ช่วง 3 ปีของสถานการณ์โควิด-19 อุตสาหกรรมภาพยนตร์กระทบหนัก ไม่ว่าจะเป็น “โรงหนัง” ถูกสั่งปิดชั่วคราวยาวนานหลายเดือน จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่วน “สตูดิโอสร้างหนัง” เลื่อนฉายหนังฟอร์มยักษ์ออกไปในช่วงโควิด
“เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” โรงหนังเบอร์หนึ่งได้รับผลกระทบเช่นกัน ดูได้จากตัวเลขก่อนโควิด ปี 2562 ทำรายได้ 10,822 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,170 ล้านบาท
ปี 2563 เจอผลกระทบโควิดถูกสั่งปิดโรงหนังหลายเดือน จบปีรายได้เหลือ 3,936 ล้านบาท “ขาดทุน” 527 ล้านบาท เป็นครั้งแรกที่เมเจอร์ฯ ขาดทุน ในรอบ 18 ปี นับตั้งแต่เข้าตลาดฯ ในปี 2545
มาปี 2564 ทำรายได้ 3,365 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,581 ล้านบาท การกลับมากำไรครั้งนี้ มาจากเมเจอร์ฯ ได้ขายหุ้นทั้งหมดหรือสัดส่วน 30.36% ในบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ในราคาหุ้นละ 12 บาท คิดเป็นมูลค่า 7,765 ล้านบาท ให้กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ทำให้ ปี 2564 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 2,109 ล้านบาท หรือ 400%
การขายหุ้น สยามฟิวเจอร์ฯ เจ้าของศูนย์การค้า 19 แห่ง รวมทั้ง “เมกา บางนา” ออกไปในปี 2564 ส่วนหนึ่งเพื่อนำเงินจากการขายหุ้นมาสร้างสภาพคล่อง (cash flow) ให้ธุรกิจโรงหนัง ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก (core business) ของเมเจอร์ฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รวมทั้งในขณะนั้นกลุ่มผู้ก่อตั้ง สยามฟิวเจอร์ฯ ต้องการ Exit จากตลาดฯ จึงเป็นที่มาของการขายหุ้นทั้งหมดให้กับ CPN
“มาถึงวันนี้ เมเจอร์ฯ พ้นขีดต่ำสุดจากสถานการณ์โควิดไปแล้ว” คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าว
สะท้อนได้จากผลประกอบการ เมเจอร์ฯ ช่วง 3 ไตรมาสแรก ปี 2565 มีรายได้ 4,820 ล้านบาท กำไรสุทธิ 108 ล้านบาท
“ป๊อปคอร์น” ธุรกิจดาวรุ่งสร้างรายได้ใหม่
ในช่วงโควิดปี 2563 ที่โรงหนังถูกสั่งปิดชั่วคราว เมเจอร์ฯ ได้เริ่มนำ “ป๊อปคอร์น” สินค้าหลักจากส่วนบริการ Concession หน้าโรงภาพยนตร์ มาเริ่มจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก จากนั้นขยายการจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ พร้อมจัดโปรโมชั่นพิเศษ ทำให้มียอดขายป๊อปคอร์น เป็นเบอร์หนึ่งในช่องทางอีคอมเมิร์ซ
จากช่วงเริ่มต้นปี 2563 ขายป๊อปคอร์นผ่านเดลิเวอรี่ ทำยอดขายได้วันละ 10,000 บาท มาถึงวันนี้ทำยอดขายได้วันละ 1 ล้านบาทแล้ว
ปี 2562 ก่อนโควิด เมเจอร์ฯ มีรายได้จากบริการ Concession สินค้าหลักคือป๊อปคอร์น ราว 2,000 ล้านบาท สัดส่วน 20% ของรายได้
ในปี 2565 รายได้จากธุรกิจภาพยนตร์ยังไม่กลับมาปกติเหมือนก่อนโควิด ขณะที่ธุรกิจป๊อปคอร์น ได้ขยายช่องทางขายสินค้า POPSTAR เข้าสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรด ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป รวมทั้งร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ทั่วประเทศ 12,000 สาขา ทำให้ยอดขายป๊อปคอร์น บางเดือนขึ้นมาอยู่ที่สัดส่วน 70% ของรายได้เมเจอร์ฯ
คาดว่าสิ้นปี 2565 จะมียอดขายจากธุรกิจป๊อปคอร์น 2,500 ล้านบาท
ปี 2566 ป๊อปคอร์นยอดขาย 5,000 ล้าน
แผนธุรกิจในปี 2566 เมเจอร์ฯ จะขยายธุรกิจป๊อปคอร์นต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่องทางนอกโรงหนัง (Out Cinema) ทั้งแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่, Kiosks & Event สิ้นปี 2565 มี Kiosks นอกโรงภาพยนตร์รวม 19 สาขา ในปี 2566 จะเปิด Kiosks เพิ่มอีก 20 สาขา ช่องทางโมเดิร์นเทรด ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต
โดยจะปรับ “กลยุทธ์ราคา” ใหม่ในช่องทาง “เซเว่น อีเลฟเว่น” จากเดิมที่วางขายป๊อปคอร์น POPSTAR แบบซอง 3 รสชาติ ได้แก่ รสคลาสสิค, รสชีส และรสข้าวโพดปิ้ง ขนาด 40 กรัม ราคาซองละ 35 บาท จะเปลี่ยนเป็นซองราคา 20-25 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะกับร้านสะดวกซื้อ ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
หลังจากเมเจอร์ฯ เข้าไปลงทุนถือหุ้นใน บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาเกตติ้ง จํากัด (มหาชน) หรือ TKN สัดส่วน 10% มูลค่า 1,200 ล้านบาท ถือเป็น strategic partner ที่จะสร้างการเติบโตไปด้วยกัน โดยเถ้าแก่น้อย จะเข้าช่วยขยายช่องทางการจัดจำหน่ายป๊อปคอร์น ในโมเดิร์นเทรดและร้านค้าทั่วไป (traditional trade) ทั่วประเทศ รวมทั้งตลาดต่างประเทศ
รวมทั้งจะร่วมกันพัฒนาสินค้า รสชาติป๊อปคอร์นที่หลากหลาย และโรงงานเถ้าแก่น้อย จะเป็นผู้ผลิตป๊อปคอร์น ให้เมเจอร์ฯ ด้วย
ในปี 2566 เมเจอร์ฯ วางเป้าหมายยอดขายธุรกิจป๊อปคอร์น ไว้ที่ 5,000 ล้านบาท เพิ่มเขึ้นเท่าตัวจากปีนี้ เป็นยอดขายในโรงหนัง 40% และนอกโรงหนัง 60%
“ไม่คิดว่าธุรกิจป๊อปคอร์น จะทำรายได้ให้เมเจอร์ฯ ได้มากขนาดนี้ เป็นเพราะแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่เติบโตเร็วและเข้าถึงลูกค้าจำนวนมาก ปี 2565 ยอดขายป๊อปคอร์นน่าจะทำได้ 2,500 ล้าน ปีหน้าวางไว้ 5,000 ล้าน สัดส่วน 50% เท่ากับรายได้ตั๋วหนัง เป็นปีที่เมเจอร์ฯ กลับมามีรายได้ 10,000 ล้านอีกครั้ง”
หากดูโอกาสธุรกิจป๊อปคอร์น ที่มีเถ้าแก่น้อย เป็นพันธมิตรทั้งผลิตและกระจายสินค้าให้ ในอนาคตอาจมีรายได้มากกว่าตั๋วหนังก็เป็นไปได้ แต่โรงหนังยังเป็น Core Business ของเมเจอร์ฯ
ลงทุน 1,000 ล้าน เดินหน้าขยายโรงหนัง
อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในปี 2565 ฟื้นตัวจากโควิดแล้ว ส่วนธุรกิจโรงหนังของเมเจอร์ฯ ปีนี้กลับมาแล้ว 70% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด
ในปี 2566 เมเจอร์ฯ ประเมินว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะกลับสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนโควิด สตูดิโอดังเตรียมปล่อยหนังฮอลลีวู้ดฟอร์มยักษ์ออกฉายในโรงหนังต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Spider Man, Ant- Man and The Wasp, John Wick, Fast & Furious 10, The Little Mermaid, Transformers, Indiana Jones, The Marvels, Mission Impossible, The Hunger Games, Aquaman and the Lost Kingdom เป็นต้น
สำหรับในปี 2566 จะเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีนับจากโควิด ที่เมเจอร์ฯ จะขยายสาขาโรงภาพยนตร์มากที่สุดถึง 13 สาขา 49 โรง ด้วยงบลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท
โรงหนังที่เตรียมลงทุนในปีหน้า เช่น โครงการ One Bangkok ,เซ็นทรัล เวสต์ วิลล์ ราชพฤกษ์, โรบินสัน ฉลอง, โลตัส เปิดที่ นครนายก สระแก้ว นราธิวาส ปัตตานี, บิ๊กซี เปิดที่ บางบอน สระบุรี ยะลา เปิดกับไฮเปอร์ มาร์เก็ต 2 สาขา และเปิดสาขาสแตนด์อโลนที่ภูเก็ต ตลอดจน ขยายสาขาโบว์ลิ่ง เพิ่มอีก 3 สาขา 40 เลน และ คาราโอเกะ 30 ห้อง
ปัจจุบัน เมเจอร์ฯ มีสาขาโรงภาพยนตร์ที่เปิดให้บริการ ณ สิ้นปี 2565 รวมทั้งสิ้น 180 สาขา 839 โรง 188,973 ที่นั่ง
สาขาในประเทศ 172 สาขา 800 โรง 180,081 ที่นั่ง
– สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 44 สาขา 346 โรง 77,605 ที่นั่ง
– สาขาในต่างจังหวัด 128 สาขา 454 โรง 102,919 ที่นั่ง
สาขาต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง
– สาขาในประเทศลาว 3 สาขา 13 โรง 3,235 ที่นั่ง
– สาขาในประเทศกัมพูชา 5 สาขา 26 โรง 5,368 ที่นั่ง
สาขาโบว์ลิ่ง บลูโอ ริธึม แอนด์ โบว์ล เปิดให้บริการ 8 สาขา 210 เลน, คาราโอเกะ 121 ห้อง, ห้องแพลตตินั่ม 9 ห้อง
บูมตลาดหนังไทย
นอกจากนี้ เมเจอร์ฯ มองภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมหนังไทยมีโอกาสเติบโตจากกำลังซื้อในประเทศและการขยายโรงหนังครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจะผลักดันให้หนังไทยมีส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศให้ได้ 50%
เมเจอร์ฯ กับพันธมิตรวางเป้าหมายผลิตหนังไทยเข้าฉายในโรงให้ได้ปีละ 20 เรื่อง เฉลี่ยเดือนละ 2 เรื่อง ใช้งบลงทุนเฉลี่ยเรื่องละ 35 ล้านบาท (1 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น King of Content Hub หวังสร้างหนังไทยป้อนสู่ตลาดโลก
พร้อมผลักวัฒนธรรมบันเทิงผ่านภาพยนตร์ให้เกิด Soft Power นำรายได้เข้าสู่ประเทศผ่านเนื้อหาในภาพยนตร์ อาทิ ตัวละคร เครื่องแต่งกาย สถานที่ และอาหารในเมืองไทย เทียบชั้นกับประเทศเกาหลีใต้ที่ขึ้นเป็น Role Model ของอุตสาหกรรมบันเทิงโลก ซึ่งในที่สุดจะนำรายได้กลับสู่ประเทศไทย และทำให้ GDP ของประเทศไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
อ่านเพิ่มเติม
- สรุป 10 เรื่องข้อดี-ข้อเสียและทิศทาง ‘เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์’ หลังขายหุ้นสยามฟิวเจอร์ฯ
- เปิดแผน “เมเจอร์ฯ 2021” สร้างรายได้หลายทาง เป็น Content Provider – ขายป๊อปคอร์นในซูเปอร์มาร์เก็ต