HomeBrand Move !!สุกี้ MK โชว์ผลงาน 3 ไตรมาสกวาดกำไร 1,118 ล้าน เพิ่มขึ้น 517% เทียบปีก่อนขาดทุน

สุกี้ MK โชว์ผลงาน 3 ไตรมาสกวาดกำไร 1,118 ล้าน เพิ่มขึ้น 517% เทียบปีก่อนขาดทุน

แชร์ :

MK suki cover

ธุรกิจในเครือสุกี้ MK เจอสถานการณ์โควิดฉุดรายได้และกำไรลดลง บางไตรมาสก็ “ขาดทุน” ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ ปี 2565 โควิดคลี่คลาย บมจ. เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป หรือ M  เจ้าของร้านอาหาร 3 แบรนด์หลัก เอ็มเคสุกี้, ยาโยอิ และแหลมเจริญ กลับมาโชว์รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นสูงอีกครั้ง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

– ไตรมาส 1 ปี 2565  ทำรายได้จากการขาย อยู่ที่ 3,495 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12%  มีกำไรสุทธิ 271 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 205% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน กำไร 89 ล้านบาท

– ไตรมาส 2 ปี 2565 ทำรายได้จากการขาย อยู่ที่ 4,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60%  มีกำไรสุทธิ 439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 541% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขาดทุน 99 ล้านบาท

– ไตรมาส 3 ปี 2565 ทำรายได้จากการขาย อยู่ที่ 4,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  106%  มีกำไรสุทธิ 408  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 285%

หากดูตัวเลข 3 ไตรมาสแรก ปี 2565 กลุ่ม MK ทำรายได้จากการขาย อยู่ที่ 11,538 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% มีกำไรสุทธิ 1,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 517% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขาดทุน 268 ล้านบาท 

ในไตรมาส 3 ปี 2565 ธุรกิจร้านอาหารในเครือสุกี้ MK สาขาเดิมยอดขายเพิ่มขึ้น 101% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  สาเหตุที่ยอดขายเติบโตสูง เนื่องจากเทียบกับปี 2564 โควิดระบาดรุนแรงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูง ภาครัฐจึงออกมาตรการคุมเข้มในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2564 ห้ามนั่งรับประทานในร้านอาหาร  จากนั้นกลับมาเปิดบริการนั่งได้ 50% ในเดือนกันยายน 2564  ทำให้รายได้กลุ่ม MK ลดลงอย่างมาก

ส่วนไตรมาส 3 ปีนี้  โควิดคลี่คลายแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่กลับมาใช้ชีวิตปกติ ภาครัฐไม่ได้มีมาตรการควบคุมการระบาดที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหาร ทำให้รายได้กลุ่ม MK ฟื้นตัวกลับมาเติบโตสูง

โครงสร้างรายได้ธุรกิจร้านอาหารในเครือ MK แยกตามแบรนด์ดังนี้

– เอ็มเค 74%

– ยาโยอิ 19%

– แหลมเจริญ 5%

– อื่น ๆ 2%

โครงสร้างรายได้แยกตามช่องทางขายดังนี้

– รับประทานในร้าน 79%

– ซื้อกลับบ้าน 8%

– เดลิเวอรี่ 13%

ย้อนหลังดูผลประกอบการ MK ก่อนสถานการณ์โควิด

– ปี 2561 รายได้ 17,233 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,573 ล้านบาท

– ปี 2562 รายได้ 17,870 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,603 ล้านบาท

– ปี 2563 รายได้ 13,655 ล้านบาท กำไรสุทธิ  907 ล้านบาท

– ปี 2564 รายได้ 11,368 ล้านบาท  กำไรสุทธิ  130 ล้านบาท

“สุกี้ตี๋น้อย” อีกร้านสุกี้ที่กำลังเข้าตลาดฯ

นอกจากแบรนด์ MK ธุรกิจร้านสุกี้ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2556  ในอีก 2 ปีจากนี้จะมีธุรกิจร้านสุกี้ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดฯ เพิ่มเติมคือ “สุกี้ตี๋น้อย” เป็นธุรกิจที่ก่อตั้งในปี 2562 โดย คุณเฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช ภายใต้ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด  ซึ่ง JMART เพิ่งเข้าไปถือหุ้นสัดส่วน 30% มูลค่า 1,200 ล้านบาท นั่นทำให้มูลค่ารวมของสุกี้ตี๋น้อยอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท

ปัจจุบันร้านสุกี้ตี๋น้อย มี 42 สาขา ตามแผนธุรกิจในปี 2566 จะเปิดอีก 50 สาขา และเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อขยายธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ใหม่และขยายสาขาในต่างประเทศ

จุดเด่นของสุกี้ตี๋น้อย คือเป็นร้านสุกี้บุพเฟ่ต์ ราคา 219 บาท (เดิมราคา 199 บาท) เป็นราคาที่ทุกกลุ่มจับต้องได้ จึงมีลูกค้าจำนวนมาก อีกจุดขายคือเปิดให้บริการตั้งแต่ 12.00-05.00 น.

สำรวจรายได้สุกี้ตี๋น้อย 

– ปี 2562 รายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท

– ปี 2563 รายได้ 1,223 ล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท

– ปี 2564 รายได้ 1,572 ล้านบาท กำไร 148 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like