ผลการวิจัยล่าสุดโดย Oxford Economics และเอสเอพี (NYSE: SAP) เผยว่าองค์กรธุรกิจทั่วเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (APJ) ยังต้องดำเนินการในอีกหลายแง่มุมเพื่อเพิ่มประโยชน์ที่จะได้รับจากกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ในขณะที่ 66% ของธุรกิจไม่คิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุความยั่งยืน และทำกำไรให้องค์กรได้ในเวลาเดียวกัน แต่มีเพียง 8% เท่านั้นที่บอกว่าพวกเขาได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์ดังกล่าว
จากผลสำรวจบ่งชี้ว่าประโยชน์ที่องค์กรได้รับเป็นอันดับแรกจากกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน คือ การที่องค์กรสามารถลดความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (46%) ซึ่งมากกว่าการปล่อยคาร์บอนที่ลดลงและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยการให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบมากเกินไปถือเป็นความท้าทายสูงสุดอันดับสองต่อความสำเร็จด้านความยั่งยืนของผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาค APJ รองลงมา คือ การขาดการคิดค้นกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่
คุณเอทูล ทูลิ กรรมการผู้จัดการ เอสเอพี อินโดไชน่า กล่าวว่า “ความยั่งยืนเป็นความท้าทายทางธุรกิจของคนรุ่นเราอย่างไม่ต้องสงสัย ธุรกิจส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีวิสัยทัศน์ที่ดีในด้านความยั่งยืน และได้เริ่มนำแนวปฏิบัติด้าน ESG มาใช้ในกลยุทธ์ของพวกเขา แต่จากงานวิจัยของเราพบว่า มีเพียงไม่กี่องค์กรเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์เหล่านี้”
สำหรับองค์กรธุรกิจในภูมิภาค APJ ความแม่นยำของข้อมูล (Accurate Data) ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอน รองจากเรื่องการจัดหาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Sourcing) อย่างไรก็ตาม มีเพียง 40% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าพวกเขาลงทุนในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวัดความยั่งยืนในธุรกิจของตน และในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน (41%) กล่าวว่าพวกเขากำลังฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับวิธีการรวบรวมข้อมูลด้านความยั่งยืน
กลยุทธ์การใช้ข้อมูล 3 ประการ เพื่อเป้าหมาย ESG
ขั้นตอนแรก คือ การทำรายงานตามกฎระเบียบเพื่อสร้างความโปร่งใส จากข้อมูลของ BCG พบว่า องค์กรถึง 85% มีความกังวลเกี่ยวกับการลดการปล่อยมลพิษ แต่มีเพียง 9% เท่านั้นที่สามารถวัดการปล่อยก๊าซได้อย่างครอบคลุม องค์กรจำเป็นที่จะต้องมีความสามารถในการติดตามผลกระทบของสภาพอากาศและข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอน
ขั้นตอนที่สองคือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ข้อมูลด้านความยั่งยืนในเชิงปฏิบัติทั้งในกระบวนการทางธุรกิจและการตัดสินใจ มาตรวัดความยั่งยืน เช่น การปล่อยคาร์บอน การใช้วัสดุ ของเสีย และข้อมูลความหลากหลาย สามารถผนวกเข้ากับกระบวนการธุรกิจหลัก เช่น ซัพพลายเชน, ERP, การเงิน และกระบวนการจัดซื้อเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนทั่วทั้งธุรกิจ สิ่งนี้จะช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในบริษัท โดยผลิตภัณฑ์จะได้รับการออกแบบและผลิตเพื่อให้หมุนเวียนได้นานที่สุด
ขั้นตอนที่สามคือ การขับเคลื่อนความยั่งยืนในเครือข่ายธุรกิจ ก้าวข้ามขอบเขตของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งโดยการวัดผลและการจัดการความยั่งยืนทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าและเครือข่ายธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่สามารถรวบรวมข้อมูลที่เชื่อถือได้และเป็นไปตามกฎระเบียบ เพื่อช่วยองค์กรวัดปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ตลอดจนมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยส่งเสริมให้องค์กรมีความคิดริเริ่มที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ นั่นเอง
กรณีศึกษา อินโดรามา
อีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืนคือกรณีของบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยดำเนินธุรกิจภายใต้กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ Combined PET, Integrated Oxides and Derivatives และ Fibers ด้วยสำนักงาน 147 แห่งใน 35 ประเทศ และพนักงานกว่า 26,000 คน
บริษัทฯ วางแผนที่จะขยายการดำเนินงานทั่วโลกโดยคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในฐานะผู้ผลิต PET รีไซเคิลรายใหญ่ที่สุดของโลกสำหรับขวดเครื่องดื่ม และต้องการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานทั้งหมดให้เป็นไปตามแก่นสำคัญขององค์กร (Purpose) ที่กำหนดขึ้นใหม่ นั่นคือ “Reimagining Chemistry Together to Create a Better World” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วโลก
คุณแอนโทนี วาตานาเบ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า “ภายใต้วิสัยทัศน์ปี 2573 อินโดรามา เวนเจอร์ส วางแผนที่จะลงทุนในการลดการใช้ถ่านหิน ลดระดับและดักจับคาร์บอนที่เกิดจากการผลิตของบริษัทฯ และเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยในประเทศไทยเราวางแผนที่จะเลิกใช้ถ่านหินในโรงงานสามแห่งให้เสร็จสิ้นภายในปี 2570 และขยายการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ที่โรงงานของเราภายในสิ้นปี 2566 สำหรับการวัดผลความคืบหน้าของการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ จะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและการวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงการจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืนและการรายงานของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงให้ข้อมูลในองค์กรมีความแม่นยำและมีคุณภาพมากขึ้น ความร่วมมือกับ เอสเอพี เพื่อพัฒนาระบบ ERP จะช่วยให้เราสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานสูงสุดระดับโลกในการรายงานความยั่งยืน ตลอดจนสามารถใช้ข้อมูลในการตัดสินใจเชิงธุรกิจซึ่งจะช่วยให้เราสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กรได้”