บลูบิค (BBIK) ปิด 2 ดีลใหญ่มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท โดยเป็นการเข้าซื้อหน่วยธุรกิจ Digital Delivery จาก MFEC มูลค่า 691 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้บลูบิคมีนักพัฒนาด้านเทคโนโลยีกว่า 300 ชีวิตจาก MFEC เข้ามาเสริมทัพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ส่วนอีกดีลเป็นการควบรวมกิจการบริษัท อินโนวิซ โซลูชั่นส์ (Innoviz Solutions) ที่ปรึกษาและวางระบบ Microsoft Dynamics 365 เพื่อเสริมแกร่งด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์และบริการด้าน ERP โดยทั้งสองดีลนี้จะทำให้บลูบิคมีนักพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 780 คน และสามารถรองรับการขยายธุรกิจได้ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงแผนการเป็น Tech Company และ Venture Builder ระดับสากลตามโรดแมปที่วางไว้
ซื้อหน่วยธุรกิจ Digital Delivery จาก MFEC
สำหรับกระบวนการเข้าซื้อกิจการจะเริ่มหลังจากที่ MFEC จัดตั้งบริษัทย่อยสำหรับหน่วยธุรกิจนี้ โดยใช้เงินสดที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนครั้งแรก (Initial Public Offering – IPO) กระแสเงินสดจากการดำเนินงานและแผนการระดมทุนเพิ่ม ซึ่งกระบวนการดังกล่าวคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 1 ปี 2566
ทั้งนี้ การเข้าซื้อหน่วยธุรกิจ Digital Delivery ของ MFEC ทางบลูบิคมองว่า เป็นการเพิ่มขีดความสามารถการรองรับงานบริการให้คำปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี (Digital Excellence & Delivery หรือ DX) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่สร้างรายได้ให้กับบลูบิค และยังเป็นการต่อยอดทางธุรกิจในอนาคตผ่านการ Synergy ร่วมกันกับทาง MFEC อีกด้วย รวมทั้งช่วยเรื่องการประหยัดต้นทุนในการบริหารงานจาก Economy of Scale ซึ่งหลังจากกระบวนการควบรวมกิจการเสร็จสิ้น จะมีผลให้ทีมงานนักพัฒนาเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันของกลุ่มบริษัทฯ เพิ่มมากขึ้นถึง 500 คน สามารถรองรับความต้องการในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของภาคธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ในด้านการบริหารงาน คุณพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยว่า บริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นจะบริหารอย่างอิสระแยกจากบลูบิค และทางคุณศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ซีอีโอของ MFEC จะรับตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับบริษัทใหม่แห่งนี้เป็นเวลา 2 ปี
ขยายฐาน ERP เจาะธุรกิจขนาดกลาง
ในขณะที่การควบรวมกิจการกับ บริษัท อินโนวิซ โซลูชั่นส์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านการวางระบบ ERP ของ Microsoft Dynamics 365 ที่ได้รับการรับรองเป็น Gold Certified Partner จากบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด นั้น จะทำให้บลูบิคมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญระบบ ERP จำนวนมากกว่า 130 คน ที่เติมเข้ามาจาก Innoviz ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ และตอบสนองความต้องของลูกค้ากลุ่มเดิมของบลูบิคได้ด้วย อีกทั้งเป็นการขยายบริการและผลิตภัณฑ์หลักของบลูบิคไปยังฐานลูกค้าของ Innoviz ที่มีอยู่มากกว่า 200 ราย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค การเงินและธนาคาร และหน่วยงานภาครัฐนั่นเอง
สำหรับกระบวนการควบรวมกิจการของ Innoviz จะแบ่งการชำระค่าหุ้นออกเป็น 3 งวด งวดแรกจะเริ่มต้นในไตรมาส 1 ปี 2566 และจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2568 โดยบลูบิคจะเข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมดด้วยเงินสด
- งวดที่ 1 เข้าซื้อในสัดส่วน 55% โดยใช้เงินกู้ยืมจากสถาบัน ในราคาซื้อขายหุ้นที่เท่ากับกำไรสุทธิของ Innoviz ในปี 2565 คูณด้วย 12 เท่าของ P/E และคูณด้วยสัดส่วนหุ้น 55%
- งวดที่ 2 ในสัดส่วน 30% โดยราคาซื้อขายหุ้นจะเท่ากับกำไรสุทธิของ Innoviz ในปี 2566 คูณด้วย 16 เท่าของ P/E และคูณด้วยสัดส่วนหุ้น 30%
- งวดสุดท้าย ในสัดส่วน 15% ซึ่งราคาซื้อขายหุ้นจะเท่ากับกำไรสุทธิของ Innoviz ในปี 2566 คูณด้วย 16 เท่าของ P/E และคูณด้วยสัดส่วนหุ้น 15% สำหรับการชำระค่าหุ้นในงวดที่ 2 และ 3 นั้น บริษัทฯ จะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
ทั้งนี้ คุณพชร กล่าวถึงดีลดังกล่าวด้วยว่ามาจากโจทย์ในการทำ Digital Transformation ของโลกธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนไป โดยปัจจุบัน การทำ Digital Transformation คือการยกระดับไปสู่การเป็น Digital-First Company ซึ่งผู้ที่ปรับตัวได้จะเข้าถึงโอกาสอีกมากมาย พร้อมกันนั้น คุณพชร ยังได้ยกตัวอย่างของอุตสาหกรรมที่ Transformation ได้สำเร็จแล้ว เช่น สถาบันการเงิน ว่าปัจจุบัน 80% ของ Transaction ที่เกิดขึ้นมาจากดิจิทัลแล้ว และสถาบันการเงินก็ยังเป็นธุรกิจที่ทำรายได้มหาศาลแม้โลกจะเจอสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงต่าง ๆ มากมาย
“การขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องของบลูบิคนั้นเป็นไปตามแผนการลงทุนที่บริษัทฯ ได้วางไว้ เพื่อรองรับกระแสการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และความต้องการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้สร้างข้อได้เปรียบในภาคธุรกิจที่ยังคงแรงต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกเหล่านี้ทำให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ที่สะท้อนผ่านผลประกอบของบริษัทฯ ที่สามารถทำนิวไฮในหลายไตรมาสติดต่อกัน ดังนั้นการเข้าซื้อกิจการของทั้ง 2 บริษัท จะทำให้การเติบโตนับจากนี้ของ บลูบิค โดยเฉพาะในปี 2566 เป็นไปอย่างน่าจับตามอง จากผลพวงของจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี เป็นการตอกย้ำความเป็น Tech Company ที่มุ่งเน้นการเป็น Venture Builder ระดับสากล” คุณพชร กล่าวทิ้งท้าย