K -Wave สุดแรง “ตัน ภาสกรนที” ขอนอกใจชาเขียวครั้งแรกในรอบ 20 ปี เปิดตัวกิ๊กใหม่สไตล์เกาหลี กับ “ตันซันซู” เครื่องดื่มอัดลมสไตล์ K-Pop เกาะกระแส K-Fever มัดสาวก K-Pop จับขุมพลังการซื้อของเจน Z
หลายคนบอกว่าเจน Z หรือคนยุคใหม่ หากมีเทรนด์กระแสอะไรก็มาไวและไปไว แต่คำนี้ใช้ไม่ได้กับกระแส “K-Wave”ในไทย เพราะนอกจากเทรนด์จะไม่หายไปไหนแล้ว K-Wave ยังเข้ามากลายเป็น “Mainstream” ที่อยู่กับคนไทย – สังคมไทยไปแล้ว ตลอดช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา และไม่มีทีท่าจะแผ่วลง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นแฟนคลับของศิลปินนักร้อง ไอดอล นักแสดงเกาหลี หรือที่เรียกว่า“แฟนด้อม” Fandom (ย่อมาจาก Fanclub + Kingdom) ของดารานักร้องคนนั้นๆ หรือวงนั้นๆ ที่มีพลังอำนาจการซื้อมหาศาล
สะท้อนได้จากตัวเลขที่คนไทย (สาวก K-Pop) มีการทวีตถึง K-Pop อยู่อันดับ 4 ของโลก และไทยมีการใช้จ่ายเกี่ยวกับ K-Pop เป็นอันดับ 6 ของโลกคิดเป็น 9.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 350 ล้านบาท
ขณะที่ K-Drama ก็ครองใจคนไทยทั่วทุกที่ นอกจากนี้ยังผลักดัน K-Fashion กับ K-Beauty ให้เติบโตไปทั่วโลก โดยที่ผ่านมาเกาหลีส่งออกเครื่องสำอางเติบโตถึง 300%
และกลุ่มคนไทยเที่ยวเกาหลีเพิ่มขึ้น 12.1% จากอิทธิพลของวัฒนธรรมเกาหลีด้านต่างๆที่เข้ามา นอกจากนี้ร้านอาหารเกาหลีมีบทบาทต่อการบริโภคของคนไทยอยู่ไม่น้อย ไม่เว้นแม้แต่ กระแส K-Drink อย่างโซจูที่ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2019-2021) ยึดพื้นที่เชลฟ์ในสะดวกซื้อของคนไทย และเติบโตมากกว่า 100% มูลค่าทะยานไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท ในเวลาอันรวดเร็ว
จับที่มากระแส “K-Pop Fever” สู่ “ตันซันซู” จับฐานแฟนด้อม เครื่องดื่มที่ Gen Z เรียกร้อง
จึงเป็นที่มาให้ “คุณตัน ภาสกรนที” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของฉายา “เจ้าพ่อชาเขียวเมืองไทย” ผู้ที่ประสบความสำเร็จในตลาดชาเขียวเมืองไทยมากว่า 20 ปี คลุกคลีอยู่กับความเป็นญี่ปุ่นมาตั้งแต่ Day 1 ของการทำงาน เล็งเห็นถึงโอกาสทางการเติบโต พร้อมดึงศักยภาพจากขุมพลังดังกล่าวมาต่อยอดในตลาดเครื่องดื่มเมืองไทย
โดยเลือกมาที่ K-Drink และยึดเอาวัฒนธรรม K-Pop ที่บูมอย่างต่อเนื่องมาเป็นโจทย์ตั้งต้นในการแตกไลน์สินค้าใหม่ พร้อมเดินหน้าทำยุทธ์ศาสตร์อย่างจริงจัง ด้วยการให้ทีมศึกษาต่อ เรียนรู้กระแสเกาหลี ทำการบ้านเพิ่มเติม เริ่มจากที่ไม่รู้จักเกาหลีเลย พอได้รู้จักถึงรู้ว่าศักยภาพตลาดนี้ใหญ่มาก โลกของเกาหลีลึกและกว้างกว่าที่คิด โอกาสการเติบโตมหาศาล และมีศักยภาพในการจับจ่าย
โจทย์สำคัญของการพัฒนาสินค้าครั้งนี้คือ จะต้องตอบโจทย์เจน Z ที่มีอายุ 13-25 ปี ที่มีอยู่กว่า 25 ล้านคนทั่วประเทศ และกลุ่มโคเรียเลิฟเวอร์ที่มีอายุ 13-35 ปี ที่ชื่นชอบเกาหลี เพื่อให้ต่อสู้ในนตลาดใหม่นี้ได้
เมื่อโฟกัสมาที่ตลาดน้ำอัดลมหากโฟกัสมาที่ตลาดน้ำอัดลมเมืองไทยตลอดช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเติบโต 5.5% จากมูลค่าตลาดรวม 42,695.60 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดน้ำดำดั้งเดิม 30,617 ล้านบาท ตลาดน้ำสีดั้งเดิม มีมูลค่า 12,000 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มนำ้ดำ Zero Sugar หรือ 0% มีมูลค่า 2,732 ล้านบาท เติบโต 20.2% และกลุ่มน้ำสี Zero Sugar หรือ 0% มูลค่า 2,026 เติบโต 57.2%
ทำให้ “คุณตัน” เลือกตลาดน้ำอัดลมในกลุ่มไม่มีน้ำตาล หรือ 0% ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เป็นสังเวียนใหญ่ให้ได้พิสูจน์ฝีมืออันฉกาจของเจ้าพ่อนักการตลาดเมืองไทยอีกครั้ง และตลาดน้ำอัดลมแบบไม่มีน้ำตาล (0%) คือเซกเมนต์ที่เจ้าตัวเลือกในการทำตลาดครั้งนี้
จาก K-Pop สู่ K-Drink มิติใหม่ในตลาดเครื่องดื่มอัดลมสไตล์เกาหลี
“ตันซันซู” จึงที่มีมาจากอำนาจแห่งการซื้อของเหล่า Gen Z ที่มีต่อวัฒนธรรม K-Pop ไปจนถึง K-Culture ต่างๆที่เป็น Soft Power ของเกาหลี นำไปสู่การแตกไลน์เครื่องดื่ม “ตันซันซู” มีจุดเริ่มต้นเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เดินทางเจอสาวกเคป็อป และเรียกร้องให้ทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับศิลปินที่รัก เลยตอบสนองความต้องการของลูกค้า
“ผมเจอบรรดาด้อมต่างๆ ที่ไปเฝ้ารอศิลปินที่เขารักในสนามบินไม่ว่าจะเวลาไหน มีการทำเพื่อศิลปินที่รัก เขาก็บอกว่าอยากเห็นทำอะไรที่เกี่ยวกับ K-Pop ขณะที่ในครอบครัวผมก็มีลูกในเจน Z อายุ 16-17 ปี ชอบการดูซีรี่ส์ และที่บ้านมีงานเลี้ยงบ่อย กินข้าวเห็นการซื้อโซจูมากิน จึงจุดประกายเป็นแนวคิดในการแตกไลน์สินค้าใหม่”
โดย “ตันซันซู” กับครั้งแรกของการเข้าสู่วงการน้ำอัดลมของอิชิตัน มีแบรนด์คาแรคเตอร์แบบ Real Korea ที่สนุกซ่าๆ เฟี้ยวๆ ในสไตล์คนรุ่นใหม่ แม้ตอนแรกชื่อที่คิดไว้จะไม่ใช่ตอนแรกไม่ใช่ตันซันซู แต่จากการศึกษา ค้นคว้า ท้ายที่สุด ก็เจอกับคำศัพท์เกาหลีที่สุดพ้องกับความเป็นตัวตนอย่าง “ตันซัน” แปลว่า “ซ่า” ส่วน “ซู” แปลว่า “นำ้” และเกิดเป็นชื่อแบรนด์ในที่สุด ขณะเดียวกันเจ้าตัวก็ติดตลกว่า ยังพ้องเสียงกับภาษาไทย “ตันสั่นสู้” ที่เจ้าตัวบอกว่า แม้จะอกหัก ผิดหวังกับตลาดชาพร้อมดื่มมาหลายปี แต่ครั้งนี้ขอดามใจด้วยกิ๊กใหม่ในสไตล์เกาหลีและก็พร้อมลุกขึ้นสู้ตลอดเวลา
“ผมทำธุรกิจจากญี่ปุ่น ทั้งอาหาร-เครื่องดื่ม มาตั้งแต่วันแรกของการทำงาน หรือมากกว่า 20 ปี เราไม่เคยไปทางไหนนอกจากญี่ปุ่นเลย ต้องบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราเดินออกมาจากความเป็นญี่ปุ่น และยังเป็นครั้งแรกที่แตกไลน์มาเปิดตัวเครื่องดื่มในฝั่งเกาหลี ถึงอย่างไรก็ไม่ได้หันหลังให้ความเป็นญี่ปุ่น แค่ไปมีกิ๊ก เปรียบง่ายๆคือ ขณะที่ตลาดชาเขียวชะลอตัว เราก็เหมือนคนอกหักมาหลายปี ต้องการแรงกำลังใจ เลยไปมีกิ๊ก แต่ก็ไม่ได้หันหลังให้คนเก่าอย่างญี่ปุ่นแต่อย่างใด”
สำหรับ “ตันซันซู” มาพร้อม 2 รสชาติใหม่ อย่าง โซจูบอม และ โซจู โยเกิร์ต แบบไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่มีนำตาล ขนาด 360 มล. ราคา 20 บาท เกิดเป็นกระแสนับตั้งแต่วันแรกที่วางจำหน่าย (27 ตุลาคม 2565) จน 2 สัปดาห์แรกขายไม่ทัน และมียอดขายไปแล้วมากกว่า 2 แสนลัง และการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในช่วงแรก (เป็นยอดขายที่ดีนับตั้งแต่มีการเปิดตัวเย็นเย็นเมื่อหลายปีที่ผ่านมา) โดยวางเป้ายอดขายของตันซันซูในปีหน้าไว้ที่ 600 ล้านบาท
จากเครื่องดื่ม K-Pop เรือธงใหม่ ต่อยอด Non-Tea ขยายพอร์ตเพิ่ม 3 เท่า
การก้าวเข้ามาในสังเวียนตลาดนำ้อัดลมของอิชิตันในครั้งนี้ ถือเป็นเป็นอีกหนึ่งสังเวียนใหม่ ที่ใหญ่กว่า “ชาเขียวพร้อมดื่ม” ถึง 3 เท่า แต่เจ้าตัวบอกว่า แม้จะเป็นคนตัวเล็กในสังเวียนใหญ่ แต่จากการศึกษาพฤติกรรมและพัฒนาโปรดักส์มาต่อเนื่อง “ตันซันซู” จะกลายมาเป็นอีกหนึ่งเรือธงหลักในการสร้างรายได้อย่างแน่นอน
แน่นอนหากประสบผลสำเร็จในแง่ในปีหน้าอาจจะได้เห็น “ตันซันซู” มีพรีเซ็นเตอร์เป็นศิลปินเกาหลีสักรายก็ได้ ขณะเดียวกันยังจะได้เห็นการตลาดฉบับเจ้าพ่อนักการตลาดมือต้นแห่งเมืองไทย ลงมาเล่นในตลาดเครื่องดื่มอัดลมแบบ 0% โดยมีกิมมิกแปลกเข้ามาก็ได้
โดย “ตันซันซู” เป็นเรือธงในการขยายพอร์ตเครื่องดื่มที่ไม่ใช่ชา Non-Tea ของอิชิตันให้เติบโตมากกว่า 3 เท่า หรือมีสัดส่วนยอดขายมากกว่า 12% ในปี 2566 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 4% (น้ำด่าง คือตัวทำตลาดหลักใน Non-Tea ปัจจุบัน) ก่อนจะเดินหน้าต่อยอดรสชาติใหม่ ขนาดใหม่ และสินค้า Non-Tea มากขึ้น
ผลิตทุกไลน์อัพเครื่องดื่ม ยกเว้นแอลกอฮอล์ ดันยอด 10,000 หมื่นล้านใน 3 ปี
อย่างไรก็ตามแม้ “คุณตัน” จะเดินหน้าแตกไลน์เครื่องดื่มใหม่ๆ เพื่อผลักดันยอดขายพร้อมทั้งขยายโอกาสทางการตลาดมากขึ้น แต่ใน “ตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม” พบว่าแนวโน้มกลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง โดยภาพรวมตลาดชาเขียวพร้อมดื่มช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่า 10,380 หมื่นล้านบาท เติบโตไปแล้วกว่า 23.07% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่ตลาดกลับมาเติบโตระดับ 20+ อีกครั้ง ขณะที่ภาพรวมตลาดทั้งปีคาดการณ์ว่าตลาดจะเติบโตที่ 20% นิดๆ หรือมีมูลค่าราว 13,000 ล้านบาท
“ปีนี้เป็นปีแรกที่ยอดขายชนะปีก่อนๆ และยอดขายชนะไตรมาสสองซึ่งเป็นหน้าร้อน จาก 4 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมค่อนข้างขลุกขลัก เจอปัญหามากมาย”
โดยในปีหน้าตลาดชาเขียวจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นดับเบิ้ลดิจิตหรือมากกว่า 15-20% ถือเป็นตัวเลขที่ดีกว่าก่อนการระบาดของโควิด หรือมีมูลค่าตลาดรวมกลับมาที่ระดับ 16,000 ล้านบาทอีกครั้ง เทียบเท่าช่วงพีคมากๆ ซึ่งตลาดชาเป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่คนไทย
นั่นทำให้ “คุณตัน” ยังยืนยันที่จะไม่ทิ้งคู่แต่งงานญี่ปุ่น อย่างชาเขียวพร้อมดื่ม โดยในปีหน้าจะเร่งผลักดันการเติบโตในทุกช่องทางไปตามเซกเมนต์ต่างๆ ทั้ง เกมส์ กีฬา แต่ละกลุ่มในการเจาะลูกค้า ภายใต้กลยุทธ์การตลาดที่ว่าลูกค้าอยู่ตรงไหน อิชิตันจะไปอยู่ตรงนั้น และเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ทั้งหมดเพื่อก้าวสู่รายได้ 10,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีนับจากนี้ (ปี 2023-2025) โดยปี 2566 จะปิดรายได้ที่ราว 7,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามปัจจุบันโรงงานอิชิตันใช้กำลังการผลิตปัจจุบันไปแล้วกว่า 67% คิดเป็นยอดขายก็ราวๆ 6,000 ล้านบาท ยังเหลือกำลังการผลิตอีก 33% ที่สามารถเดินหน้าผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ได้ทุกประเภทรองรับตลาด ทำให้ยังไม่มีแผนในการขยายกำลังการผลิตแต่อย่างใด แต่หากเมื่อไรที่ยอดขายแตะระดับ 8,000 ล้านบาท อาจจะได้เห็น “คุณตัน” ตัดสินใจเริ่มกำลังการผลิต ลงทุนเกี่ยวกับโรงงานอีกครั้งก็ได้
อ่านเพิ่มเติม