นายศานิตย์ ภู่บุบผา ผู้อำนวยการ เน็กซเตอร์ อินคิวเบเตอร์ เปิดเผยว่า ภายใต้กระแสของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล (ดิจิทัล ดิสรัปชั่น) เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ส่งผลให้ Distribution and Retail Business ของ เอสซีจี ต้องการที่จะพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นไปได้ตามกระแสที่เปลี่ยนไป จึงได้จัดตั้งทีม เน็กซเตอร์ อินคิวเบเตอร์ (Nexter Incubator) ขึ้นเพื่อบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ ในรูปแบบ Internal Start-up เน้นไปที่การบ่มเพาะธุรกิจและพัฒนาคนในองค์กร พร้อมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นหลัก ภายใต้แนวคิด “คิด สร้าง ซ่อม อยู่” โดยมีรูปแบบการทำงาน 2 แนวทาง ได้แก่ 1. Spin-in โดยเป็นการบ่มเพาะแนวคิดใหม่ ๆ และนำมาประกอบร่างกับธุรกิจเดิม (Core Business) ของ เอสซีจี ให้เติบโตได้อย่างแข็งแรง และ 2. Spin-off คือให้โอกาสกับพนักงานของ เอสซีจี แยกออกไปดำเนินธุรกิจต่อด้วยตัวเองในฐานะเจ้าของธุรกิจ และสามารถระดมเงินลงทุนจากแหล่งอื่นๆ ได้เพิ่มเติม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและตั้งเป้าให้มีการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต
ทั้งนี้จากแนวคิดดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดการพัฒนาแอปพลิเคชัน MY Home (มาย โฮม) ขึ้น ซึ่งมาช่วยตอบโจทย์เจ้าของบ้านเมื่อเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านแล้ว ภายใต้แนวคิด “เจ้าของบ้านมือใหม่ในบ้านหลังเก่า” โดยเป็นแอปฯ ในการจัดการเรื่องบ้านและรวมทุกบริการเรื่องบ้านไว้ในแอปฯ เดียว ทั้งนี้ MY Home จะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยให้เจ้าของบ้านสามารถดูแลบ้านให้ดูดีอยู่เสมอ ช่วยเจ้าของบ้านตรวจสอบปัญหาก่อนที่ทุกอย่างจะบานปลาย พร้อมแนะนำวิธีแก้ปัญหาบ้านที่มากวนใจ ซึ่งครอบคลุมทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม หรือแม้กระทั่งคอนโด โดยมีฟีเจอร์ที่โดดเด่น 3 ด้านได้แก่
1. การตรวจสุขภาพบ้าน โดยเป็นฟีเจอร์ที่สามารถตอบสนองกับผู้อยู่อาศัยบ้านไม่ว่าจะหลังเก่าหรือใหม่ที่กำลังจะเจอกับปัญหา ให้สามารถวางแผนรับมือได้ทันเวลา ซึ่งนำปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ภายในบ้านไม่ว่าจะเป็นงานโครงสร้างบ้าน ระบบน้ำ หรือไฟฟ้า ให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบว่าเกิดขึ้นกับบ้านที่ท่านกำลังอยู่อาศัยหรือไม่ และประเมินออกมาว่าปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นจำเป็นจะต้องได้รับการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน หรือสามารถรอได้ พร้อมเสนอวิธีการแก้ไขไป ทั้งนี้หากปัญหาดังกล่าวจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลทันที
2. การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หลังจากที่มีการตรวจสอบบ้านที่อยู่อาศัยและได้รับทราบถึงปัญหาเรียบร้อยแล้ว หากเจ้าของบ้านมีความกังวลใจและต้องการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ทาง MY Home จะมีฟีเจอร์ให้เจ้าของบ้านสามารถจองคิวเพื่อขอปรึกษาปัญหาเรื่องบ้านกับผู้เชี่ยวชาญของ เอสซีจี ได้
และ 3. การแจ้งเตือน จะเป็นการแจ้งเตือนให้กับผู้อยู่อาศัยได้รู้ว่าในระยะเวลาไหน จำเป็นต้องทำอะไร เพื่อให้การอยู่บ้านนั้นเป็นได้อย่างราบรื่นและลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการดูแลโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงเรื่องการล้างแอร์ ซึ่งสามารถตั้งค่าให้แจ้งเตือนล่วงหน้าได้
“เน็กซเตอร์ อินคิวเบเตอร์ มีแนวคิดของการทำงาน โดยนำความต้องการของเจ้าของบ้าน และแกนหลักในเรื่อง “คิด สร้าง ซ่อม อยู่” เป็นที่ตั้งในการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้ง Design Connext (ดีไซน์ คอนเนค) แพลตฟอร์มศูนย์รวมผลงานและข้อมูลของสถาปนิก อินทีเรียร์ ดีไซด์เนอร์ และภูมิสถาปนิก มากที่สุดในไทย ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่สนใจหาแรงบันดาลใจในเรื่องการออกแบบ โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อกับผู้ออกแบบได้โดยตรง, SCGHOME.com แพลตฟอร์มออนไลน์ของร้าน SCG HOME และ Q-CHANG (คิวช่าง) แพลตฟอร์มศูนย์รวมช่างคุณภาพและบริการดูแลบ้านครบวงจร ขณะที่ MY Home เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาเติมเต็มแนวคิดของในเรื่องของการอยู่อาศัยได้อย่างครบวงจร”นายศานิตย์ กล่าว
นายศานิตย์ กล่าวว่า การพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นค่อนข้างจะมีความสำคัญมากในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจสตาร์ทอัพจะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว สามารถเรียนรู้ปัญหา และปรับตัวไปพร้อมๆ กับความต้องการที่แท้จริงของตลาด ซึ่งที่ผ่านมานอกจากเน็กซเตอร์ อินคิวเบเตอร์ทำหน้าที่บ่มเพาะสตาร์ทอัพแล้ว เรายังได้โดยปรับระบบบริหารจัดการให้เป็น Sand Box เพื่อให้สตาร์ทอัพได้ทดลองทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ด้วยกระบวนการทำงานที่สั้นลงและคล่องตัว ซึ่งทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพของเน็กซเตอร์ อินคิวเบเตอร์สามารถพัฒนาธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ ความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และมีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำ
อย่างไรก็ตามในอนาคตจะเห็นแนวทางการพัฒนาสตาร์ทอัพอื่นๆ เพิ่มเติม แต่ยังคงแนวคิดเรื่อง “คิด สร้าง ซ่อม อยู่” เช่นเดิม โดยในปัจจุบันเริ่มเห็นเทรนด์ใหม่ๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นและน่าสนใจทั้งเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มคนรักสัตว์ให้สามารถตอบโจทย์ได้ทุกความต้องการ รวมถึงการเข้าไปดูแลจัดการเรื่องการประกันบ้าน และเรื่องของการเข้าไปดูแลด้านสินเชื่อเพื่อบ้าน (Home Loan) โดยจะเข้าไปตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนรักบ้านและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดได้เป็นอย่างดี
นายชาติวัฒน์ เลิศวงศ์วีรชัย MY Home Business Team Lead (ผู้บริหาร MY Home) เปิดเผยว่าที่ผ่านมา MY Home มียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 65,000 ครั้ง โดยแอปพลิเคชันนี้เปิดให้บริการมาแล้วประมาณ 1 ปี และกว่า 70% ของกลุ่มผู้ใช้งานเป็นผู้ใช้งานกับบ้านเก่าตามแนวคิดของ MY Home ตั้งไว้ ซึ่งทำให้เห็นปัญหาจากกลุ่มผู้ใช้งานมากขึ้น โดยแผนการดำเนินงานในปี 2566 จะมีการปรับปรุงแอปฯให้การใช้งานในทุกด้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้มีแผนที่จะเพิ่มเครื่องมือใหม่ๆ ในการเข้าไปจัดการและดูแลในด้านอื่นๆ มากขึ้น เพื่อให้การอยู่อาศัยบ้านนั้นมีความราบรื่น อาทิ การดูแลรถยนต์ การดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
“หลังจากที่เปิดตัวมาระยะหนึ่งถือว่าช่วงที่ผ่านเป็นช่วงที่เราได้ทดลอง เรียนรู้ และปรับปรุงบริการของเราให้สามารถตอบสนองต่อผู้ใช้งานได้อย่างดี ซึ่งหนึ่งในความท้าทายที่เกิดขึ้นคือการจัดการฐานลูกค้า ซึ่งต้องยอมรับว่าการปรึกษาปัญหาเรื่องบ้านแทบจะไม่เป็นกลุ่ม หรือการรวมตัวของข้อมูลอยู่น้อยมาก เนื่องจากแต่ละคนก็จะมีการจัดการต่างกัน ซึ่งวิธีการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าจึงเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นอีกความท้าทายหนึ่งคือการจะสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าให้มีการดูแลเรื่องบ้านก่อนเกิดเรื่อง เนื่องจากธรรมชาติของคนไทยเองมักจะแก้ปัญหาหลังจากเกิดปัญหานั้นไปแล้ว” นายชาติวัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม MY Home ก็มุ่งมั่นที่จะนำประสบการณ์และปัญหาของลูกค้ามาพัฒนาให้สามารถตอบโจทย์กับความต้องการให้มากขึ้น โดยจะเน้นไปที่การเชื่อมโยงบริการภายใต้แนวคิด “คิด สร้าง ซ่อม อยู่” ให้เป็นประโยชน์ และตั้งเป้าเป็นผู้ช่วยที่ฉลาดขึ้นให้กับเจ้าของบ้านได้อย่างดี