หลังการระบาดของโควิดผ่านพ้นไป หลายธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นผลประกอบการได้ดีอีกครั้ง “โออิชิ กรุ๊ป” (Oishi Group) หนึ่งในยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารเครื่องดื่มในเครือไทยเบฟฯ ที่ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมาแม้จะต้องเผชิญมรสุมต่างๆในธุรกิจ แต่จากการปรับตัวกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องที่สุด“โออิชิ” ก็สามารถสร้างการเติบโตได้แแบบท็อปฟอร์มอีกครั้ง ทั้งในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
โดยผลประกอบการในปีงบประมาณ 2565 ของบริษัท (1 ต.ค.64 – 30 ก.ย. 65) โออิชิสามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจให้กลับมาแข็งแรงและมั่นคงอีกครั้ง โดยมีรายได้รวม 12,696 ล้านบาท เติบโต 29.3% และมีกำไร 1,199 ล้านบาท เติบโต 120% ซึ่งเกือบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด (2562) มาจากกลุ่มเครื่องดื่ม 7,292 ล้านบาท เติบโต 16.7% และกลุ่มอาหารซึ่งยังได้รับผลกระทบจากโควิดมีรายได้ 5,404 ล้านบาท เติบโต 51.5%
นับเป็นการกลับมาเติบโตเป็นการกลับมาทำรายได้ และผลประกอบการที่น่าพอใจ ท่ามกลางวิกฤตโควิด ซึ่งเป็นผลพวงจากการปรับตัวและกลยุทธ์ต่างๆให้ทันต่อสถานการณ์และปัจจัยลบที่รุมเร้า เพื่อรับมือกับความท้าทายจากสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยลบต่างๆ ได้
ทำให้ในปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค.65-30 ก.ย.66) ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจตามเป้าหมายของกลุ่มไทยเบฟ ภายใต้ Passion 2025 เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มครบวงจรของภูมิภาคอาเซียน โดยใช้เงินลงทุนรวม 675 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 220% โดยทั้งธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร จะต้องมุ่งตอบโจทย์ด้านสุขภาพ ตามเทรนด์ “Health & Wellness” และจะเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มอาหารกว่า 50%
ที่น่าจับตาคือก้าวใหม่ของ “โออิชิ” ในกลุ่มธุรกิจอาหารกับบทบาทสู่การเป็น “แฟรนไชส์ซอร์” (Franchisor) หรือการขยายโมเดลธุรกิจสู่ความเจ้าของสิทธิ์แบรนด์ในการขยายสาขารูปแบบแฟรนไชส์เป็นครั้งแรก โดยการนำร่อง “โออิชิ บิซโทโระ” ร้านอาหารบริการด่วน (QSR) สไตล์ญี่ปุ่น เนื่องจาก เป็นโมเดลที่ง่าย ไม่ต้องจอดรถ และคล่องตัวในการนำร่องแตกไลน์ใหม่
คุณนงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดิมทีร้านอาหารในเครือโออิชิถึง 90% จะเปิดให้บริการในศูนย์การค้า ขณะที่แบรนด์ในเครืออีก 80-90% จะเป็นการทำโมเดลร้านอาหารในรูปแบบบุฟเฟต์ แต่การผ่านบทเรียนในช่วงโควิดตลอด 3 ปีที่ผ่านมา หลังจากได้มีการปรับกลยุทธ์ที่หลากหลาย ทำให้บริษัทเริ่มมองหาโมเดลใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงมากขึ้น รองรับเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้นตลอดช่วงที่ผ่านมาจึงได้เริ่มขยายสาขาออกไปนอกศูนย์การค้าและปรับรูปแบบการให้บริการใหม่ที่เป็นแบบสั่งทานหรืออาหารจานด่วนมากขึ้น เพื่อสร้างความสะดวกและรวดเร็ว สามารถซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน และส่งดิลิเวอรี่ได้ ให้สอดคล้องกับยุคสมัย ทำให้เมื่อช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมาได้เริ่มเปิดให้บริการ “โออิชิ บิซโทโระ” ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นแบรนด์หลักในการทำตลาด รวมถึงในรูปแบบแฟรนไชส์ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ครั้งแรกของทางเครือฯ
คุณนงนุช ยังบอกอีกว่า การเปิดขายโมเดลแฟรนไชส์ ถือเป็นการดึงจุดแข็งจากบริษัทแม่อย่างไทยเบฟเข้ามาเสริมแกร่งให้กับธุรกิจอาหารของทางเครือ เพราะนอกจากการบาลานซ์พอร์ตธุรกิจอาหารยังเป็นการขยายไปยังโมเดลใหม่ๆ โดยเฉพาะบทบาทใหม่แฟรนไชส์ซอร์ ที่บริษัทมองว่าถึงเวลาและพร้อมแล้วที่จะก้าวเข้ามาในโมเดลดังกล่าว หลังจากที่ผ่านมาโออิชิ และบริษัทแม่อย่างไทยเบฟ รับบทเป็น แฟรนไชส์ซี หรือ ผู้ซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์มานาน
“เรา (ไทยเบฟ) มีประสบการณ์ มีทีมซัพพลายเชนหลังบ้านที่พร้อมในทุกกระบวนการ มีระบบครัวกลางที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังสามารถเทรนเด็กใหม่เพื่อเข้ามาในส่วนของธุรกิจร้านอาหารได้ ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดว่า ในเมื่อเราพร้อมอยู่แล้วทำไมเราจะเทรนแฟรนไชส์ไม่ได้ มาผสานกับเทคโนโลยี คือการสร้างรายได้จากของที่มี แน่นอนโควิดทำให้เราคิดเยอะขึ้น ว่าเราจะ Make Money หรือต่อยอดธุรกิจได้จากอะไรบ้าง”
ขณะที่ความเป็นอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทยยังถือว่ามีความได้เปรียบและอนาคตสดใส เพราะประเทศญี่ปุ่นถือเป็นจุดหมายปลายทางเบอร์ต้นๆในระดับ Top 3 ของคนไทยในการกิน ดื่ม เที่ยว พฤติกรรมดังกล่าวทำให้คนไทยคุ้นชินกับอาหารญี่ปุ่นเป็นอย่างดี แม้หลังการระบาดของโควิด-19 ความนิยมดังกล่าวยังไม่ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ข้อดีของอาหารญี่ปุ่นผู้บริโภครู้สึกว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy) ที่สอดรับกับนโยบายการทำธุรกิจของทางเครือ
แม้บุฟเฟต์จะกลายเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคยังคงตามหาอยู่ แต่การบาลานซ์พอร์ตให้ดีเพื่อรองรับเทรนด์ที่เปลี่ยนไปยังคงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งแน่นอนว่าการเลือกเอาแบรนด์ “โออิชิ บิซโทโระ” มาเปิดขายแฟรนไชส์ทำให้มองว่าเป็นช่วงเวลา จังหวะที่เหมาะสมแล้ว
ส่องความได้เปรียบ “โออิชิ บิซโทโระ” ทำไม? ลุยขายแฟรนไชส์แบรนด์แรกในเครือฯ
สำหรับแบรนด์ “โออิชิ บิซโทโระ” นั้นถือเป็นแบรนด์ร้านอาหารบริการด่วนในสไตล์ญี่ปุ่น มีขนาดร้านกะทัดรัด รูปแบบอาหารที่ง่ายต่อการสั่งและบริการ มีความเป็น “Value for Money” เข้าถึงง่ายไม่เกิน 200 บาทต่อเซ็ต และสาขาสามารถขยายได้ง่าย การลงทุนลดลงในเรื่องการบริหารจัดการหลังบ้าน นั่นทำให้ลูกค้าทั่วไปสามารถเข้าถึงแบรนด์ได้ง่าย จึงเลือกหยิบแบรนด์นี้ขึ้นมาเป็นแบรนด์แรกในการแตกโมเดลแฟรนไชส์
โดยปัจจุบัน “โออิชิ บิซโทโระ” มีแพ็คเกจขายแล้ว เบื้องต้นการลงทุนเฉลี่ย 3 ล้านบาทต่อสาขา ขนาด 50-60 ตร.ม. ซึ่งขณะนี้มีลูกค้าที่ให้ความสนใจเข้ามาเจรจาบ้างแล้วใน 2 ประเภทของการซื้อสิทธิ์ ทั้ง มาสเตอร์แฟรนไชส์ และ แฟรนไชส์ธรรมดา
ทั้งนี้ในเฟสแรกจะเริ่มเปิดให้บริการสาขาแฟรนไชส์ในกรุงเทพฯ ก่อน เนื่องจากบริษัทสามารถเข้าไปดูแลช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ ในมุมหนึ่งทางค่ายก็เป็นแฟรนไชส์ของหลายแบรนด์อยู่แล้ว โดยมีแบรนด์ที่รู้จักกันดีอย่าง KFC ทำให้เราก็เรียนรู้ที่จะเป็นแฟรนไชส์ซอร์ สาขาแรกที่กรุงเทพฯ ก่อน ปีนี้เพื่อให้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น รวมถึงพัฒนาต่อยอดให้ดีที่สุด
ทั้งนี้วางเป้าหมายการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ 10-15 สาขาในเร็วๆนี้ ก่อนที่จะเดินหน้าเตรียมความพร้อมในแบรนด์อื่น เช่น ชาบูชิ ในอนาคตซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายโมเดลธุรกิจของทางค่ายแล้วยังทำให้แบรนด์มีการเข้าถึงได้ง่ายขึ้นอีกด้วย การแตกโมเดลดังกล่าวเป็นยังเป็นการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับ Passion 2025 ของบริษัทแม่อย่างไทยเบฟในการกรุยทางในตลาดระดับอินเตอร์ในอนาคต
ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจร้านอาหารของโออิชิ จะมีการลงทุนขยายสาขาที่เพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว (ในทุกแบรนด์) จากช่วงก่อนโควิดที่ขยายสาขาเฉลี่ย 15 แห่งต่อปี ซึ่ง 3 ปีจากนี้เตรียมเปิดสาขาใหม่อย่างน้อย 30 สาขาต่อปี หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100 สาขาภายในปี 2568 และจะมีสาขามากกว่า 400 สาขา
4 กลยุทธ์หลัก ปูพรมตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม ลุยเซกเมนต์น้ำตาล 0% รับแนวโน้มสดใส
อีกฟากในส่วนของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม ที่มี “ชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิ” เป็นเรือธงอยู่นั้น หลังปีที่ผ่านมาตลาดชาเขียวพร้อมดื่มกลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง โดยมีกลุ่ม 0% เป็นเซกเมนต์หลักที่เติบโตอย่างมีนัย ทำให้ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มกลับมามีมูลค่าถึง 13,229 ล้านบาท เติบโต 22% มากกว่าช่วงก่อนโควิด โดยโออิชิเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งการตลาด 48% เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 3-4 ปี ที่มีส่วนแบ่งตลาด 43%
ทำให้ทางค่ายยังคงเดินหน้าลุยธุรกิจชาพร้อมดื่มอีกครั้งโดยจะเน้นไปที่การเจาะตลาดสุขภาพ หรือกลุ่มชาเขียวน้ำตาล 0% ที่มีอัตราการเติบโตแบบมีนัยมาเป็นเรือธงหลัก ซึ่งจะเป็นการสร้างผสมผสานความเป็นชาเขียวพร้อมดื่มใหม่ของธุรกิจเครื่องดื่ม ทั้งนี้เพื่อขยายฐานลูกค้า รวมถึงจับกลุ่มผู้บริโกคที่มูฟมาจากการดื่มนำ้เปล่านำ้อัดลม มาป็นหนึ่งในคีย์ที่สร้างรายได้ และกำไรให้ธุรกิจ
โดยจะมีการการเปิดช่องทางต่างๆเพิ่ม โดยกลุ่มกรีนที เบส ถือเป็นใหญ่ของทางค่าย หลังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 18% ส่วนชาเขียวอัดลมแบรนด์ อัดลม ชาคูลซ่า ก็เติบโตขึ้น 67% โดยมีช่องทางขายดีในโรงเรียน โดยในอนาคตจะขยายตลาดใหม่ไปเปิดช่องทางต่างๆเพิ่มขึ้นรวมถึงในต่างประเทศ ที่เข้าไปทำตลาดแล้วกว่า 33 ประเทศ
หนึ่งในกลยุทธ์หลักที่ขับเคลื่อน โออิชิ กรีนที คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพผ่านการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และขยายฐานผู้ดื่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่รักสุขภาพ พร้อมสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดใหม่ๆ ปลุกกระแสการดูแลสุขภาพ ผ่านคีย์แอเรีย 4 กลยุทธ์หลัก ที่ประกอบไปด้วย
- ชาเขียว เดินหน้าทำการตลาด โปรโมทสร้างการรับรู้คาเทชินในชาเขียวมากขึ้น
- ขยายลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่วัยทีนมากขึ้น อย่างปีที่ผ่านมาทำเลมอน สเลเยอร์ แน่นอนปีนี้ก็จะมีตัวใหม่ออกมา
- การขยายเซกเมนต์นำ้ตาล 0% เพราะเห็นแล้วว่าออกมาตอบโจทย์คนที่ดูแลสุขภาพคิดว่าออกมาแล้วโตอย่างยั่งยืน ไม่ชั่ววูบ (อดีตไม่เคยมี) ปกติโออิชิค่อนข้างแมส และมีตัวโกลด์รักสุขภาพ หลังเปิดตัวชาเขียวน้ำตาล 0%” เซ็กเมนต์ใหม่ที่โออิชิแจ้งเกิดได้สำเร็จ และมีการตอบรับที่ดีจากลูกค้าในช่วงเวลาเพียง 1 ปี สัดส่วนการขายถึง 3%
- เน้นการส่งออกมากขึ้น จากปัจจุบันสัดส่วนส่งออก 25-30% อยู่แล้ว ปัจจุบัน 33 ประเทศ กัมพูชา ลาว และพม่า
ทั้งหมดคือหมุดหมายที่สำคัญของโออิชิ ในการก้าวสู่ผู้นำธุรกิจอาหารเครื่องดื่มแบบครบวงจร อีกทั้งยังต้องการสร้างการเติบโตแบบดับเบิ้ลในปี 2030 ต่อไปในอนาคต
อ่านเพิ่มเติม