ด้วยโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนสู่สังคมสูงวัย ไม่เพียงแค่นั้นยังมีคนโสด คนเหงา ครอบครัวไม่มีลูกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นทาสสัตว์เลี้ยงกันมากขึ้น โดยเฉพาะสุนัขและแมว ที่ดูแลน้องๆ เหมือนเป็น “สมาชิกในครอบครัว”
กลายเป็นปรากฏการณ์ Pet Humanization คือ เจ้าของสัตว์เลี้ยงมองว่าตัวเองเป็น “พ่อแม่” ของสัตว์เลี้ยง หรือเป็นทาสหมา-ทาสแมว พร้อมเปย์ทั้งเงินและเวลา ดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่อาหารการกิน สุขภาพ หาของเล่น เสื้อผ้า พาไปท่องเที่ยวพักผ่อนด้วยทุกที่
เทรนด์นี้ส่งผลให้ตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยงเติบโตทั้งในตลาดโลกและประเทศไทย ยูโรมอนิเตอร์รายงานว่าธุรกิจสินค้าและบริการเกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงในปี 2021 มีมูลค่า 43,372 ล้านเหรียญสหรัฐ และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 110,268 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่าตลาดในไทย ธุรกิจสินค้าและบริการเกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 3,954 ล้านบาท และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 40,638 บาท
ในปี 2026 คาดการณ์ว่าตลาดสัตว์เลี้ยงของโลกมีมูลค่าสูงถึง 217,651 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ยปีละ 7.2% (ปี 2021-2026) เช่นเดียวกับมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยที่คาดว่าจะเติบโตจากปี 2021 เฉลี่ยปีละ 8.4% มาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาทในปี 2026
จากแนวโน้มดังกล่าว จึงมีบริษัทขนาดใหญ่เข้าสู่ธุรกิจสัตว์เลี้ยงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น RS เปิดตัวแบรนด์ Lifemate, เซ็นทรัล รีเทล เปิด Specialty Store ร้านสัตว์เลี้ยงครบวงจร แบรนด์ PET ‘N ME ,ไทยยูเนี่ยน (TU) ส่ง ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น (ITC) ผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 2 ของเอเชีย และท็อป 10 ของโลก เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้ยังมีสินค้าและบริการใหม่ๆ สำหรับสัตว์เลี้ยง ขยายตัวอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บริการดูแลสัตว์เลี้ยง, บริการเดินทางรับ-ส่งสัตว์เลี้ยง, ประกันสัตว์เลี้ยง, ฟิตเนสสัตว์เลี้ยง, คาเฟ่สัตว์เลี้ยง, อุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์สำหรับสัตว์เลี้ยง
จากเทรนด์ Pet Humanization และโอกาสทำธุรกิจในตลาดสัตว์เลี้ยงมูลค่ามหาศาลนี้ จึงต้องมาทำความเข้าใจผู้บริโภคทาสสัตว์เลี้ยงที่เรียกว่า Petsumer (Pet + Consumer) และกลยุทธ์การตลาดที่จะเข้าถึงคนกลุ่มนี้ที่ว่าด้วย Petsumer Marketing ซึ่งเป็นการเข้าใจการตลาด ที่ตอบสนองโลกของสัตว์เลี้ยง และการสื่อสารแบรนด์ผ่านสัตว์เลี้ยง เพื่อเข้าถึงทาสสัตว์เลี้ยง
เจาะอินไซต์ผู้บริโภคทาสสัตว์เลี้ยง
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU จัดทำผลวิจัย Petsumer Marketing ใช้กลุ่มตัวอย่าง 1,046 คน เก็บข้อมูลโดยใช้ผ่านแบบสอบถาม และสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง 100 คน ในกลุ่ม Gen Y- Gen X
พบว่าการเลี้ยงสัตว์ของคนไทยมี 3 รูปแบบ
1. Pet Parent เลี้ยงเพื่อเป็นลูก 49%
กลุ่มนี้จะยกฐานะสัตว์เลี้ยงเทียบเท่ากับลูก หรือคนในครอบครัว เป็นพฤติกรรมที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นลูก ซึ่งมีมานานแล้ว แต่มีมากขึ้นในช่วงโควิดที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้าน Work from home และยังสอดคล้องกับแนวโน้มประชากรไทย ที่เด็กเกิดลดลง คนโสดและครอบครัวไม่มีลูกเพิ่มขึ้น จึงเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก
จากงานวิจัยพบว่าคนโสดเลี้ยงสัตว์ 80% จากสาเหตุความเหงา
2. Pet Pretige เลี้ยงเพื่อสถานะทางสังคม 33%
กลุ่มนี้เลี้ยงสัตว์เพื่อบอกสถานะตัวเองในสังคม เป็นการเลี้ยงเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์เจ้าของ แสดงออกถึงตัวตนและไลฟ์สไตล์ของผู้เลี้ยง เช่น การเลี้ยงสิงโต สัตว์หายากราคาแพง เป็นการเลี้ยงเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์เจ้าของ สะท้อนบุคลิกและสถานะร่ำรวย
3. Pet Healing เลี้ยงเพื่อช่วยเหลือ ช่วยบำบัดรักษา 18%
กลุ่มนี้เลี้ยงเพื่อคลายเหงา คลายเครียด ช่วยเรื่องสภาพจิตใจ จากการศึกษาข้อมูลในต่างประเทศ การเลี้ยงแบบ Pet Healing มีประโยชน์หลายด้านทั้งเพิ่มความสุข ทำให้สภาพจิตดี ลดความหดหู่ซึมเศร้า, ลดความเสี่ยง คือช่วยให้ความดันโลหิตลดลง, เลี่ยงความเหงา คือ ช่วยเยียวยาจิตใจและร่างกาย มักใช้ในบ้านพักคนชรา โรงพยาบาล สถานบำบัดจิตใจ
มนุษย์ทาสตูบมากสุด
สำรวจประเภทสัตว์เลี้ยงที่คนไทยนิยมเลี้ยงมากสุด
– มีผู้ที่เลี้ยงสุนัขมากที่สุด 40.4% สาเหตุที่หลงรักเจ้าตูบ เพราะมีความซื่อสัตย์ ขี้เล่น ฉลาด แสนรู้ และช่วยคลายเหงา
– มีผู้เลี้ยงแมว 37.1% สาเหตุที่หลงรักน้องเหมียว เพราะไม่เสียงดัง น่ารัก และขี้อ้อน การเลี้ยงดูง่าย เป็นสัตว์ที่รักความสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น
– มีผู้เลี้ยงสัตว์ Exotic 22.6% สาเหตุที่ชอบสัตว์แปลก เพราะดูแตกต่าง เทรนดี้ บ่งบอกตัวตนคนเลี้ยง เป็นสัตว์เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่น้อย อายุยืน เป็นโรคน้อย สามารถเลี้ยงตามธรรมชาติได้ ความนิยมสัตว์เลี้ยง Exotic เช่น ปลาสวยงาม นก กระต่าย เต่า หนู
เปิดค่าใช้จ่ายทาสสายเปย์
ในการเลี้ยงสัตว์จะต้องมีการรับข้อมูลต่างๆ เพื่อตัดสินใจ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในการเลี้ยงสัตว์แต่ละชนิด รวมถึงค่าดูแลรักษาที่แตกต่างกันไป สรุปได้ดังนี้
– ช่องทางการรับข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด คือ 1. โซเชียล มีเดีย 39.8% 2. เพื่อนและครอบครัว 28% 3. หาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต 22.3% และโฆษณาทีวี 9.9%
– ช่องทางการซื้ออาหารสัตว์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ 1. ร้านขายสินค้าสัตว์เลี้ยง 34.8% 2. อีคอมเมิร์ซ 22.2% 3. ซูเปอร์มาร์เก็ต 12.4% 4. ไฮเปอร์มาร์เก็ต 11.8% และ 5. คลินิกรักษาสัตว์ 8.2% โดยมีความถี่ในการซื้อ มากกว่า 50% ซื้อมากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน ปัจจัยกระตุ้นการซื้ออาหารสัตว์เลี้ยง คือ โปรโมชั่น ความหลากหลายของสินค้า และคุณภาพ
– แบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงยอดนิยม กลุ่มสัตวเลี้ยงทั่วไป คือ 1. Smart Heart 2. Me-O และ 3. Royal Canin กลุ่มสัตว์เลี้ยง Exotic คือ 1. Optimum 2. Sakura 3. Prima
– ค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์เลี้ยงต่อเดือน
ต่ำกว่า 1,000 บาท 34.2%
1,001-2,000 บาท 39.3%
2,001-3,000 บาท 15.6%
มากกว่า 3,000 บาท 10.9%
– บริการยอดนิยมในการดูแลสัตว์เลี้ยง คือ 1. อาบน้ำตัดขน 60.1% 2. รับฝากเลี้ยง 25.9% 3. สปานวด 6.7% 4. ทำเล็บ 5.8%
ค่าใช้จ่ายต่อครั้งในการใช้บริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง
1,000-3,000 บาท สัดส่วน 57%
ต่ำกว่า 1,000 บาท สัดส่วน 15.6%
มากกว่า 3,000 บาท สัดส่วน 27%
ความถี่ในการนำสัตว์เลี้ยงไปใช้บริการ คือ 1 ครั้งต่อเดือน 38.1% , น้อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน 28.1% , มากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน 14.4% และ โอกาสสำคัญ 19.4%
– สิ่งที่คนรักสัตว์ทั้งหลายต้องการบริการเพิ่มเติมมี 3 อย่าง
1. Pet Wellness Center บริการตรวจสุขภาพ รักษาโรค อาบน้ำ ตัดขน สปาสัตว์เลี้ยง ฝากสัตว์เลี้ยง จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ และปรึกษาแพทย์ออนไลน์
2. Pet Training ฝึกนิสัยสุนัขพันธุ์ดุ คลินิกดัดนิสัยสุนัข-แมว หรือการฝึกกีฬาเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน
3. After Death Service บริการรูปปั้นสัตว์เลี้ยงหลังเสียชีวิต สร้อยล็อกเก็ตแทนใจ หรือตุ๊กตาสุนัขเหมือนจริง
– ด้านการรักษาพยาบาล คนเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ 43.3% เลือกที่จะนำสัตว์ไปรักษาในคลินิกเอกชน รองลงมา 41.2% เลือกนำสัตว์เลี้ยงเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์เอกชน และ 9.8% เลือกรักษาในโรงพยาบาลสัตว์รัฐบาล โดยปัจจัยที่พิจารณาเลือกโรงพยาบาล หรือคลินิกในการใช้บริการ คือ ความเชื่อมั่นในสัตวแพทย์เป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ ทำเลที่ตั้ง และชื่อเสียงของคลินิก ทางด้านการรักษาของสัตว์เอ็กโซติก คลินิกเฉพาะทางยังมีไม่มากเท่าไรนัก
สื่อสารการตลาดจากแบรนด์ถึงคนเลี้ยงสัตว์
การตลาดสัตว์เลี้ยง (Pet Marketing) คือ กลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์เลือกใช้ “สัตว์เลี้ยง” เข้ามาเป็นอัตลักษณ์ส่วนหนึ่งของแบรนด์เพื่อช่วยในการสื่อสารและสร้างภาพจำ หรือเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาด
สำหรับการใช้สัตว์เลี้ยงในการโฆษณา (Pet on Advertising) ภาพโฆษณาที่มีสัตว์และสินค้าอยู่ด้วยกันมีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุด 43.82% รองลงมาคือ ภาพที่มีสินค้าอย่างเดียว 37.08% และภาพคน สัตว์ และสินค้า มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ 19.10%
โดยภาพที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุดอย่าง ภาพที่มีสัตว์และสินค้าอยู่ด้วยกันจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ เพราะสัตว์จะช่วยดึงดูดได้ ดูไม่เน้นการขายมากจนเกินไป และสามารถเปรียบเทียบขนาดของสินค้าได้อย่างชัดเจน สำหรับสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคอยากเห็นสัตว์เลี้ยงในการสื่อสารการตลาด ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค สายการบิน เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์
นอกจากนี้ยังมีสัตว์เลี้ยงที่ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียล หรือ Pet Influencer ที่หมายถึง สัตว์เลี้ยงที่มีอิทธิพลที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ด้านการตลาด ประโยชน์ของ Pet Influencer มีทั้งช่วยโปรโมทสินค้า หรือบริการเพื่อคนรักสัตว์ ช่วยในการโปรโมทกิจกรรมและการท่องเที่ยวเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และความบันเทิงแก่ผู้ติดตาม และสร้างรายได้จากคอนเทนต์ต่างๆ
ประเภทของคอนเทนต์ที่โดนใจผู้ชมมากที่สุด คือ คอนเทนต์บันเทิง ขำขัน โชว์พฤติกรรมสัตว์เลี้ยงน่ารักๆ โดยคลิปสั้น หรือ Short Clip ถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำคอนเทนต์
PETSUMER กลยุทธ์มัดใจทาสสายเปย์และโอกาสทางธุรกิจ
จากอินไซต์ของเหล่าทาส สรุปกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อมัดใจเหล่าทาสสายเปย์ และสร้างโอกาสทางธุรกิจ ออกมาเป็นกลยุทธ์ “PETSUMER” ดังนี้
4 กลยุทธ์ทางด้านสินค้าและบริการ
Personalization – ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะด้าน
Easy Access – ความสะดวกและเข้าถึงง่าย คือ หัวใจ
Trustworthiness – มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ น่าไว้วางใจ
Social Influence – อิทธิพลจากคนในสังคมสำคัญต่อการตัดสินใจ
4 กลยุทธ์ด้านการสื่อสาร
Uniqueness – สร้างเอกลักษณ์ให้โดดเด่นและเป็นที่จดจำ
Mental Support – การสื่อสารโดยใช้สัตว์เพื่อคลายเครียด
Engagement – สร้างความผูกพันกับลูกค้าจนเกิด Loyalty
Rights – ให้ความสำคัญกับสิทธิของสัตว์เลี้ยง
บทสรุปวิจัย Petsumer Marketing ทำให้เห็นช่องทางในการสร้างโอกาสจากตลาดเหล่าทาสสายเปย์ได้มากมาย ทั้งด้านสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง ได้แก่ การขายของที่ระลึก หรือของแทนใจ การขายอาหารเสริม หรือวิตามิน และแฟชั่นสัตว์เลี้ยง ทางด้านการบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงก็มีโอกาสในการธุรกิจเช่นกัน อาทิ ศูนย์บริการสัตว์เลี้ยงครบวงจร คลินิกสำหรับสัตว์เอ็กโซติก บริการเทเลเมดิซีน และบริการฝึกสัตว์เลี้ยง