ถือเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตอย่างมากในประเทศไทยเลยทีเดียว สำหรับ “ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง” เห็นได้จากการออกมาเปิดเผยตัวเลขล่าสุดของ KBank Private Banking หรือ KPB ผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวรายแรกในประเทศไทย ที่พบว่ามีฐานลูกค้าเติบโตขึ้นกว่า 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นฐานลูกค้ารวม 790 ครอบครัว (หรือประมาณ 4,000 ราย) อีกทั้งยังทำให้ KBank Private Banking มีทรัพย์สินครอบครัวภายใต้การบริหารงานคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาท*
Family Wealth Planning เรื่องจำเป็นของแบรนด์ระดับโลก
ทั้งนี้ การเติบโตดังกล่าวได้รับการฉายภาพให้เห็นชัดขึ้นจากคุณจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย โดยระบุว่า บริการ Family Wealth Planning เป็นสิ่งที่ตระกูลที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ดังระดับโลกให้ความสำคัญสูงมาก
“หากมองไปในระดับโลก แบรนด์ดัง ๆ ที่เราพบเห็นกัน ล้วนมีการวางแผนด้วยการใช้บริการ Family Wealth Planning มาแล้วทั้งสิ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่มีแบรนด์ไหนที่อยู่มา 6 – 7 เจเนอเรชั่นโดยปราศจากการวางแผน หลายแบรนด์มีการจัดประชุมครอบครัวทุกปีที่โรงงานของบริษัท ซึ่งจะมีกิจกรรมให้บุตรหลานได้เข้าไปสัมผัสกระบวนการการผลิตของทางแบรนด์ตั้งแต่ยังเล็ก และทำให้พวกเขาเกิดความรักความผูกพันธ์ในผลิตภัณฑ์ และสามารถสืบทอดเจตนารมย์ของบริษัทได้อย่างเต็มภาคภูมิ”
“จากจุดนี้ เราพบว่า หลายครอบครัวที่เป็นเจ้าของธุรกิจในประเทศไทยก็อยากเติบโตและยั่งยืนในลักษณะเดียวกัน รวมถึงอยากส่งต่อคุณค่าของธุรกิจให้ลูกหลานได้สืบทอด เห็นได้จากผลการสำรวจของ ลอมบาร์ด โอเดียร์ (Lombard Odier) ผู้ให้บริการ Private Banking ระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของ KBank Private Banking พบว่า 52% ของเจ้าของธุรกิจในไทย เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นการบริหารความมั่งคั่งและการส่งต่อทรัพย์สินไปยังทายาทมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเราอาจแบ่งความต้องการหลักของครอบครัวไทยได้เป็นหัวข้อใหญ่ ๆ 3 ข้อ นั่นคือ”
– การเก็บรักษาทรัพย์สิน
– การสร้างการเติบโต
– การส่งต่อทรัพย์สิน
“ทุกครอบครัวต้องการทั้ง 3 ข้อนี้ นั่นคือการเก็บรักษาทรัพย์สินอย่างปลอดภัย ไม่ปล่อยให้ทรัพย์สินถูกลดมูลค่าลงเมื่อกาลเวลาล่วงเลย ส่วนใดที่สร้างผลตอบแทนเพื่อให้ทรัพย์สินงอกเงยก็ควรต้องทำ และต้องสามารถส่งต่อทรัพย์สินได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน ไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน”
ครอบครัวไทย 37% เริ่มส่งมอบ “ความมั่งคั่ง”
แม้ผลการสำรวจของ ลอมบาร์ด โอเดียร์ (Lombard Odier) จะชี้ว่ามี 52% ของเจ้าของธุรกิจในไทย เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นการบริหารความมั่งคั่งและการส่งต่อทรัพย์สินไปยังทายาทมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในแง่การลงมือทำจริงนั้น กลับพบว่ามีเพียง 37% เท่านั้นที่เริ่มลงมือวางแผน โดยคุณจิรวัฒน์กล่าวถึงความท้าทายในจุดนี้ว่า หลายครอบครัวได้มอบงานในส่วนนี้ให้กับทีมกฎหมาย ทีมเลขานุการ หรือทีมบัญชีของบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ภาพที่เจ้าของธุรกิจและทรัพย์สินต้องการกับภาพที่ทีมงานมองเห็นอาจไม่ตรงกัน รวมถึงอาจไม่มีข้อมูลที่อัปเดทมากพอต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทย และในระดับโลกนั่นเอง
3 ความท้าทาย เมื่อต้องวางแผน Family Wealth ในยุคเศรษฐกิจผันผวน
นอกจากนี้ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรง ซึ่งในมุมของผู้ให้บริการด้าน Family Wealth Planning คุณจิรวัฒน์ชี้ว่า มีความท้าทายรออยู่ในอีกหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น
– ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความผันผวนของเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และปัญหาเงินเฟ้อที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นในปี 2566
– การเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย – ข้อมูลภาษี เช่น ภาษีที่ดิน หรือการมาถึงของ “นโยบายการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างสรรพากรไทย และรัฐบาลสหรัฐอเมริกา” หรือ FATCA (Foreign Account Tax Compliance Act) ภายใต้ข้อตกลง Common Reporting Standard หรือ CRS โดยมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2566
– การที่ครอบครัวมีจำนวนสมาชิกมากขึ้น โดยในอดีต การส่งต่อทรัพย์สินครอบครัวอาจเป็นการส่งต่อจากรุ่นที่ 1 ไปยังรุ่นที่ 2 แต่ปัจจุบัน การส่งต่อทรัพย์สินครอบครัวอาจเป็นการส่งต่อจากรุ่นที่ 3 หรือ 4 แล้ว ทำให้การบริหารสินทรัพย์และธุรกิจของครอบครัวมีความซับซ้อนมากขึ้น
ยกระดับบริการ Family Wealth Planning สู่การเป็นผู้ช่วยดำเนินการ Family Office
เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว คุณพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทยจึงมองว่า การยกระดับบริการ Family Wealth Planning และการทำหน้าที่เป็นสำนักงานครอบครัว หรือ Family Office จะสามารถตอบโจทย์ได้ดีที่สุด
“หลังจากมีการให้คำปรึกษา และเริ่มวางแผนการดำเนินงานเพื่อบริหารทรัพย์สินครอบครัวให้กับลูกค้า เราพบว่าเมื่อต้องลงมือทำจริง ๆ มีจุดที่ลูกค้าต้องการความช่วยเหลืออยู่ จึงนำไปสู่การยกระดับบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ไปสู่การเป็น “สำนักงานครอบครัว” หรือ Family Office เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มองหาความเชี่ยวชาญในการจัดการแบบองค์รวม และสามารถทราบความเคลื่อนไหวในแต่ละขั้นตอนของการทำ Family Wealth Planning ได้อย่างชัดเจน โดยบริการดังกล่าวเป็นการร่วมมือกับสำนักงานกฎหมายระดับแนวหน้าของประเทศอย่างบริษัท ทองเอก แอนด์ ทราทิต จำกัด ใน 6 ด้าน ได้แก่
1. งานจดทะเบียนที่ดิน
2. งานเอกสารกฎหมาย
3. งานจดทะเบียนบริษัท
4. งานติดตามทวงถามหนี้
5. งานติดตามทรัพย์
6. บริการจัดเก็บเอกสาร
คุณพีระพัฒน์กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า “ในอดีต KBank Private Banking จะให้ความรู้และคำแนะนำในการจัดตั้งและดำเนินการสำนักงานครอบครัวกับลูกค้าที่ประสงค์จะดำเนินการหรือต้องการมี Family Office เป็นของตัวเอง แต่ปัจจุบัน เราพบว่า หลายครอบครัวต้องการผู้ช่วยในการดำเนินงานจัดการกิจธุระของครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งการจัดตั้งสำนักงานครอบครัวยังมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่เหมาะสำหรับลูกค้าที่มีครอบครัวขนาดเล็ก หรือลูกค้าที่มีเรื่องให้จัดการทรัพย์สินเป็นครั้งคราว จึงมองว่า การขยายขอบเขตการให้บริการไปสู่การเป็น Family Office ของ KBank Private Banking ในครั้งนี้จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านทรัพย์สินของครอบครัวได้อย่างครบวงจรนั่นเอง”
คุณพีระพัฒน์ยังได้ยกตัวอย่างบริการ เช่น การจัดเก็บเอกสารที่จะมีการทำทะเบียนข้อมูลทั้งหมด เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายหรือการจัดเก็บที่สามารถเข้ามาเบิกใช้เอกสารได้ตลอดเวลา ต่างจากการจัดเก็บเองที่หลายครอบครัวอาจเก็บไว้ในตู้เซฟที่บ้าน ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยเพียงพอ และเอกสารสามารถสูญหายได้ รวมถึงการติดตามทรัพย์ โดยที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่ต้องติดตามทรัพย์จากต่างประเทศ ซึ่งการมีทีมกฎหมายที่มีประสบการณ์ก็สามารถช่วยให้งานในส่วนนี้เดินหน้าได้รวดเร็วขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ สิ่งที่ KBank Private Banking มองว่าจะเป็นไฮไลท์ในปี 2566 สำหรับธุรกิจ Family Wealth Planning คือการสร้างธรรมนูญครอบครัว การจัดการเรื่องภาษีให้เป็นไปตามกฎหมาย และการวางแผนแบบองค์รวม
“ต้องยอมรับว่าเศรษฐีไทยไม่ได้มีทรัพย์สินแค่ในประเทศ บางครอบครัวมีทรัพย์สินในต่างประเทศและมีหลากหลาย ซึ่งเราพบว่า ครอบครัวที่เราช่วยวางแผนให้จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น” คุณพีระพัฒน์กล่าวปิดท้าย
ปัจจุบัน KBank Private Banking มีลูกค้าประมาณ 13,000 ราย หรือคิดเป็น 40% ของตลาดไพรเวทแบงก์ในประเทศไทย โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการทั้งหมดประมาณ 9 แสนล้านบาท ซึ่งมีลูกค้าใช้บริการ Family Wealth Planning ราว 4,000 ราย หรือ 790 ครอบครัว และมีทรัพย์สินครอบครัวภายใต้การบริหารงานกว่า 180,000 ล้านบาท*
* มูลค่านี้มีบางส่วนที่เป็นธุรกิจครอบครัวและทรัพย์สินอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของธนาคาร