HomeBrand Move !!เจาะกลยุทธ์ “บำรุงราษฎร์” ปั้น Pride Clinic ลุยตลาด LGBTQ+ เต็มสูบ! หวังให้เป็นคลินิกครบวงจรสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ ใน 2 ปี

เจาะกลยุทธ์ “บำรุงราษฎร์” ปั้น Pride Clinic ลุยตลาด LGBTQ+ เต็มสูบ! หวังให้เป็นคลินิกครบวงจรสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ ใน 2 ปี

แชร์ :

แม้ตอนนี้ประเทศไทยจะยังไม่มีตัวเลข “กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ” หรือ “LGBTQ+” ชัดเจน แต่จากข้อมูลของ LGBT Capital.com ที่คาดการณ์ว่า กลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลกมีจำนวนกว่า 480 ล้านคน ขณะที่ในไทยมีประมาณ 4 ล้านคน หรือคิดเป็น 6% ของประชากรทั่วโลก ประกอบกับค่านิยมที่เปลี่ยนไป สังคมเริ่มยอมรับในความแตกต่างและหลากหลายมากขึ้น ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ กลายเป็นหนึ่งในเซ็กเม้นต์ที่มีศักยภาพและน่าจับตาอย่างมาก ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นแบรนด์ต่างๆ ขยับมาผลิตสินค้าและพัฒนาบริการออกมาเจาะตลาดนี้กันอย่างคึกคักขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบความต้องการแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้เล่นในสนามนี้ต้องให้ความสำคัญเช่นกันคือ การเข้าใจ “อินไซต์” ของผู้บริโภคกลุ่มนี้อย่างลึกซึ้ง เพื่อนำมาต่อยอดการทำตลาดให้มัดผู้บริโภคกลุ่มนี้มากขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หนึ่งในตัวอย่างการทำตลาดกับกลุ่ม LGBTQ+ ที่น่าสนใจอย่างมาก คือ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กับการเปิดให้บริการ “Pride Clinic” เพื่อให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ครบทุกมิติ ซึ่งปัจจุบัน Pride Clinic เปิดให้บริการมากว่า 1 ปีแล้ว และได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าอย่างมาก Brand Buffet จึงชวนมาทำความรู้จัก Pride Clinic พร้อมวิธีมัดใจผู้บริโภคกลุ่มนี้จนอยู่หมัด

ตลาด LGBTQ+ โตพุ่ง! ต่อยอดจุดแข็งสู่ Pride Clinic

นพ.เบญทวิช สุรศาสตร์พิศาล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ครอบครัว Pride Clinic โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ เล่าถึงที่มาและแนวคิดของการเปิด Pride Clinic ว่า เกิดจากการเห็นความสำคัญของกลุ่ม LGBTQ+ ที่ขยายตัวมากขึ้น และจากประสบการณ์ของทีมแพทย์ที่ได้พูดคุยกับกลุ่มคนหลากหลาย ทำให้พบว่า คนกลุ่มนี้มีความต้องการรับการบริการทางการแพทย์หลากหลาย แต่การให้บริการที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะมีข้อจำกัด จึงตัดสินใจเปิด Pride Clinic ขึ้นในเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อเป็นคลินิกเฉพาะสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ

นพ.เบญทวิช สุรศาสตร์พิศาล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ครอบครัว Pride Clinic โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์

โดยในช่วงแรกจะเน้นให้บริการด้านสุขภาพ ด้วยการนำจุดแข็งของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่มีในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการรักษามาออกแบบบริการและให้การดูแลแบบเฉพาะบุคคล (Personalized) ตั้งแต่การให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษา ป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ จนถึงฟื้นฟูสุขภาพทั้งกายและใจ

“เราไม่ได้ให้บริการแค่กลุ่ม LGBTQ+ เท่านั้น แต่เราวางจุดยืนเป็น Life-time Health Partner ดูแลกันตลอดชีวิตทั้งผู้ที่มารับบริการ รวมถึงผู้ปกครอง และญาติๆ ของผู้มารับบริการ เพราะแต่ละคนมีเป้าหมายแตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เช่น บางคนอยากปรับเปลี่ยนเพศสภาพไปเลย แต่บางคนต้องการเติมบางอย่างในร่างกายเพียงนิดเดียว หน้าที่ของเราจึงต้อง Tailor-Made ทำความเข้าใจเป้าหมายของเขา และใช้ระบบการดูแลแบบแพทย์ประจำตัว (Primary Care Physician) โดยแพทย์จะรับฟังอย่างเข้าใจ พร้อมให้คำปรึกษา และแนะนำผู้รับบริการและครอบครัวร่วมกัน”

นพ.เบญทวิช บอกถึงจุดแข็งของ Pride Clinic ที่แตกต่าง และบอกว่า ในช่วงแรกที่เปิดให้บริการ ผู้รับบริการอาจจะยังไม่มาก เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 แต่หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายดีขึ้น ตอนนี้คนไข้เริ่มเข้ามาปรึกษาอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 2-3 เคสต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการบอกเล่าปากต่อปาก มีทั้งกลุ่มคนไทย 50% และชาวต่างชาติ 50% ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และมาเลเซีย ส่วนกลุ่มคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น

โดยปัญหาที่ผู้รับบริการเข้ามาปรึกษามากที่สุดคือ การให้ฮอร์โมน, และ สุขภาพทางเพศ (Sexual Health) เพราะเดิมทีหญิงข้ามเพศมักจะซื้อฮอร์โมนมารับประทานเอง แต่สิ่งที่เจอคือ ฮอร์โมนส่วนใหญ่ที่เขาใช้เป็นยาคุมกำเนิด ซึ่งไม่แนะนำ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาลิ่มเลือดดำอุดตันในปอดได้ ขณะเดียวกัน การตรวจระดับฮอร์โมน ไม่สามารถประเมินจากภายนอกได้ว่าระดับฮอร์โมนอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งระดับฮอร์โมนที่เกินจะนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ส่วนเรื่องสุขภาพทางเพศนั้น ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังขาดแหล่งข้อมูลหรือสถาบันที่สามารถในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพเพศของ LGBTQ+ อย่างครบวงจร

ขยายบริการด้าน Sexual Health ตั้งเป้าเป็นคลินิกครบวงจรสำหรับ LGBTQ+

จากกระแสการตอบรับที่ดีต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการด้านสุขภาพเพศของกลุ่ม LGBTQ+ ที่เพิ่มขึ้น ล่าสุด Pride Clinic จึงได้ขยายการให้บริการด้าน Sexual Health เพิ่มขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 5 บริการหลักๆ ประกอบด้วย 1. การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV prevention) 2. การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (STI: Sexual transmitted infection) 3. การให้คำปรึกษาเรื่องเพศวิถี (Sexual orientation counseling) 4. การให้คำปรึกษาเรื่องรสนิยมทางเพศที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานทางสังคม (sexual preference) และ 5. ปัญหาสุขภาพเพศในบุคคลหลากหลายทางเพศ (LGBTQ sexual health problems)

แม้ Pride Clinic จะได้รับการตอบรับจากกลุ่ม LGBTQ+ มาอย่างต่อเนื่อง แต่ นพ.เบญทวิช ยอมรับว่า การดูแลคนกลุ่มนี้มีความยาก 2 ประเด็น อย่างแรกคือ การ Provide สิ่งแวดล้อมให้ตอบสนองความต้องการได้ทุกจุด เช่น ห้องน้ำ อย่างที่สอง คือ ความก้าวหน้าทางวิชาการในเรื่องนี้ยังน้อย ทำให้แพทย์ที่สนใจและรักในเรื่องนี้จริงๆ ต้องแสวงหาการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

สำหรับหัวใจสำคัญที่ทำให้ Pride Clinic สามารถมัดใจกลุ่ม LGBTQ+ และเกิดการบอกต่อปากต่อปากมาอย่างต่อเนื่อง ต้องยอมรับว่า มาจาก “บริการ” ที่ตอบความต้องการอย่างตรงจุด ซึ่งเกิดมาจากการศึกษา Insight ของลูกค้ากลุ่มนี้อย่างแท้จริง ทั้งยังมีทีมแพทย์ที่เข้าใจและเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ จึงทำให้สามารถนำ Pain Point เหล่านี้มาพัฒนาเป็นบริการตอบทุกความต้องการ และมีคุณภาพปลอดภัย

สำหรับเป้าหมายในอนาคต นพ.เบญทวิช บอกว่า อยากจะให้ Pride Clinic เป็นคลินิกครบวงจรแบบ Holistic Integrated สำหรับกลุ่ม LGBTQ+ โดยในปัจจุบันเปิดให้บริการไปแล้ว 2 ส่วน คือ บริการด้านสุขภาพ และ สุขภาพทางเพศ ส่วนบริการที่ 3 คาดว่าจะเปิดตัวอีกประมาณ 2 ปี  ซึ่งจะทำให้ Pride Clinic กลายเป็นคลินิกที่ครบวงจรสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ อย่างแท้จริง


แชร์ :

You may also like