HomeBrand Move !!Flash Group ของ ‘คมสันต์ ลี’ ปั้นธุรกิจ 5 ปี มูลค่าบริษัท 70,000 ล้าน ขึ้นเบอร์1 ขนส่งเอกชน ส่งพัสดุวันละ 2.4 ล้านชิ้น

Flash Group ของ ‘คมสันต์ ลี’ ปั้นธุรกิจ 5 ปี มูลค่าบริษัท 70,000 ล้าน ขึ้นเบอร์1 ขนส่งเอกชน ส่งพัสดุวันละ 2.4 ล้านชิ้น

แชร์ :

flash CEOการแข่งขันในธุรกิจขนส่งพัสดุมูลค่า “แสนล้าน” ในปีที่ผ่านมา เกิดสงครามราคาแย่งลูกค้า ซ้ำด้วยภาวะต้นทุนพุ่งจากราคาพลังงาน ตลาดอีคอมเมิร์ซไม่หวือหวาเหมือนเดิม ส่งผลให้ “รายใหญ่” ต่างบาดเจ็บ “ขาดทุน” กันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น ไปรษณีย์ไทย, เคอรี่ เอ็กซ์เพรส รวมทั้ง Flash Express

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หลังจากก่อตั้ง Flash Express ในปี 2560 “คมสันต์ ลี” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช ใช้เวลา 4 ปี สร้าง Flash Group ก้าวสู่ตำแหน่ง “ยูนิคอร์น” ตัวแรกของไทยในปี 2564 และเป็นปีแรกที่เห็น “กำไร” 6 ล้านบาท จากรายได้ 17,600 ล้านบาท ทำให้มั่นใจว่าถึงเวลาของ Flash แล้ว จึงเดินหน้าขยายธุรกิจขนส่งไปต่างประเทศ เปิด Flash Express ใน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และลาว

มาในปี 2565 Flash Express เจอความท้าทายจากการแข่งขันในสงครามราคา ต้นทุนสูง ตลาดอีคอมเมิร์ซชะลอตัว ผลประกอบการ ปี 2565 รายได้ไม่เติบโต ทำได้ใกล้เคียงปี 2564 แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเผชิญภาวะ “ขาดทุน” อีกครั้ง

ตามดูสาเหตุทำไม Flash ขาดทุน

คุณคมสันต์ กล่าวว่าธุรกิจขนส่งในปี 2565 เป็นปีที่ไม่เหมือนที่คิดไว้ เนื่องจาก ปี 2564 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงจากสถานการณ์โควิด ทุกบริษัทขนส่งเติบโต 200% มาในปี 2565 จึงชะลอตัวลง เพราะคนส่วนใหญ่เข้ามาใช้อีคอมเมิร์ซหมดแล้วในช่วงโควิด จำนวนจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นอีกแล้ว

ขณะที่หุ้นอีคอมเมิร์ซทั่วโลกตกลง 60% ทำให้แพลตฟอร์มลดเงินอุดหนุนหรือลดเงินโฆษณาอีคอมเมิร์ซ เพื่อลดต้นทุน จึงไม่มีการกระตุ้นตลาด ส่งผลให้จำนวนชิ้นงานส่งพัสดุลดลง

กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง เห็นได้จากมูลค่าสินค้าที่ลูกค้าสั่งซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซต่อบิลลดลง 15% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เครื่องสำอาง

ปี 2565 แม้มีปริมาณชิ้นงานมากขึ้น แต่กลายเป็นว่า Flash Express มีต้นทุนสูงขึ้นจากสถานการณ์โควิด เมื่อพนักงานติดโควิดต้องหยุดทำงาน คลังสินค้าถูกปิด ต้องจ้างพนักงานใหม่มาส่งสินค้า 7,000 คน ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นมหาศาล และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น จากเดิมมีต้นทุนเดือนละ 300-400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเท่าตัว

ปี 2565 ธุรกิจขนส่งไม่มีใครทำงานง่าย แต่สิ่งสำคัญ อยู่ที่ใครซ่อมบ้านได้เร็วกว่า

ปีที่ผ่านมา Flash Express เปลี่ยนนโยบายการบริหารหลายอย่าง ตั้งแต่เส้นทางเดินรถ การเช่าสถานที่คลังสินค้า การปรับโครงสร้างภายใน เปลี่ยนผู้บริหารออกไป 20% เพื่อให้ตรงกับงาน เพราะในช่วงตลาดเติบโตบริษัทต้องการผู้บริหารที่เป็น “ผู้สร้าง” เน้นขยายธุรกิจ เปิดตลาดใหม่ๆในต่างประเทศ แต่ช่วงที่ตลาดนิ่งเราต้องการ “ผู้ซ่อม” พัฒนาธุรกิจเดิมให้เสถียร มีประสิทธิภาพ ดูแลคุณภาพให้ดี เห็นได้ว่าวิธีการทำงานของทั้งสองกลุ่มแตกต่างกัน จึงต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์

Flash ขึ้นเบอร์หนึ่งขนส่งเอกชนส่งพัสดุวันละ 2.4 ล้านชิ้น

แม้ต้องเจอภาวะ “ขาดทุน” ในปี 2565 แต่สิ่งที่ Flash Express ทำได้ คือก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ขนส่งเอกชนของประเทศไทย ด้วยยอดสูงสุดวันละ 2.4 ล้านชิ้น ทั้งปีอยู่ที่ 700 ล้านชิ้น รายได้เฉลี่ยต่อชิ้นอยู่ที่ 23-25 บาท ลดลงจากปี 2564 เนื่องจากระยะส่งสั้นลง

ส่วนธุรกิจ Flash Express ในต่างประเทศ ที่ “มาเลเซีย” ปัจจุบันมีพนักงาน 7,000 คน ให้บริการขนส่งเกือบครบทุกพื้นที่ของมาเลเซีย ปี 2564 ขึ้นมาเป็น Top3 ของมาเลเซียแล้ว

ส่วน “ฟิลิปปินส์” มีพนักงาน 11,000 คน ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 90% ปี 2564 เป็น Top3 สิ้นปี 2566 วางเป้าหมายเป็น Top2 และมีกำไร เนื่องจากฟิลิปปินส์ เป็นตลาดที่อีคอมเมิร์ซเติบโตเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคนี้ จากจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคน พฤติกรรมผู้บริโภคจับจ่ายสูง ไม่เน้นออมเงิน

ขณะที่ “ลาว” ค่อนข้างเหนื่อย จากอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ต้นทุนพลังงานน้ำมันเพิ่มขึ้นเท่าตัว

ระดมทุน 15,000 ล้าน เล็งเข้าตลาดใน 3 ปี

ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ในเดือนธันวาคม 2565 Flash Group สามารถระดมทุนรอบซีรี F ได้เงินลงทุนมาอีก 15,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมใส่เงินลงทุนเข้ามาเพิ่ม เช่น OR, SCB 10X, เดอเบล (กลุ่ม TCP), กรุงศรีฟินโนเวต เป็นต้น และมีรายใหม่เข้ามาเพิ่มด้วย

จากการระดมทุนรอบล่าสุด ทำให้มูลค่าบริษัท Flash Group อยู่ที่ 70,000 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิมคาดว่าปี 2566 มูลค่าบริษัทน่าจะอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท ยอมรับว่า “เราช้าลงกว่าเดิมยังไม่ถึงฝัน”

ตามแผนเดิม ปี 2566 จะเริ่มกระบวนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เนื่องจากปี 2565 “ขาดทุน” และเพิ่งเข้าไปลงทุนตลาดต่างประเทศ ทำให้แผนเข้าตลาดฯ ต้องชะลอไว้ก่อน ไปเริ่มในปี 2567 และเข้าตลาดในปี 2568 หรืออีก 3 ปีจากนี้

ก่อนเข้าตลาดฯ จะมีการระดมทุนอีกรอบ เชื่อว่าจะทำให้มูลค่าบริษัทแตะ 100,000 ล้านบาท ได้ตามเป้าหมายเดิม

หลังจากระดมทุนได้เงินมาอีก 15,000 ล้านบาท จะนำไปลงทุนคลังสินค้าเพิ่ม โดยมีโปรเจกต์ร่วมทุนกับ SC Asset พัฒนาพื้นที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายพัสดุทั่วประเทศรวม 1 ล้านตารางเมตร รวมทั้งพัฒนาคลังสินค้าเดิมที่มี 40 แห่ง เพิ่มรถขนส่งในพื้นที่ห่างไกล พัฒนาบุคลากร ปัจจุบันทุกประเทศมีจำนวน 50,000 คน ปีนี้จะเพิ่มเป็น 60,000 คน และขยายธุรกิจขนส่งในต่างประเทศเพิ่มอีก 1 ประเทศ กำลังพิจารณาระหว่าง สิงคโปร์และเวียดนาม

ปัจจุบันมีธุรกิจขนส่ง Flash Express ใน 5 ประเทศ และธุรกิจ Fulfillment ใน 6 ประเทศ คือ ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ปัจจุบันรายได้หลักมาจากประเทศไทย แต่คาดว่าในปี 2567 รายได้จากต่างประเทศจะมีสัดส่วนเท่ากับตลาดไทย เป้าหมายที่ Flash Group อยากเห็น คือตลาดต่างประเทศ รายได้มากกว่าไทย 2-3 เท่า จะทำให้ธุรกิจปลอดภัยและเติบโตได้

Flash Group ยังวางเป้าหมายเป็นผู้นำธุรกิจขนส่ง 1 ใน 3 ของอาเซียน แต่วันนี้อาจทำได้ช้าลงกว่าเดิม

 

ปี 2566 ธุรกิจขนส่งสงครามราคาจบแล้ว

ทิศทางธุรกิจขนส่งในปี 2566 หลังจาก “รายใหญ่” ต่างเจอกับภาวะ “ขาดทุน” ในปีที่ผ่านมา จากต้นทุนเพิ่มขึ้น

คุณคมสันต์ เชื่อว่าสงครามราคาในธุรกิจขนส่งจบไปแล้ว และไม่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเพิ่มอีก วันนี้ทุกรายแข่งขันกันที่ความเสถียรของการให้บริการ ดูแลไม่ให้เกิดปัญหาและมีคุณภาพในการส่งพัสดุ เพราะในเชิงจิตใจของลูกค้า “ส่งช้าเจ็บน้อยกว่าของเสียหาย”

ปีที่ผ่านมาเห็นได้ว่าธุรกิจขนส่งเกิดปัญหาบ่อย บางรายส่งสินค้าไม่ได้ เพราะไม่มีพนักงาน ทำให้คลังแตก คือ พัสดุมากองอยู่ที่คลังสินค้าไม่มีคนส่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นลูกค้าที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ในพื้นที่ที่มีปัญหาคลังแตก ก็มา complain บนสื่อออนไลน์ของแบรนด์ขนส่ง กลายเป็นทัวร์ลงทุกพื้นที่ แม้ปัญหาจะเกิดในพื้นที่เดียวก็ตาม

ปีนี้ผู้ให้บริการขนส่งทุกรายจะโฟกัสความเสถียรในการให้บริการทุกพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอกับการจัดส่ง ส่วนค่าเฉลี่ยจัดส่งพัสดุในไทยอยู่ที่ 2 วัน ถือว่าเร็วที่สุดในอาเซียน

flash quote

 

ปั้นธุรกิจดาวรุ่ง F-Commerce โกยรายได้ 5,000 ล้าน

ปีนี้ Flash Group เตรียมรุกธุรกิจใหม่ F-Commerce คือเป็นตัวกลางขายสินค้าออนไลน์ระหว่างสินค้าแบรนด์ อินฟลูเอนเซอร์ และแพลตฟอร์ม เริ่มต้นด้วยการเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์ม TikTok

ธุรกิจ F-Commerce หรือ Live Commerce จะเป็นอีกธุรกิจดาวเด่นของ Flash Group ซึ่งจะให้บริการครบทุกขั้นตอน ตั้งแต่สร้าง Live Center อาคารที่เป็นพื้นที่ขายสินค้า, เซ็นสัญญาจ้าง ดารา อินฟลูเอนเซอร์ KOL มาทำหน้าที่ Live ขายสินค้า, บริการยิงโฆษณา โปรโมท สินค้าและแบรนด์บนแพลตฟอร์มออนไลน์และบริการส่งสินค้าจากการ Live ขายของ

โดย Flash เริ่มธุรกิจ F-Commerce ด้วยการเป็นพันธมิตรกับ TikTok และวางแผนเซ็นสัญญากับ อินฟลูเอนเซอร์ ประมาณ 1,000 คน ทั้งใน ไทย อินโดนีเซีย ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

ด้วยโมเดลนี้ แบรนด์และสินค้าสามารถมาเลือกใช้บริการ จากอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีอยู่ เพื่อให้ Live ขายสินค้าได้ทันที โดยแบ่งรายได้ (commission fee) ให้กับ อินฟลูเอนเซอร์ แพลตฟอร์ม และ Flash

พูดง่ายๆ ให้เข้าใจโมเดลธุรกิจ F-Commerce คือ เรากำลังจะปั้น พิมรี่พาย เป็น 1,000 คน ในปีนี้

Flash Express x TikTok Shop cover

ธุรกิจ F-Commerce เริ่มทำแล้วที่ อินโดนีเซีย โดยมี Live Center 2 ตึก สิ้นปีนี้จะขยายเพิ่มเป็น 10 ตึก แต่ละตึกจะมีห้อง Live หลายห้อง แต่ละห้องจะมีอินฟลูเอนเซอร์ Live ขายของห้องละ 4 คน คนละ 1-2 ชั่วโมง ขายสินค้าต่อวัน 100-200 รายการ

ส่วนประเทศไทย กำลังสร้างตึก Live Center มีห้อง Live ขายสินค้ากว่า 100 ห้อง และเตรียมเซ็นสัญญากับอินฟลูเอนเซอร์ 300-400 คน เพื่อมาทำหน้าที่ Live ขายสินค้าบน TikTok โดยมีสินค้าทุกประเภทกว่า 10,000 รายการ

หลังจาก TikTok เข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ ทำให้ตลาดเปลี่ยนไป ในอินโดนีเซีย มียอดส่งพัสดุจากการขายสินค้าบน TikTok วันละ 2 ล้านชิ้น, ไทย 700,000 ชิ้น, มาเลเซีย 400,000 ชิ้น และฟิลิปปินส์ 600,000 ชิ้น

การขยายธุรกิจ F-Commerce ในปีนี้วางเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 3,000-5,000 ล้านบาท เป็นอีกธุรกิจดาวเด่นสร้างรายได้ให้ Flash Group หลังจากนี้

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like