ แต่หากปรับตัวได้ทันก็จะสามารถคว้าโอกาสไว้ได้”  คุณกฤษณ์ ให้เหตุผลเพิ่มเติม

2. มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ธนาคารกสิกรไทย ประกาศความมุ่งมั่นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) โดยในส่วนที่มาจากการดำเนินงานของธนาคาร (Scope 1 และ 2) ธนาคารได้มีปรับกระบวนการทำงานและเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการวางแผนในการทยอยเปลี่ยนรถยนต์เป็น EV การทยอยติดตั้ง Solar Roof บนอาคารสำนักงาน และสาขาที่ธนาคารเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยในครึ่งปีแรกของปี 2565 สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 13.52% (เทียบปีฐาน 2563) และตั้งเป้าหมาย ลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคารสู่ Net Zero ใน Scope 1 และ 2 ภายในปี 2573 ส่วนใน Scope 3 ที่เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากพอร์ตสินเชื่อ​ของธนาคาร ได้มีการวางเป้าหมายเป็น Net Zero ให้สอดคล้องตามเป้าหมายของประเทศไทยแล้วเช่นกัน

3. ในส่วนของ Scope 3 เพื่อพิชิต Net Zero​ ให้ได้ทั้งพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร เริ่ม​จากการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมในพอร์ตโฟลิโอซึ่งมีความแตกต่างกันออกไป เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความซับซ้อนในการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ โดยพิจารณาบริบทของประเทศประกอบด้วย จากนั้นนำมาจัดลำดับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเร่งด่วน ซึ่งธนาคารฯ ได้เริ่มต้น Decarbonization Strategy เพื่อจัดทำแผนกลยุทธการลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม นำร่องใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มเหมืองถ่านหิน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 27% ของ GHG ทั้งหมดในพอร์ตของธนาคาร ก่อนจะเพิ่มเติมอีกราว 2 ​อุตสาหกรรม ในปี 2566 โดยเมื่อรวมกันแล้วจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร

4. ธนาคารยังให้การสนับสนุน​​สินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing (Loan) and Investment) โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2565 อนุมัติสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ไปแล้วกว่า 16,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมจัดสรรเงินทุนด้านความยั่งยืนรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่องไว้อีกกว่า 200,000 ล้านบาท ภายในปี 2573 ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อในกลุ่มนี้ปัจจุบันยังน้อยอยู่ที่ราว 1-2% ของพอร์ตสินเชื่อรวมธนาคาร เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่ง​โอกาสเติบโตของพอร์ตมีได้มากกว่า 10% ขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องและการตอบรับและปรับเปลี่ยนของลูกค้า

5. การเชื่อมทั้งความร่วมมือและเทคโนโลยีกับพันธมิตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อพัฒนาโซลูชั่นที่มากกว่าแค่บริการทางการเงิน (Beyond Financial Solutions)​ ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนได้ง่ายขึ้น และกระจายสู่วงกว้างได้ พร้อมเพิ่มศักยภาพในมิติของการดูแลสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นด้วย อาทิ โครงการ SolarPlus ติดตั้งโซลาร์รูฟให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งโครงการส่งเสริมการเช่ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า EV Bike ที่ช่วยให้การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแพร่หลายและช่วยเพิ่มโอกาสให้ไรเดอร์กลุ่มผู้มีรายได้น้อยสามารถประกอบอาชีพได้ในต้นทุนที่ต่ำลง โดยธนาคารจะเดินหน้าขยายโซลูชั่นเหล่านี้ไปสู่ลูกค้าในวงกว้างต่อเนื่อง

6. ด้านการขับเคลื่อนในมิติของสังคม (Society) ธนาคารให้ความสำคัญกับการช่วยลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินและการให้ความรู้ทางการเงินและไซเบอร์ (Financial Inclusion and Financial/Cyber Literacy) โดยในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ธนาคารปรับแนวทางการให้สินเชื่อ โดยใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาความเสี่ยง การประเมินความสามารถในการชำระเงิน และบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกค้าธนาคาร พร้อมเพิ่มขีดความสามารถของลูกค้าให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ โดยวางเป้าหมายในการให้สินเชื่อสำหรับคนตัวเล็กไว้ 1.9 ล้านราย ภายในอีก 3 ปี จากปัจจุบันให้สินเชื่อคนกลุ่มนี้แล้วกว่า 5 แสนราย รวมมูลค่าสินเชื่อ 2.3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ได้สร้างความตระหนักรู้ด้าน Financial and Cyber Literacy ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารให้ลูกค้าได้ 10 ล้านราย ภายในปี 2566 พร้อมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพในการดูแลข้อมูลส่วนตัว​ของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม

​7. ด้านการดูแลธรรมาภิบาล (Governance) ให้ความสำคัญในการดูแลการให้สินเชื่อจากธนาคารไม่ไปสร้างผลกระทบเชิงลบต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้ทุกสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้นไป ต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ทั้ง 100% ซึ่ง ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 นี้ มีสินเชื่อที่ผ่านกระบวนการนี้กว่า 3.4 แสนล้านบาท

8. อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนมิติเหล่านี้ยังมีความท้าทายหลายด้าน เนื่องจากต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมทั้งการมีผู้นำที่กล้าออกมาเริ่มและเปลี่ยนแปลง KBank เองไม่สามารถที่จะทำคนเดียวได้แต่ต้องประสานความร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนในการก้าวไปพร้อมกันอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแนวทางในการขับเคลื่อนอาจต้องมีทั้งมาตรการจูงใจ หรือการกำหนดเงื่อนไขให้เกิดการปรับเปลี่ยน รวมทั้งการปรับทัศนคติถึง Return of Investment ที่ได้จากการขับเคลื่อน ESG ที่ไม่ใช่การเพิ่มต้นทุน หรือเพิ่มภาระโดยไม่มีผลตอบแทน แต่มีผลตอบแทนที่อยู่ในหลากหลายรูปแบบมากกว่าแค่เม็ดเงินจากผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว

 


แชร์ :

You may also like