HomeBrand Move !!เจาะกลยุทธ์ ‘ไปรษณีย์ไทย’ ฟื้นรายได้ ส่งไฟติ้งแบรนด์เจาะลูกค้าใหม่-ลุยค้าปลีก จับมือ ‘ลาว’ ปั้นฮับโลจิสติกส์ CLMV  

เจาะกลยุทธ์ ‘ไปรษณีย์ไทย’ ฟื้นรายได้ ส่งไฟติ้งแบรนด์เจาะลูกค้าใหม่-ลุยค้าปลีก จับมือ ‘ลาว’ ปั้นฮับโลจิสติกส์ CLMV  

แชร์ :

thailand post coverการเกิดขึ้นของผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจขนส่งมูลค่า “แสนล้าน” ตลอดช่วง 5 ปีมานี้ ส่งผลให้เจ้าตลาด “ไปรษณีย์ไทย” องค์กร 140 ปี มีรายได้ลดลงต่อเนื่อง จากรายใหม่เข้ามาแย่งตลาด และต้องเผชิญกับตัวเลข “ขาดทุน” ในปีที่ผ่านมา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ดูได้จากตัวเลขผลประกอบการ “ไปรษณีย์ไทย” ย้อนหลัง 5 ปี

-ปี 2560 รายได้ 27,872 ล้านบาท กำไร 4,221 ล้านบาท

-ปี 2561 รายได้ 29,298 ล้านบาท กำไร 3,809 ล้านบาท

-ปี 2562 รายได้ 27,162 ล้านบาท กำไร 589 ล้านบาท

-ปี 2563 รายได้ 23,712 ล้านบาท กำไร 238 ล้านบาท

-ปี 2564 รายได้ 21,226 ล้านบาท ขาดทุน 1,730 ล้านบาท

การฝ่าสมรภูมิ Red Ocean ในธุรกิจขนส่งเพื่อให้ ไปรษณีย์ไทย กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง หัวเรือใหญ่ คุณดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) วางยุทธศาสตร์ที่ต้องทำไว้ 2 เรื่องหลัก คือ 1. Fix the core business ฟื้นรายได้ธุรกิจเดิม และ 2. Explore new ocean หารายได้จากน่านน้ำใหม่

หากดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในธุรกิจขนส่ง มาจากหลายปัจจัยที่ทำให้ “ไปรษณีย์ไทย” ต้องปรับตัว!

– สถานการณ์โควิด-19 ตลอดช่วง 3 ปีนี้ ทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยนแปลง แนวทางการทำธุรกิจมุ่งสู่ลูกค้าเป็นหลัก (Customer Centric) ทำให้มองเห็นความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ทำให้ธุรกิจไม่มีขอบเขต (Bordering) อีกต่อไป วันนี้คู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์เท่านั้น แต่มีกลุ่มที่ข้ามอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะ Tech Company  ระดับโลก

– แม้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตในช่วงโควิด แต่ในธุรกิจขนส่งเกิดสงครามราคาแย่งลูกค้า จนส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ “ขาดทุน” ก่อนโควิด ปี 2562 ไปรษณีย์ไทยมีปริมาณงานส่ง 7.4 ล้านชิ้นต่อวัน ปี 2564 ลดลงเหลือ 5.5 ล้านชิ้นต่อวัน

– ปัจจุบันผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็น Shopee Lazada ก็มาให้บริการโลจิสติกส์ส่งของเช่นกัน กลุ่มนี้มีความได้เปรียบจากการขายสินค้าที่มี Volume ในมืออยู่แล้ว เมื่อมาให้บริการส่งสินค้าเองก็สามารถควบคุมธุรกิจได้ทั้งอีโคซิสเต็ม ตั้งแต่ขายสินค้าไปถึง Last mile delivery มีดาต้าลูกค้าอยู่ในมือ เลือกเส้นทางส่งของที่มีกำไรได้ก่อน

– ลูกค้าที่มาใช้บริการส่งของ โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มีจำนวนเพิ่มขึ้น รูปแบบการขายสินค้าไลฟ์และโพสต์ผ่านสื่อโซเชียลเหมือนกัน เมื่อสินค้าไม่ต่างกัน จึงต้องการค่าของส่งราคาถูก เพื่อทำให้สินค้าราคาถูกจูงใจผู้ซื้อ และต้องการเวลาส่งของที่ยืดหยุ่น เปิดให้บริการทุกวัน หรือกระทั่งเปิด 24 ชั่วโมง

ตามดูกลยุทธ์ไปรษณีย์ไทยปรับตัวฟื้นรายได้ธุรกิจขนส่งเดิมและโอกาสในน่านน้ำใหม่ ตามยุทธศาสตร์ Fix the core business และ Explore new ocean

1. ปรับธุรกิจเดิมสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล เดินหน้าขนส่ง EV

หากดูธุรกิจไปรษณีย์ทั่วโลกเกิดและเติบโตมาจากการสื่อสาร เริ่มจากการส่งจดหมาย ปัจจุบันการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีที่มีหลากหลายแพลตฟอร์มเข้ามาแทนที่ คนส่งจดหมายลดลง ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่เป็นสิ่งที่ไปรษณีย์ยังต้องทำอยู่ ดังนั้นในยุคนี้ จึงต้องปรับวิธีการส่งจาก Physical เป็น Digital จากจดหมายเป็น E-document เป็นการปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บริการในยุคนี้และลดต้นทุน

การพัฒนาระบบจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Prompt Post) บริการประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Timestamp) บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC) การใช้พื้นที่คลังไปรษณีย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศเปิดเป็นพื้นที่ให้บริการ Fulfillment ระดับจังหวัด

อีกทั้งมุ่งเป็นขนส่งรายแรกที่จะนำยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาใช้ในระบบงานไปรษณีย์และระบบนำจ่ายจำนวนกว่า 600 คัน ทดแทนรถเดิมที่หมดอายุใช้งานในปี 2566

thailand post network

2. สร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ภูมิภาค สู่ฮับ CLMV

ทิศทางการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีผู้ประกอบการข้ามอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจโลจิสติกส์มากขึ้น โดยเฉพาะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก มีเงินทุนจำนวนมาก สามารถสร้างเครือข่ายขนส่งครอบคลุมทั้ง CLMV ได้อย่างรวดเร็ว

ขณะที่ประเทศไทยถือว่าอยู่ในโลเคชั่นศูนย์กลางของภูมิภาค CLMV ที่มีประชากรรวมกว่า 300 ล้านคน ประเทศไทยจึงมีโอกาสที่จะพัฒนาโลจิสติกส์ให้เป็นฮับของภูมิภาคนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น EEC รถไฟความเร็วสูง ที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอีคอมเมิร์ซของภูมิภาคด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ไปรษณีย์ไทย จึงมองโอกาสพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ ที่ไม่ได้มองแค่การขนส่งในประเทศไทยเท่านั้น แต่มองระดับภูมิภาค CLMV ผนึกกำลังกับหน่วยงานไปรษณีย์ในประเทศต่างๆ เป็น Singer Network เพื่อสร้างความแข็งแรงให้ระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคนี้ หากทำได้สำเร็จก็สามารถเสนอตัวเป็นผู้ให้บริการกับอีคอมเมิร์ซทุกแพลตฟอร์มได้ ซึ่งจะส่งผลดีกับทุกฝ่ายแบบ win win ฝั่งอีคอมเมิร์ซไม่ต้องลงทุนสร้างโลจิสติกส์ในทุกประเทศ ฝั่งไปรษณีย์ในภูมิภาคนี้ มีลูกค้ารายใหญ่ใช้บริการ ไม่ต้องมาแข่งขันกันด้วยสงครามราคาที่บาดเจ็บกันทุกฝ่าย

Lao Post

3. จับมือไปรษณีย์ลาว เชื่อมขนส่ง “ไทย-ลาว-จีน”

กลยุทธ์การสร้างเครือข่ายใน CLMV ไปรษณีย์ไทยเริ่มจากการความร่วมมือด้านขนส่งกับ รัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาว (Entreprise des Postes Lao) เพื่อให้บริการขนส่งข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับไปรษณีย์ไทยและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ ความร่วมมือหลักๆ ดังนี้

– เส้นทางขนส่ง ร่วมมือกันทั้ง การขนส่งทางราง โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ลาว – คุนหมิง เพื่อขนส่งสินค้าข้ามแดนที่รวดเร็วไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ เช่น สินค้าทางการเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค จากไทยผ่านลาวไปถึงจีน และต้นทางจีนผ่านลาวมายังไทย โดยเป็นการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีน ในอนาคตสามารถใช้การขนส่งทางรถไฟได้ จะทำให้การขนส่งทั้ง 3 ประเทศสะดวกยิ่งขึ้น บริการขนส่งทางรางไป สปป.ลาวและจีน มีต้นทุนต่ำกว่าขนส่งทางอากาศ 20%

– บริการขนส่ง ปัจจุบันสปป.ลาวและไทยให้บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ได้แก่ บริการไปรษณียภัณฑ์ บริการ EMS World บริการพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศทั้งทางอากาศและทางภาคพื้น ล่าสุดได้เปิดบริการ ePacket การส่งสิ่งของที่เป็นซองหรือกล่องน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัมในราคาประหยัด เพื่อรองรับลูกค้าทั้งที่เป็นรายย่อย และ SMEs รวมถึงยังศึกษาบริการ ePacket Plus ซึ่งเป็นบริการเสริมเพื่อรับประกันความเสียหาย

– การขายสินค้า เป็นการทำตลาดอีคอมเมิร์ซ ด้วยการนำสินค้าท้องถิ่นของ สปป.ลาว มาจำหน่าย บนเว็บไซต์ thailandpostmart.com ของไปรษณีย์ไทย เช่น งานคราฟท์ กาแฟ สินค้าหัตถกรรมจากไม้ ผ้าทอมือ รวมถึงการทำการตลาดขนส่งให้กับสินค้าไทยที่ต้องการขยายไปสู่ สปป.ลาว

– บริการการเงิน ทั้ง 2 หน่วยงานได้เตรียมพัฒนาบริการการเงินในรูปแบบใหม่เพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่น การจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันหรือ eWallet และบริการจ่ายเงินปลายทาง (COD) ระหว่างประเทศ ที่จะช่วยสนับสนุนตลาดอีคอมเมิร์ซไทย โดยไปรษณีย์ไทย ถือเป็นผู้ให้บริการ COD รายแรกใน สปป.ลาว ซึ่งบุรุษไปรษณีย์ลาว จะเป็นผู้เก็บเงินส่งมาให้ไปรษณีย์ไทย

Thailand post mart

4. ลุยค้าปลีก Thailandpostmart

“ธุรกิจขนส่ง” เป็นการรับของจากคนส่ง ดังนั้นของที่รับมาจึงไม่ได้เกิดจากทราฟฟิกที่ไปรษณีย์ไทยสร้างขึ้นเอง เพราะเป็นการรับของมาส่งจากลูกค้า ซึ่งสามารถเปลี่ยนไปใช้ผู้ส่งรายใหม่ได้ตลอดเวลา โดยมี “ราคาค่าส่ง” เป็นปัจจัยเลือก ดังนั้นหากไปรษณีย์ไทยสามารถสร้างดีมานด์ (ชิ้นงาน) ขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ก็จะทำให้เกิดความมั่นคงของรายได้และธุรกิจ

รูปแบบการสร้างชิ้นงานของ ไปรษณีย์ไทย ก็มาจากการรู้จัก “ของดี” ในชุมชน จากการเข้าถึงชุมชนได้ดี จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Thailandpostmart เป็นแหล่งรวมของดีจากชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถสั่งซื้อสินค้าอร่อยได้ทั่วประเทศ และไปรษณีย์ไทยทำหน้าที่ส่งของ ผ่านเครือข่าย “บุรุษไปรษณีย์” หรือ พี่ไปรฯ ที่มีกว่า 20,000 คน ปัจจุบันมีสินค้ากว่า 15,000 รายการ มีร้านค้าราว 7,000 แห่ง

นอกจากนี้ความร่วมมือกับเครือข่ายไปรษณีย์กลุ่ม CLMV เริ่มจาก สปป.ลาว จะนำสินค้าของดีจากต่างประเทศ มาขายบน Thailandpostmart ด้วยเช่นกัน ถือเป็นโอกาสให้คนไทยได้ซื้อสินค้าใหม่ๆ เช่นเดียวกับสินค้าไทยที่สามารถไปขายใน สปป.ลาวได้

ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกได้เป็นพาร์ทเนอร์กับธุรกิจต่างๆ ใช้เครือข่ายพี่ไปรฯ เป็นตัวแทนขายสินค้าให้กับธุรกิจต่างๆ เช่น กลุ่มเทเลคอม ทรู เอไอเอส ดีแทค ในการกระจายซิมมือถือ ไปยังครัวเรือนต่างๆ การเติมเงินมือถือ รวมทั้งขายสินค้าต่างๆ

ปัจจุบันยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ไม่สะดวกในการเข้าถึงบริการต่างๆ แต่ไปรษณีย์ไทย สามารถเข้าไปเติมเต็มและให้บริการได้ วันนี้โครงข่ายพี่ไปรฯ เข้าถึงพื้นที่ทั่วประเทศครอบคลุม 1 ล้านครัวเรือนต่อวัน จึงตอบโจทย์การทำงานหลายบริการด้วยต้นทุนต่ำ

ปีนี้คาดว่าได้รายการธุรกิจค้าปลีก หลักๆ มาจากการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม Thailandpostmart จะมีรายได้ 700 ล้านบาท และน่าจะแตะ 1,000 ล้านบาทในปี 2566

Post Sabuy 2

5. เปิดไฟติ้งแบรนด์ POST SABUY เจาะลูกค้าใหม่

สำหรับแบรนด์ไปรษณีย์ไทย อายุ 140 ปี เป็นที่รู้จักดีในคนส่วนใหญ่ แต่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่เติบโตมาในยุคดิจิทัลมีแบรนด์ขนส่งให้เลือกใช้บริการหลากหลาย อาจไม่คุ้นเคยกับบริการไปรษณีย์ไทย เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าใหม่ในกลุ่ม Gen Z ไปรษณีย์ไทยได้จับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มสบาย (SABUY) เปิดตัวธุรกิจขนส่งน้องใหม่ POST SABUY (โพสต์สบาย) ที่ถือเป็น Fighting Brand (ไฟติ้งแบรนด์) ของไปรษณีย์ไทย

ความร่วมมือของ POST SABUY ในฝั่งไปรษณีย์ไทย จะดูแลการขนส่งจากหน้าร้านถึง Last mile หน้าบ้านผู้รับพัสดุ ส่วนกลุ่มสบาย มีหน้าร้าน (Drop-off store) รับและส่งพัสดุ ของบริษัท สบาย สปีด จำกัด (SABUY SPEED) 8 แบรนด์ คือ Shipsmile , Plus Express, The Letter POST, Point Express, PaysPOST, Paypoint, Speedy และ CollectCo รวมกว่า 17,000 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นหน้าร้านรับพัสดุ จากนั้นไปรษณีย์ไทยจะมารับแล้วจัดส่ง

POST SABUY เป็นขนส่งที่เน้นกลุ่มเป้าหมายพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์และผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ Gen Z ที่เริ่มทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพื่อเป็นรายได้หลักและอาชีพเสริม กลุ่มนี้มีอยู่ในทุกชุมชนทั่วประเทศ ใช้โซเชียลมีเดียในการไลฟ์ขายสินค้าตามเวลาที่สะดวก จึงมีออร์เดอร์ลูกค้าเข้ามาตลอดวัน โดยเฉพาะช่วงเย็นและกลางคืน

ดังนั้นบริการของ POST SABUY จึงสร้างความแตกต่าง ด้วยเวลารับส่งที่ยืดหยุ่น โดยจะเข้ารับพัสดุจากหน้าร้านรอบสุดท้ายของวันในเวลา 16.00 น. เพื่อให้พ่อค้าแม้ค้าออนไลน์มีเวลาแพ็คสินค้าจากการขายในช่วงกลางคืนมาส่งได้ทันวันถัดไป โดยไปรษณีย์ไทยจะเข้ามารับพัสดุที่หน้าร้านกลุ่มสบาย สปีด ทั้ง 8 แบรนด์ กว่า 17,000 แห่งทั่วประเทศที่ให้บริการ โดยมีราคาเริ่มต้น 19 บาท

“การเปิดไฟติ้งแบรนด์ POST SABUY ทำให้มีหน้าร้านรับส่งพัสดุเพิ่มอีก 17,000 จุด ทำให้ไปรษณีย์ไทยมีโอกาสได้ชิ้นงานเพิ่มขึ้นในกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่”

thailand post man

อีกเป้าหมายสำคัญของไปรษณีย์ไทย คือการสร้างความพึงพอใจในระดับสูงสุด ด้วยมาตรการ Zero Complain ลดข้อร้องเรียนต่าง ๆ เช่น พัสดุสูญหาย คอมเมนต์บนโซเชียลมีเดียให้เป็นศูนย์ คือเมื่อมีคอมเมนต์เข้ามาจะต้องตอบสนองและแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าทันที

ในสมรภูมิธุรกิจขนส่งที่ยังแข่งขันดุเดือด แต่ด้วยกลยุทธ์ต่างๆที่ ไปรษณีย์ไทยกำลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้ เริ่มเห็นแนวโน้มรายได้ไตรมาส 4 ปีนี้กลับมาเติบโต คาดว่าทั้งปีรายได้น่าจะอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท และสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ได้หลังจากนี้คือการกลับมาทำ “กำไร” อีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like