ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในปีนี้จะไม่หนักและสาหัสเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นไม่หยุด ทำให้เกือบตลอดทั้งปีคนไทยยังรัดเข็มขัดแน่น และความสุขในการใช้ชีวิตลดลง แต่ผลสำรวจ “พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย ประจำเดือนธันวาคม 2565” ของ “สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด (ประเทศไทย)” และ “บริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล (จำกัด)” พบว่า ความสุขคนไทยกำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจับจ่ายสินค้าพุ่งสูงสุดในรอบ 2 ปี เพื่อให้แบรนด์สามารถวางกลยุทธ์การตลาดเจาะถึงผู้บริโภคแต่ละกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ ตามมาดูอินไซต์ความต้องการใช้จ่ายของคนไทยนี้ไปพร้อมกัน
เรื่องงานพักก่อน คนไทยเตรียมช้อปปิ้งสูงสุดในรอบ 2 ปี
แม้ตอนนี้โควิด-19 จะเริ่มกลับมาระบาดใหม่ แต่ผลสำรวจครั้งนี้ พบว่า คนไทยมีแนวโน้มการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งระดับความสุขที่เพิ่มขึ้น 1% โดยเฉพาะสาวๆ สุขเพิ่มขึ้นอีก 2% เพราะนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเดินทางอีกครั้ง อีกทั้งปลายปียังมี “โบนัส” รออยู่ ทำให้สภาพจิตใจโดยรวมดีขึ้น รวมถึงความต้องการอยากใช้จ่ายสูงทำลายทุกสถิติในรอบ 2 ปี ที่ 69% ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกระตุ้นเชิงบวกจากภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก เทศกาล Festive และโปรโมชั่นจากแบรนด์ ส่งผลให้คนไทยพร้อมเปย์ ด้วยการหาของขวัญให้ตัวเอง ครอบครัว และคนที่รัก ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ใหม่ เสื้อใหม่ รวมถึงร้านอาหารเปิดใหม่ และรถป้ายแดง เพราะอยาก “ปลดล็อก” จากความกังวล
โดยสินค้า 10 อันดับแรกที่ผู้บริโภคต้องการจับจ่ายมากที่สุด คือ
1.อาหารและเครื่องดื่ม
2.โทรศัพท์มือถือ, สมาร์ทโฟน
3.ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน
4.เสื้อผ้า
5.ท่องเที่ยวในประเทศ
6.ทานอาหารนอกบ้าน
7.ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม 6%
8.รองเท้า กระเป๋า
9.เครื่องใช้ไฟฟ้า
10.รถจักรยานต์ยนต์, อะไหล่รถจักรยานยนต์
วัยรุ่นเน้นช้อปเพื่อ Self-Branding วัยกลางคนเน้นช้อปเพื่อสานสัมพันธ์
หากแบ่งสัดส่วนตามภาค จะพบว่า คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแนวโน้มในการใช้จ่ายเป็นบวกสูงสุดที่ +7% เนื่องจากเตรียมตัวซื้อของฝาก ส่งเงินให้ที่บ้าน และเดินทางท่องเที่ยวมากกว่าภาคอื่น ตามด้วยภาคกลาง เพิ่มขึ้น 4% ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มขึ้น 3% ส่วนภาคใต้ 0% ขณะที่ภาคเหนือ เป็นภาคเดียวที่ความต้องการใช้จ่ายติดลบ -3% เนื่องด้วย เนื่องด้วยปัญหาสภาพอากาศ เช่น ฝุ่นละออง PM2.5 ค่าตั๋วเครื่องบินที่ปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในการเดินทาง
แต่หากจำแนกตามวัยและช่วงอายุ พบว่า วัยรุ่นและวัยทำงาน ช่วงอายุ 20-39 ปี เน้นจับจ่ายสินค้าที่แสดงออกความเป็นตัวตน (Self-Branding) รวมถึงร่วมกิจกรรมเพื่อทำคอนเทนท์โซเชียลในอีเวนท์เทศกาลต่างๆ ส่วนวัยกลางคน ช่วงอายุ 40-59 ปี เน้นจับจ่ายเพื่อสานสัมพันธ์ ซื้อของฝาก ของขวัญแก่ลูกหลาน ญาติสนิทมิตรสหาย
นอกจากนี้ ผลสำรวจ ยังพบว่า แม้คนไทยเข้าสู่โหมดอยากพักผ่อนช่วงปีใหม่ แต่ก็มีเรื่องให้กังวลใจ โดยเฉพาะภัยรอบตัวที่น่ากลัวกว่าโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเหตุกราดยิง หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงทำให้หันมาใส่ใจเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น โดย 5 สิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในช่วงนี้ อันดับแรกคือ ครอบครัว ตามด้วยสุขภาพ ความมั่งคั่ง การงาน และความปลอดภัย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนไทยให้ความสำคัญด้าน “ความปลอดภัย” ติดอันดับ Top 5 สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้จะอยากเต็มที่กับความสุข แต่ยังใช้ชีวิตแบบ “Balance Life” คือ ระมัดระวังกับเหตุการณ์รอบตัว
ส่วนประเด็นความสนใจข่าวสารบ้านเมือง พบว่า ปัจจุบันความสนใจของผู้คนมีความผันผวนตลอดเวลา จากสถานการณ์บ้านเมืองที่มีให้ตกใจรายวัน เช่น ข่าวน้ำท่วม ข่าวการกราดยิง ทำให้คนไทยไม่มีความสนใจหรือกังวลเรื่องข่าวการระบาดของโควิด-19 แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคชาวไทยมีแนวโน้มเสพข่าวอย่างมีสติและเหตุผลมากขึ้น ไม่ใช่อารมณ์ในการตัดสินใจเนื้อหาของข่าวนั้นเพียงอย่างเดียว จนกว่าจะได้รู้เนื้อหาของข่าวทั้งหมด และช่วยกันคอมเม้นต์เพื่อดึงสติไม่ให้ไหลไปตามกระแสอารมณ์ของโซเชียล
แนะ 2 กลยุทธ์ รับความต้องการใช้จ่ายพุ่ง
จากแนวโน้มความต้องการในการจับจ่ายสินค้าของคนไทยสูงสุดในรอบ 2 ปี ทีมวิจัยจึงได้ให้คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางให้แบรนด์ต่างๆ เตรียมพร้อม สร้างโอกาสให้สินค้าและบริการของตนเองอย่างเต็มที่ ดังนี้
1.คำว่า ‘เปิด’ เป็นกิมมิคที่ใช้ช่วงนี้แล้วปัง!
เมื่อการจับจ่ายในช่วงท้ายปีเข้ามา คนไทยกำลังอินกับการเปิดรับสิ่งใหม่ ไม่ใช่แค่ให้รางวัลกับตัวเอง แต่ซื้อเพื่อเติมเต็มความรู้สึกของผู้อื่นด้วย เช่น การแสดงความขอบคุณ ความรัก หรือ reconnect กับครอบครัว เพื่อก้าวสู่ปีใหม่ที่ดีกว่าเดิม แบรนด์จึงควรใช้จังหวะนี้กระตุ้นให้คนออกมาเปิดหูเปิดตา ด้วยกิจกรรมใหม่ๆ โดยใช้ Keyword ‘การเปิด’ เพื่อสร้างอารมณ์การมีส่วนร่วมกับแบรนด์ทั้งในด้านการสื่อสาร และการสร้างประสบการณ์ร่วม (Engagement) เช่น เปิดตู้เสื้อผ้า อัพลุคใหม่ เปิดประตูออกเดินทางไปเที่ยว เปิดลิฟต์เสพบรรยากาศสวยๆบน rooftop
2.‘ผสมผสาน’ การคือกลยุทธ์การตลาดที่ต้องทำ
โควิด-19 ทำให้วิถีชิวิตคนไทยเปลี่ยนอย่างถาวร ช่องทางจับจ่ายเปลี่ยนไปจากสิ่งที่ไม่เคยทำจนเป็นเรื่องคุ้นเคย แบรนด์จึงต้องประเมินช่องทางสร้างประสบการณ์กับลูกค้า (Touchpoint) ทุกมิติ ทั้งออนไลน์หรือออฟไลน์ และจัดกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วม (Interaction) ช่องทางการจำหน่าย (Distribution) และการสื่อสาร (Communication) เป็นลูกผสมกันไปเพื่อปิดรอยรั่วในช่วงลูกค้าที่มีกำลังซื้อที่ไหลเข้ามา เช่น หากปัจจุบันเน้นที่ลูกค้า online เป็นหลัก อาจต้องพิจารณาเพิ่มกิจกรรมหน้าร้าน (physical) เพื่อตอบสนองลูกค้าที่หันกลับมาเดินกันมากขึ้น