ต้องเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง “ซูเปอร์ฮีโร่” ในกลุ่มธุรกิจการเงิน ระเฑียร ศรีมงคล ที่ได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง CEO หรือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เมื่อปี 2555 เข้ามาพลิกโฉมจากขาดทุน ทำให้ผลประกอบการดีขึ้นและสร้าง New High มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันที่ฟันกำไรถึง 6,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ขณะเดียวกัน ระเฑียร ฟูมฟัก KTC มามากกว่า 10 ปี และเข้าปีที่ 11 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของบทบาทแม่ทัพใหญ่ หลังจากบอร์ดมีมติต่ออายุเกษียณมาถึง 2 รอบ .. ก่อนจะอำลา ระเฑียร ได้เตรียมวางรากฐานองค์กรครั้งใหญ่ และ แผนกลยุทธ์ปี 2566 สู่การวางรากฐานองค์กรที่แข็งแกร่ง “A Transition to the New Foundation” พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและเท่าทันความคาดหวังของลูกค้า Brand Buffet สรุปให้ฟังดังนี้
ภารกิจสุดท้าย วางรากฐานใหม่ สู่กำไร “หมื่นล้าน” ของ KTC
องคร์กรที่ดีหรือจะเติบโตไปได้ไกลนั้นปัจจัยสำคัญเลยต้องมี “พื้นฐาน” ที่แข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถแข่งขันในธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งนำไปสู่การมีผลประกอบการที่ดี ดังนั้น ระเฑียร ศรีมงคล จึงเริ่มวางรากฐานใหม่ให้กับ KTC ก่อนที่จะอำลาตำแหน่งในปีนี้
เร่ิมจากการจัดการโครงสร้างภายในองค์กรไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ และ ดาต้า ให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับธุรกิจที่กำลังดำเนินการอยู่ ทั้ง 3 ธุรกิจ ได้แก่ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และ พี่เบิ้ม
ต่อมา คือ การบริหารและบูรณาการดาต้าที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์จำนวนหรือพฤติกรรมลูกค้า ตั้งแต่ตั้งแต่การวางแผน การจัดเก็บ การเข้าถึงข้อมูลไปจนถึงการทำลายข้อมูล เน้นความปลอดภัย ถูกต้องและโปร่งใส รวมไปถึงสามารถนำดาต้าไปใช้ในกิจกรรมทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สุดท้าย เพราะบุคลากรคือฟันเฟืองที่จะให้ไปถึงเป้าหมายขององค์กรได้ ดังนั้นจึงต้อง อัพสกิลส่งเสริมให้พนักงานเคทีซีได้พัฒนาทักษะสำคัญด้านต่างๆ ที่สร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและเป็นประโยชน์กับองค์กร รวมไปถึงเฟ้นหาบุคลากรที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับการขยายและช่วยทำให้กำไรมากขึ้น
การวางรากฐานใหม่นี้จึงเป็นภารกิจสำคัญและภารกิจสุดท้ายของซีอีโอ ที่จะเป็นการส่งไม้ต่อให้กับซีอีโอคนใหม่ เพื่อสานต่อ KTC ให้ยืนหยัดในธุรกิจนี้ได้และประสบความสำเร็จอย่างในปัจจุบัน
สำหรับเป้าหมายกำไรหมื่นล้าน ระเฑียร มั่นใจว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป เพราะมี 3 ธุรกิจหลักที่มีอยู่ และรวมไปถึงซีอีโอคนใหม่ที่ สามารถหยิบเอานวัตกรรมหรือโปรเจ็กต์ที่มีอยู่ในศูนย์บ่มเพาะไปต่อยอดให้กำไรมากขึ้นก็ยิ่งดี
“ปี 2566 แม้ว่าจะมีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง KTC ปรับตัวทุกสถานการณ์ ทุกรูปแบบ ไม่ใช่ว่าเรารู้จะเกิดอะไรข้างหน้า แต่เราเตรียมคนที่รู้ว่า ภายใต้สถานการณ์แบบนี้จะรับมืออย่างไร เช่นเดียวกัน ปีหน้าเราก็ไม่รู้จะกำไรเท่าไหร่ แต่เราก็พยายามทำให้เกินเป้าหมาย 7 พันล้าน เพราะเราเตรียมลงทุนเยอะ ปรับปรุงระบบทุกอย่าง หาคนใหม่และพัฒนาคน การลงทุนนี้เพื่อก้าวต่อไปเป็นแพลตฟอร์มใหม่ๆ ได้” ระเฑียร กล่าว
“ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้น เป้าหมายกำไรเราไม่เปลี่ยน แต่แผนอาจจะเปลี่ยน เพราะสิ่งที่เราประกาศออกไป คือ ภายใต้สมมติฐานในปัจจุบัน ถ้าพรุ่งนี้(เศรษฐกิจ/การเมือง) เปลี่ยน เราก็เปลี่ยน”
KTC บัตรเครดิต เติมลูกค้าใหม่–มัดใจลูกค้า
เพราะเป็นธุรกิจหลักและเป็นกระเป๋าใหญ่ของ KTC จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด ปี 2566 จึงใช้กลยุทธ์การตลาดสำหรับบัตรเครดิต Less is MORE หรือการทำสิ่งที่สำคัญเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด อันดับแรก คือ
1) บริหารพอร์ตลูกค้าให้มีคุณภาพมากที่สุด ด้วยการสร้างสรรค์โปรแกรมการตลาดเพื่อให้ลูกค้าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และการนำระบบออโตเมชั่น (Automation) เข้ามาใช้ในกระบวนการของการบริหารความสัมพันธ์กับสมาชิกบัตร ที่ปัจจุบันมี 2.5 ล้านใบ (สมาชิกราว 2 ล้านคน) รวมไปถึงกระตุ้นการใช้จ่ายใน 3 หมวด คือ หมวดร้านอาหารและร้านอาหารในโรงแรม (Dining & Hotel Dining) หมวดช้อปปิ้งออนไลน์ และหมวดท่องเที่ยว
2) ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่รายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทขึ้นไป ด้วยสิทธิพิเศษด้านไลฟ์สไตล์ที่ตรงใจ ตัวอย่างเช่น การจับมือครั้งแรกกับเครือ ZARA ในการให้ Cash Back 5% พร้อมกับสามารถสมัครบัตรเครดิตได้ที่เคาน์เตอร์ร้านได้ทันที
3) ร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นในการจัดแคมเปญการตลาดและกิจกรรมการขยายฐานสมาชิกบัตรในต่างจังหวัด
4) บริหารจัดการการสื่อสารการตลาด (Marketing Communications)ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยเน้นการทำคอนเทนท์ มาร์เก็ตติ้ง (Content Marketing) ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์เคทีซีให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
“โดยในปี 2566 ตั้งเป้ามีสมาชิกสมัครบัตรใหม่ 180,000 ใบ และคาดว่าจะมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 10%จากปี 2565 หรือประมาณ 264,000 ล้านบาท” ประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดบัตรเครดิต เสริม
KTC PROUD – พี่เบิ้ม เร่งบุกออนไลน์ เจาะลูกค้าใหม่ต่อเนื่อง
ขณะฝั่งธุรกิจสินเชื่อบัตรกดเงินสด KTC PROUD (เคทีซี พราว) คุณพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อบุคคล อธิบายว่า การแข่งขันค่อนข้างสูงจากคู่แข่งทั้ง Bank และ Non-bank จึงโฟกัสเน้นที่ ออนไลน์มากขึ้น เพื่อสอดคล้องกับพฤติกรรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ด้วยการเปิดช่องทางขอสินเชื่อออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านโมบายแอปฯ และช่องทางการเบิกถอนเงินสดออนไลน์ผ่านทางแอปฯ KTC Mobile ให้สะดวกขึ้น โดยเพิ่มบัญชีพร้อมเพย์ในการโอนเงิน นอกเหนือจากที่โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ 15 แห่ง และเพิ่มช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการใช้สินเชื่อด้วยต้นทุนรับสมัครที่ต่ำแต่ได้ผลดี ทั้งนี้คาดว่าตลอดทั้งปี 2566 พอร์ตลูกหนี้สินเชื่อบุคคลจะเติบโต 7% และมีสมาชิกใหม่ 110,000 ราย
เนื่องจากยังเป็นน้องใหม่ของกลุ่ม กลยุทธ์ของ “เคทีซี พี่เบิ้ม” คุณเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อรถยนต์ อธิบายว่า ในปี 2566 จะยังเน้นขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ ทั้งการให้วงเงินใหญ่สูงสุด 1 ล้านบาท และ พัฒนาระบบให้อนุมัติให้รวดเร็วขึ้น สามารถทำรายการผ่านแท็บเล็ตในการรับสมัครสินเชื่อให้กับลูกค้าและอนุมัติแบบครบวงจรภายใน 1 ชั่วโมง พร้อมรับเงินทันที นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่มีข้อจำกัดด้านเอกสารและรายได้ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น โดยธนาคารกรุงไทยกว่า 900 สาขาทั่วประเทศ จะเป็นช่องทางหลักในการรับสมัคร ซึ่งเราได้ปรับรูปแบบบริการให้เจ้าหน้าที่ธนาคารฯ โดยคาดว่าสิ้นปี 2566 จะมียอดอนุมัติสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพิ่ม 9,100 ล้านบาท