ย่างเข้าสู่ศักราชใหม่หลายอุตสาหกรรมเริ่มส่งสัญญาณฟื้นอย่างเห็นได้ชัด จากวิกฤตหลายอย่างที่เริ่มชะลอตัว ที่น่าจับตาคือ “ภาคค้าปลีก” มูลค่าหลายแสนล้านบาทของไทย ที่เริ่มมองเห็นสัญญาณฟื้นตัวอีกครั้ง หลังคลายล็อกเปิดประเทศตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการ เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยตลอดช่วงครึ่งปีหลัง (2565) ได้เห็นความเคลื่อนไหวในแวดวงค้าปลีก ทั้งการเปิดตัวศูนย์ใหม่ และรีโนเวตที่เดิมเป็นจำนวนมาก ทำให้น่าจับตาว่าในปี 2566 นี้ภาคค้าปลีกโดยเฉพาะศูนย์การค้าของไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ข้อมูลจาก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ระบุอีกว่า ธุรกิจการค้าปลีกทั้งออนไลน์และออฟไลน์ คือหนึ่งในธุรกิจที่ติดโผ 1 ใน 6 ธุรกิจดาวรุ่งประจำปี 2566 เนื่องจากภาพค้าปลีกในทุกช่องทาง สามารถตอบสนอง Journey ผู้บริโภคสมัยใหม่ สอดคล้องกับ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เผยบทวิเคราะห์แนวโน้มตลาดค้าปลีก ปี 2566 คงให้ภาพที่ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง แต่การดำเนินธุรกิจยังคงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ท่ามกลางค่าครองชีพและกำลังซื้อที่ยังคงกดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยคาดว่ามูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2566 จะขยายตัวอยู่ที่ราว 2.8% – 3.6% เป็นผลมาจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะภายหลัง “จีนประกาศเปิดประเทศ” ให้คนในชาติสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ในรอบหลายปี และไทยก็กลายเป็นหนึ่งใน 3 ประเทศที่ชาวจีนต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุดร่วมกับ ญี่ปุ่น และ เกาหลี นั่นทำให้ภาคค้าปลีกเริ่มตั้งรับ พร้อมทั้งปั้นแม็กเนตใหม่ๆมาปลุกกำลังซื้อของชาวจีนอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมา “ลูกค้าชาวจีน” คือกลุ่มเป้าหมายที่จับจ่ายหนักแบบไม่อั้น และสัดส่วนมากกว่า 50% จากกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด
ทำให้ในปี 2566 ธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ เตรียมพร้อมที่จะรองรับการจับจ่ายของลูกค้าทุกรูปแบบ โดยเฉพาะพี่ใหญ่แห่งวงการค้าปลีก ทั้ง “เดอะมอลล์-เซ็นทรัล-สยามพิวรรธน์” ก็เตรียมพร้อมอย่างหนัก ด้วยการเผยโฉมโครงการใหม่ที่จะเปิดบริการในปี 2566 นี้ รองรับความต้องการพร้อมทั้งกระตุ้นดีมานด์จากกลุ่มเป้าหมายไทย-เทศ ที่ไม่ใช่แค่ศูนย์การค้า หากแต่คือการปั้น “ย่าน” และ “ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์” ที่ต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันสมัยใหม่มากขึ้น
BrandBuffet พาอัพเดทบิ๊กโปรเจกต์ใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นใน 2566 นี้ จากบิ๊กเนมในแวดวง ที่เดินหน้าพัฒนาโมเดลใหม่ รีโนเวตสาขาเดิม ไว้รอวันที่สัญญาณค้าปลีกฟื้นตัวพร้อมทะยานเป้าการเติบโตอีกครั้ง หลังในปีที่ผ่านมาได้เห็นแม้จะไม่ใช่ปีทองของธุรกิจค้าปลีกมากนัก แต่ก็ได้เห็นโปรเจ็กไฮไลท์จากหลายค่าย ที่พัฒนาโครงการใหม่เพื่อบุกตลาดมาแล้วมากมาย
เดอะมอลล์ เปิด 3 ศูนย์รวด รับปีทองค้าปลีกฟื้นจากโควิด
เริ่มต้นในปี 2566 กับ “กลุ่มเดอะมอล์” หลังประกาศว่าปี 2566 คือปีทองของทางกลุ่ม ด้วยการเตรียมปล่อยเปิดรวดเดียว 3 สาขา ในแต่ละมุมเมือง มีพื้นที่รวมกันเกือบ ๆ ล้านตารางเมตร กับจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย “ดิ เอ็มสเฟียร์” ของอภิมหาโปรเจกต์ของทางค่ายที่จะมาเติมเต็มโครงการ “ดิ เอ็มดิสทริค” โดยจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมปี 2566 แว่วๆว่ามูลค่าการลงทุนน่าจะมากกว่า 16,000 ล้านบาท เป็นการเสริมขุมกำลังในย่าน “สุขุมวิท” ที่ทางค่ายมี “เอ็มโพเรี่ยม” และ “ดิ เอ็มควาเทียร์” ยึดหัวหาดอยู่แล้ว ให้เป็นย่านช้อปปิ้งระดับโลก ที่เจาะทั้งนักท่องเที่ยวและชาวไทยที่มีกำลังซื้อสูง
ตามมาด้วยอีก 2 สาขาเรือธงยอดขายท็อป 3 ของทางค่ายอย่าง “เดอะมอลล์ บางกะปิ” และ “เดอะมอลล์ บางแค” หลังปีที่ผ่านมาได้ประกาศรีโนเวตใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เป็นศูนย์การค้าครบวงจร mega all-in-one retail & entertainment project พื้นที่รวมกว่า 700,000 ตารางเมตร (บางกะปิ 350,000 ตารางเมตร, บางแค 350,000 ตารางเมตร) เป็นการแต่งตัวใหม่ในรอบกว่า 30 ปีที่ก่อตั้ง เดอะมอลล์ ทั้ง 2 สาขา ทั้งนี้เพื่อสร้างความแปลกใหม่ เพิ่มความทันสมัย อีกทั้งยังเป็นการรองรับการแข่งขันของค้าปลีกภายในย่านนั้นๆที่เริ่มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้เป้นอย่างดี
“คุณแอ๊ว-ศุภลักษณ์ อัมพุช” แม่ทัพใหญ่แห่งอาณาจักรเดอะมอลล์ เคยกล่าวไว้ในงานแถลงข่าวรีโนเวตสาขาบางกะปิ-บางแคว่า “ปีหน้าจะเป็นปีทองของอาณาจักรเดอะมอลล์ ที่จะเปิดศูนย์การค้าถึง 3 แห่งในปีเดียว แต่ยังถือเป็นปีทองของค้าปลีก เพราะตั้งแต่ปลายปีเป็นต้นไปถือเป็นช่วงการจับจ่ายสำคัญ ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น การคลายล็อกของจีนที่อาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า ทั้งหมดคือสัญญาณบวกในธุรกิค้าปลีกไทย ที่น่าจับตาดังนั้นการเปิดศูนย์ฯของเดอะมอลล์เอง หรือแม้กระทั่งผู้เล่นรายอื่นถือเป็นการเตรียมพร้อมรับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว”
นอกจากนี้ยังมีศูนย์การค้าสยามพารากอน ที่ทาง “เดอะมอลล์” จับมือกับ “สยามพิวรรธน์” ในการรีโนเวตครั้งใหญ่ในรอบ 17 ปี โดยมีเป้าหมายคือ “เพื่อทำให้คนอยากมา และพร้อมฝ่าระติดมาช้อปปิ้งใช้บริการที่นี่ให้ได้” โดยพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2566 เช่นกัน
“เซ็นทรัล” กับโปรเจ็กยักษ์ครอบคลุมทุกมุมเมือง
เมื่อพูดถึง “ธุรกิจค้าปลีก” จะไม่พูดถึงอาณาจักร “เซ็นทรัล” ที่มี “เซ็นทรัลพัฒนา” เป็นธุรกิจเรือธงหลักในการพัฒนาศูนย์การค้าในเครือที่มีอยู่กว่า 38 แห่งทั่วประเทศ ก็เห็นจะเป็นไปไม่ได้ แน่นอนในฐานะพี่ใหญ่ที่คร่ำหวอดมานานจากนี้ไปเซ็นทรัลพัฒนาเดินหน้าลงทุนโปรเจ็กต์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง หลังปีที่ผ่านมาเปิดตัวสุนย์การค้าใหม่ในเครือโดยเฉพาะในต่างจังหวัดมาแล้วแบบนับไม่ถ้วน และที่น่าจับตาในปีนี้ ประกอบไปด้วย
“เซ็นทรัล รามอินทรา โฉมใหม่” ที่เตรียมเปิดให้ชมอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2566 นี้ กับการเปลี่ยนชื่อจาก “เซ็นทรัลพลาซา รามอินทรา” เป็น “เซ็นทรัล รามอินทรา” (หลังมีการรีแบรนด์ศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลปีที่ผ่านมา) ด้วยงบลงทุน 1,600 ล้านบาท พื้นที่โครงการบนที่ดิน 10 ไร่ ที่จะมาพร้อม Brand Identity ใหม่ สอดคล้องกับการรีแบรนด์ของเซ็นทรัลพัฒนา และศูนย์การค้าในเครือ
โดยที่นี่จะพัฒนาให้เป็น “Third Place” เพื่อเป็น “New Urbanized Community” ของคนในย่านรามอินทรา รองรับเมืองที่ขยายตัว, การเพิ่มขึ้นของประชากรในย่าน รวมถึงรองรับระบบคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการมาของรถไฟฟ้า ด้วยจุดเด่น 3C’s คือ Convenient, Connected และ Comfortable for everyday life ทำให้ผู้คนในย่านนี้ได้ความสะดวกสบายมากขึ้นกับร้านค้ากว่า 200 ร้านค้า เพื่อเป็น Destination หลากหลาย ทั้ง Family Destination,Sports Destination
“เซ็นทรัล เวสต์วิลล์ ราชพฤกษ์” อีกหนึ่งโปรเจ็กไฮไลท์ในรูปแบบห้าง Semi-Outdoor ด้วยมูลค่ากว่า 6,200 ล้านบาท ในบรรยากาศน้ำตกฉ่ำเย็น พาสัตว์เลี้ยงเดินเล่นได้ บนพื้นที่ 40 ไร่ พลิกโฉมค้าปลีกกรุงเทพตะวันตก รับกำลังซื้อในย่าน มีจุดมุ่งหมายเพื่อเจาะทำเลราชพฤกษ์เชื่อมตรงสู่ Bangkok CBD บนที่ดิน 40 ไร่ พื้นที่ GFA 93,000 ตร.ม. สู่การเป็นย่านใหม่ Reinventing the Neighborhood ซึ่งจะเป็นการยกระดับฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ให้เป็นย่าน Upper-Class Lifestyle
มีจุดเด่น ได้แก่ The Evolution of Semi-Outdoor Retail Model จากเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ ผสมผสานพื้นที่สีเขียวเป็น Green Park ของเมือง รวมถึงมีพื้นที่กิจกรรมเอาท์ดอร์สำหรับครอบครัวและ Pet Friendly Space เพิ่มขึ้น รวมถึงการเป็น Eco-Friendly Mall ตอบรับ Emerging Lifestyle ด้วย Urban & Outdoor Activities ที่ทำได้ตลอดทั้งวันแบบ Day-to-Night โดยคาดว่าจะเปิดบริการไตรมาส 4 ปี 2566
ต่อกันที่อีกหนึ่งบริษัทในเครือเซ็นทรัล อย่าง “ซีอาร์ซี” อีกหนึ่งรีเทลในเครือเซ็นทรัลที่ยังคงเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อทะยานเบอร์ 1 ค้าปลีกภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง หากยังไม่นับรวมโปรเจ็กใหม่ที่ทางค่ายกำลังซุ่มพัฒนาในขณะนี้ เบื้องต้นในปี 2566 ทางค่ายได้เตรียมเปิดบริการห้างฯ หลังปรับปรุงใน 4 สาขา ได้แก่ ห้างเซ็นทรัลชิดลม,ห้างโรบินสัน แฟชั่นไอส์แลนด์ ,ห้างเซ็นทรัล เมกะบางนา ทั้งหมดล้วนเป็นสาขาหลักของทางค่าย ที่สามารถทำยอดขายได้ลำดับต้นๆ เป็นการปรับปรุงให้ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการ พร้อมทั้งเป็นการปลุกดีมานด์ลูกค้าได้เป็นอย่างดี
“สยามพิวรรธน์” กับไอคอนสยาม (ICS) เฟส 2 สร้างความเข้าถึงมากขึ้น
และสุดท้ายกับอีกหนึ่งบิ๊กโปรเจ็ก จากฝั่ง “สยามพิวรรธน์” เจ้าของโครงการแลนด์มาร์กค้าปลีกระดับโกลอย่าง “ไอคอนสยาม ” ที่ได้จับมือกับ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) และ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ร่วมลงทุนใหม่อีกครั้ง “ไอคอนสยาม เฟส 2” ที่มาพร้อมชื่อโครงการ “ไอซีเอส” หรือ ICS มิกซ์ยูส ไลฟ์สไตล์ ทาวน์ แห่งใหม่ มูลค่า 4,000 ล้านบาท พื้นที่ 5 ไร่ (ฝั่งตรงข้ามไอคอนสยาม เชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าเจริญนคร BTS สายสีทอง)
สำหรับโครงการ “ไอซีเอส” (ICS) มาพร้อมรูปแบบ “มิกซ์ยูส ไลฟ์สไตล์ ทาวน์” ที่จะเป็นแม็กเน็ตใหม่ย่านฝั่งธนฯ รวมพื้นที่ให้บริการรวม 70,000 ตารางเมตร เป็นอาคารสูง 29 ชั้น บนพื้นที่ 5-1-94 ไร่ มีพื้นที่รวม 70,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรม และอาคารสำนักงานในพื้นที่เดียวกันเป็นการต่อยอดจากไอคอนสยาม หลังเปิดให้บริการมากว่า 4 ปี มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะในพื้นที่กว่า 2 ล้านคน แบ่งเป็นลูกค้าในระดับ A และ B สัดส่วน 56% อายุ 31-50 ปี มาใช้บริการเดือนละ 2-3 ครั้ง
ทำให้ยังมีช่องว่างกลุ่มลูกค้าอีก 44% ที่สามารถขยายได้ ดังนั้นโครงการ ICS จึงเข้ามาเจาะฐานลูกค้าระดับ B ที่มีความแมสกว่าเป็นการเติมเต็มไอคอนสยามเดิม เข้าถึงได้ง่ายกว่า ไอคอนสยามเฟสแรก โดยได้ฤกษ์เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ 11 มกราคม 2566 นี้
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เหมือนกันของ “ห้างสรรพสินค้า-ศูนย์การค้า” ที่แต่ละค่ายเปิดตัวมานั้น ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความเป็นศูนย์การค้าแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเติมเต็มประสบการณ์ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ที่เปรียบเสมือนเมืองขนาดเล็กอีกเมืองหนึ่ง ให้ลูกค้าได้เสพความบันเทิงหรือการพักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบง่ายๆ อย่างการช็อปปิ้ง การชมภาพยนตร์ การหาอาหารรับประทาน หรือเพียงแค่ได้เดินตากแอร์ในห้างเท่านั้น และสร้างจุดแข็งในการเป็นแม็กเนตที่แตกต่างดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ แบบ One Stop Service เอาของที่อยู่ในพื้นราบมารวมกัน โดยมีทำเลยุทธ์ศาสตร์ที่แต่ละค่าประเมินแล้วว่า นั่นคือ Prime Area ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและเป็นจุดแข็งของตัวเอง
เมื่อรวมกับปัจจัยบวก พฤติกรรมลูกค้า ความสะดวกสบายที่ครบครัน ก็สามารถตอบโจทย์ ปลุกกำลังซื้อ พร้อมทั้งรองรับความต้องการในปี 2566 ที่หลายค่ายได้ออกมาประเมินว่าเป็นช่วงขาขึ้นของภาครีเทลขนาดใหญได้เป็นอย่างดี
อ่านเพิ่มเติม