“จีน” เป็นประเทศที่สร้างรายได้ให้ไทยปีละหลายแสนล้านบาท โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว แต่หลังจากเกิดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ทางการจีนออกมาตรการเข้มงวด และเริ่มใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ชาวจีนไม่สามารถออกเดินทางนอกประเทศได้ แม้ว่าไทยจะเปิดประเทศมาหลายเดือน กระทั่งล่าสุดทางการจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ และลดข้อจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ โดยให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าจีนไม่ต้องกักตัวอีกต่อไป ตั้งแต่ 8 มค. 2566 ที่จะถึงนี้ รวมไปถึงชาวจีนที่จะเดินทางกลับจากต่างประเทศเข้าจีนอีกด้วย
การกลับมาเปิดประเทศของจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี กลายเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะคนในแวดวงเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทย ว่าจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างไร? ตามมาฟังคำตอบเรื่องนี้กันชัดๆ จาก “KKP Research” โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เพื่อให้ภาคธุรกิจได้วางแผนรับมืออย่างเท่าทัน
จีนเปิดเมืองช่วงแรกยังน่า “ห่วง”
แม้ว่าจีนจะมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างมาก โดยก่อนเกิดโควิด-19 ไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนประมาณ 531,600 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทย แต่ KKP Research ประเมินว่า หากจีนสามารถเปิดเมืองได้เต็มที่ในปี 2566 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์และความผันผวนที่จะเพิ่มขึ้น
โดยการเปิดเมืองจะล่าช้าในช่วงแรก เนื่องจาก 2 ปัจจัยคือ อัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำจะยังกดดันระบบสาธารณะสุขจีน ในวันที่อัตราการฉีดวัคซีนในจีนยังไม่แพร่หลายโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและวัคซีนจีนเองยังถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของจีนทั้งหมดอาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในระดับที่ระบบสาธารณะสุขรับไม่ไหว จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากได้ และอาจสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลอาจต้องกลับไปล็อคดาวน์หนักอีกครั้ง ดังนั้น ภาครัฐมีแนวโน้มจึงผ่อนคลายมาตรการแบบค่อยเป็นค่อยไป
รวมถึง เงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นเร็ว อาจเพิ่มแรงกดดันในการทำนโยบายภาครัฐ การเปิดเมืองจะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่ในปัจจุบันอยู่ที่ 2% มีความเสี่ยงเร่งตัวสูงขึ้นได้มาก โดยมีสาเหตุจากอุปสงค์ที่อั้นมานานในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ (pent-up demand) กลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปัจจัยการผลิต (เช่น แรงงานในภาคบริการหรือโรงงานที่ถูกปิดตัวไป) ไม่สามารถกลับมาได้เร็วเท่า แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจกดดันให้ธนาคารกลางจีนต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยและถอนสภาพคล่องออกจากระบบ แต่ก็จะเพิ่มความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯ โดยจะทำให้การเข้าถึงสภาพคล่องของบริษัทอสังหาฯ จีนทำได้ยากขึ้น ดังนั้นการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดจึงมีแนวโน้มค่อยเป็นค่อยไปโดยจีนจะมีนโยบายสนับสนุนการขยายตัวของอุปทานไปด้วยเพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ
แม้ว่าจีนจะเริ่มคลายมาตรการโควิดแล้วก็ตาม แต่การบริโภคของจีนจะหดตัวในระยะสั้น เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจะบั่นทอนความมั่นใจของผู้บริโภค ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนกำลังชะลอตัว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในครึ่งแรกของปี 2565 อย่างไรก็ตาม ภาคการบริโภคจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มผ่านจุดสูงสุดและผู้คนมีความคุ้นชินและเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัสมากยิ่งขึ้นซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า
ราคาพลังงานโลกอาจพุ่งสูงขึ้น
ผลกระทบที่สำคัญหลังจีนเปิดเมือง คือ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์จะเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมาจากจุดสูงสุดแต่ราคายังค้างอยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนการระบาดโดยที่จีนยังไม่ได้เปิดเมืองด้วยซ้ำ วิกฤตราคาพลังงานสูงจากการตัดขาดอุปทานพลังงานจากรัสเซียที่ยังไม่สิ้นสุด การเปิดประเทศของจีนจะทำให้เกิดการนำเข้าน้ำมันในปริมาณที่เพิ่มขึ้นมากและจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบมีความเสี่ยงที่จะพุ่งสูงขึ้นอีกได้ในปีหน้า
ประเด็นที่น่ากังวลยิ่งกว่า คือ ราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ผ่านกระบวนการกลั่นเรียบร้อยแล้ว เช่น ราคาน้ำมันดีเซลอาจพุ่งสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าราคาน้ำมันดิบ จากทั้งเรื่องน้ำมันสำรองของหลายประเทศที่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำมากในปีนี้ รวมไปถึงกำลังการกลั่นที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าหลังโควิด แม้ว่ากำลังการกลั่นในจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่หากจีนยังคงจำกัดการส่งออกปิโตรเลียมต่อไปในขณะที่จีนเริ่มเปิดเมืองจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาพลังงานอาจไม่ลดลงได้แม้เศรษฐกิจในภูมิภาคจะเริ่มชะลอตัวลง
การส่งออกของประเทศแถบเอเชียอาจยัง “ชะลอ” อยู่ แม้เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัว
หากจีนสามารถเปิดเศรษฐกิจได้เต็มที่จริงจะเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาคการส่งออกโลกในแถบเอเชียที่มีการส่งออกสินค้าไปจีนติดลบในช่วงที่ผ่านมา โดยประเทศที่คาดว่าจะได้ประโยชน์คือ 1.ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย 2.ประเทศที่มีการพึ่งพาภาคการบริโภคในจีนสูงได้แก่ ฮ่องกง 3.ประเทศที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนสูงได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม การที่อุปสงค์ในจีนกลับมาฟื้นตัวดีอีกครั้งไม่ได้แปลว่าภาคการส่งออกของไทยและประเทศอื่นๆ จะขยายตัวได้ดีในช่วงปีหน้า เพราะในขณะที่จีนกำลังจะฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวและอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยการส่งออกโดยรวมยังมีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากอุปสงค์ที่มาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป และสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนรวมกันมากกว่าอุปสงค์ที่มาจากจีน
จับตา 4 ความผันผวนที่จะสูงขึ้นในปี 2023
KKP Research ประเมินว่า แนวโน้มการเปิดเมืองของจีนในครั้งนี้จะเป็นปัจจัยที่จะสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติม โดยปัจจัยที่สำคัญในปีหน้า คือ
1.ความผันผวนต่ออัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นได้จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งตัวขึ้นหลังการเปิดเมือง นอกจากนี้ หากราคาพลังงานเร่งตัวขึ้น อาจเกิดการส่งผ่านต้นทุนพลังงานไปยังราคาสินค้าหมวดอื่นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา เพราะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงได้ถูกฝังเข้าไปในการคาดการณ์ของผู้ผลิต
2.ความผันผวนต่อสถานะทางการคลัง หากราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก pent-up demand ในจีนที่จะทำให้ภาระต้นทุนของรัฐบาลในการพยุงกองทุนน้ำมันที่กำลังขาดทุนอยู่และตรึงราคาไว้ที่ 34.99 บาทต่อลิตรเพิ่มขึ้นเช่นกันซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงขึ้นกว่าที่คาด
3.ความผันผวนต่อค่าเงินบาท ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พิ่มขึ้นจะทำให้มูลค่าการนำเข้าพลังงานของไทยเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นและกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกจากจีนที่จะมาช่วยพยุงการส่งออกไทยบางส่วนรวมไปถึงนักท่องเที่ยวจีนที่อาจจะกลับมามากกว่าที่หลายคนคาดในปีหน้าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากขึ้น
4.ความผันผวนต่ออัตราดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อค้างอยู่ในระดับสูงและได้รับแรงสนับสนุนจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดในสหรัฐฯ (Terminal Fed Fund Rate) สูงเกินกว่าที่ตลาดคาดที่ 5% ในช่วงกลางปีหน้า ในสถานการณ์นี้นโยบายการเงินไทยจะได้รับแรงกดดันให้ต้องปรับดอกเบี้ยสูงมากขึ้นจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่กว้างขึ้น ในขณะที่ราคาพลังงานจะเป็นอีกความเสี่ยงสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อไทยค้างอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย
ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
เศรษฐกิจจีนอาจไม่กลับไปเติบโตแบบในอดีตจากความท้าทายหลายประการได้แก่ 1.จำนวนประชากรโดยรวมและประชากรวัยทำงานที่กำลังหดตัว 2.ปริมาณหนี้ขนาดใหญ่ที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน 3.ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะยาว แม้ว่าในระยะสั้นอาจฟื้นตัวได้ดีหลังการเปิดเมือง
ประเด็นที่สำคัญคือ หากเศรษฐกิจจีนไม่กลับไปเติบโตเหมือนในช่วงก่อนโควิด-19 ผลกระทบสืบเนื่องที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยคือ
1.อุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเพื่อการลงทุนและภาคการบริโภคของจีนจะได้รับผลกระทบด้านลบสูงจากการชะลอตัวในระยะยาวของเศรษฐกิจจีน
2.FDI จากจีนบางส่วนที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการค้าของไทยและจีนอาจชะลอตัวลง
3.จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนมายังไทยอาจลดลงในระยะยาวและไม่กลับไปยังระดับ 11 ล้านคนก่อนที่การระบาดของโควิด-19 จะเกิดขึ้น
ฉะนั้น ปี 2566 นี้ ยังเป็นปีที่ผู้ประกอบการต้องรอบคอบและวางแผนรับมือให้พร้อมทุกสถานการณ์ เพราะถึงจึนจะเริ่มกลับมาเปิดเมือง แต่ยังมีหลายปัจจัยต้องจับตา และอาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาวได้
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand