ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในแวดวงธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากสภาพแวดล้อมธุรกิจ การแข่งขัน และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิม วงการบรรจุภัณฑ์ หรือแพคเกจจิ้ง (Packaging) ก็มีการปรับเปลี่ยนอย่างมากเช่นกัน สำหรับในปี 2566 เทรนด์การออกแบบแพคเกจจิ้งจะเปลี่ยนไปอย่างไรในยุคที่คนเริ่มหันมาใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเทรนด์ไหนจะมาแรง มาตามติดเทรนด์จาก คุณแชมป์ – สมชนะ กังวารจิตต์ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ไทยฝีมือระดับโลก จาก Prompt Design กัน
หากยังจำกันได้ ในปีที่ผ่านมามีหลายเทรนด์เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์สุขอนามัย (HYGIENEXT) หรือเทรนด์ TRAWELL ซึ่งเป็นการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างเดินทางท่องเที่ยว มาปีนี้หลายเทรนด์ยังคงอยู่ต่อเนื่อง แต่ก็มีเทรนด์ใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ผู้ประกอบการธุรกิจจึงต้องอัพเดทเทรนด์ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูดลูกค้ายิ่งขึ้น
1.RISE OF THE CAN การกลับมาของกระป๋อง
เราเริ่มเห็นทุกแบรนด์นำความยั่งยืนมาเป็น Purpose ขององค์กร แต่ปัญหาคือ ถ้าเราไปรอการคิดค้นวิจัยวัสดุคงจะเป็นเรื่องยาก และใช้เวลานานในการพัฒนา บรรจุภัณฑ์กระป๋องเป็นทางเลือกดั้งเดิม ที่ทุกคนจะกลับมาทบทวนอีกครั้ง เพราะได้ผลลัพธ์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทันที อีกทั้งยังได้ประโยชน์เรื่อง การจัดเก็บ การยืดอายุ และการขนส่งที่ง่ายขึ้น โดยคาดว่าจะเห็นบรรจุภัณฑ์กระป๋องที่กลายเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นสำหรับหมวดหมู่ต่างๆ ทั้งในภาคอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงสินค้าแปลกๆ ที่ไม่เคยใช้บรรจุภัณฑ์กระป๋อง ก็จะมาเลือกทางนี้มากขึ้น เพราะแนวโน้มการเติบโตโลกของบรรจุภัณฑ์กระป๋องนั้น เติบโตเฉลี่ยมากกว่า 6.1%
ความท้าทาย คือ วิธีการออกแบบลวดลายบนกระป๋องเพื่อสร้างความแตกต่างจากท้องตลาด หรือแม้กระทั่งการเลือกสินค้าใหม่ๆ เอามาใส่ในกระป๋องแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น แบรนด์คอนแทคเลนส์กระป๋องจาก CoFancy, แบรนด์กาแฟ Aokka ที่เอากระป๋องสีรูปทรงสี่เหลี่ยมมาใส่กาแฟ, แบรนด์น้ำดื่มกระป๋องเจ้าแรกในไทยอย่าง Greenery หรือแบรนด์ที่น่าสนใจอย่าง William Cocktails สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่เอา Cocktail อัดใส่กระป๋องเตี้ย ดูพรีเมี่ยมและหรูหรามากๆ
2. PACKAGING AS THE PRODUCT บรรจุภัณฑ์คือผลิตภัณฑ์
บรรจุภัณฑ์นับว่ามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอดีตบรรจุภัณฑ์มันแค่เป็นสิ่งที่ห่อหุ้มสินค้า เพื่อนำส่งสินค้าไปยังผู้บริโภค แต่แนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้น ก็คือ การมองบรรจุภัณฑ์ให้เป็นตัวสินค้าไปเลย
ถึงตรงนี้อาจจะงงๆ ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจความหมายของ บรรจุภัณฑ์ = สินค้า ง่ายขึ้น จึงให้มองบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าที่ไปช่วยทำให้เกิด Function ที่มากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงแต่ห่อหุ้มสินค้าแบบปกติทั่วไป ตัวอย่างเช่น แบรนด์ Urban Forest ที่ออกแบบบรรจุภัณฑ์หมอนรองคอ ที่สามารถนำบรรจุภัณฑ์มาสูบลมเข้าไปได้ หรือแม้กระทั่ง แบรนด์ F Solid Pod ที่เป็นบรรจุภัณฑ์สบู่ที่ช่วยให้ใช้ได้หมดเกลี้ยง โดยทำมาจากพลาสติก Recycle
ความท้าทาย ก็คือ เราจะเห็นการผสมผสานแนวคิดระหว่างความสวยงามกับฟังก์ชั่น เพื่อสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่ทั้งสวยงามและถูกใจเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภค และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
3. BOLD IS KING น้อย เรียบ ชัด
เทรนด์นี้ยังคงเป็นเทรนด์ของโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคือ ความเรียบง่าย แต่ความเรียบง่ายที่ว่านี้ เพิ่มเติมมาจากโลกที่กำลังฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด แม้ว่าร้านค้าจะกลับมาเปิด แต่พฤติกรรมของผู้คนยังคงซื้อของออนไลน์อยู่ แต่บางส่วนเริ่มกลับมาซื้อของ Offline กันมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้แบรนด์จำเป็นต้องโดดเด่นในหลายๆ Platform ทั้งหน้าร้านและในออนไลน์ ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นแบรนด์ต่างๆ ในต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับเรื่องสีสันที่โดดเด่น ลดความซับซ้อน กราฟิกที่ชัดเจน และโลโก้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ไม่ง่ายที่จะทำให้เราโดดเด่น
ตัวอย่างเช่น แบรนด์ BYOMA ที่ใช้การ Coat สีที่สมัยใหม่ และโลโก้ที่โดดเด่น หรือ แบรนด์สตาร์ทอัพขนมน้องใหม่อย่าง Gigitt จากบรูไน ที่ต้องการมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากขนมอื่นๆ ร่าเริง สนุกสนาน และมีชีวิตชีวา เค้าจงใจไม่แสดงภาพถ่ายของผัก เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวมักใช้กันมาก จึงเสริมความประทับใจผ่านสีบรรจุภัณฑ์ที่สดใส ให้ดึงดูดใจและแตกต่าง อย่างไรก็ตาม แม้เทรนด์นี้จะสร้างความโดดเด่นในทุกแพลตฟอร์ แต่ความท้าทายคือ เทรนด์นี้ก็มีอายุขัยเช่นกัน การนำไปใช้จึงต้องดูจังหวะให้ดี
4. DIVERSITY AND INCLUSIVITY / DESIGN FOR GOODS การออกแบบเพื่อสังคม
เทรนด์นี้ยังคงมีความต่อเนื่องมาจาก 2 ปีที่แล้ว เพราะหลายประเด็นที่เป็น Social Issues นั้นยังค่อยๆ รับการแก้ไขในภาพกว้าง หลายๆแบรนด์เริ่มลุกขึ้นมาป่าวประกาศว่า จุดยืนเรานั้น ยอมรับความหลากหลายของบุคคล ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเพศสภาพ, ทุพพลภาพ, ชาติพันธุ์, อายุ , สีผิว และความเหลื่อมล้ำ เหล่านี้เป็นสิ่งที่หลายๆ แบรนด์เริ่มตระหนักในการมาเล่นประเด็นตรงนี้ เช่น แบรนด์ Doritos ที่ทำ Limited Edition เพื่อเชิดชูคนผิวดำที่เป็นนักประดิษฐ์ นักคิดของโลก หรือแม้แต่ บริษัท Microsoft ที่ทำ Surface Adaptive Kit เพื่อช่วยผู้พิการในการใช้งานคอมพิวเตอร์ได้งานขึ้น โดยการใช้ชุดสติกเกอร์ที่จะช่วยเหลือผู้พิการ ตั้งแต่เปิดหน้าจอ ขาตั้ง และปุ่มกดต่างๆ หรือ แบรนด์เจลแต้มสิวอย่าง Cura-MD ที่ลุกขึ้นมาให้ทุกคนยอมรับความงามจากภายใน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสิว เพราะเรื่องสิวไม่ใหญ่เท่าใจเรา และกล้าที่จะออกไปไหนอย่างมั่นใจ ด้วยรอยยิ้มจากภายในจิตใจของเรา
ความท้าทาย ก็คือ เทรนด์นี้เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจมากๆ เป็นสิ่งที่ทั้งโลกมองหา ซึ่งแบรนด์ทุกๆแบรนด์สามารถทำได้ แต่ถ้าว่าแบรนด์ของคุณยังทำไม่ได้ แนะนำว่าให้ทำบรรจุภัณฑ์เป็น Edtion พิเศษก่อน
5. CRAFT AND DETAILING โหยหารายละเอียด
ในขณะที่ก่อนหน้านั้นสถานการณ์โควิด ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้ผู้บริโภคลดการสัมผัส และจับต้อง มันจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ เราจะเห็นแบรนด์ต่าง ๆ พยายามที่จะดึงดูดผู้บริโภคผ่านบรรจุภัณฑ์ที่มีรายละเอียดที่ซับซ้อนขึ้นและสัมผัสได้ เพราะการสัมผัสที่ทำให้การออกแบบนั้นมีมิติที่เหนือกว่าการมองเห็น และมันได้เปิดประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคที่กว้างขึ้น เช่น ไวน์ Avyun รุ่นลิมิเต็ด อิดิชั่น ใช้ใบองุ่นที่มีลายนูน โดยมีเส้นสีแดง ‘ไหล’ ไปตามเส้นเลือดที่เว้าแหว่งไปยังระดับต่างๆ เพื่อสะท้อนถึงระดับความสุกของไวน์ ในขณะเดียวกัน อย่างเช่น แบรนด์ดอยช้าง ทำลิมิเต็ด อิดิชั่น Doi Chaang Barrel Aged Coffee ใช้พื้นผิวของถังบาร์เรลไวน์ ที่บ่มกาแฟเอาไว้มาทำเป็นฐานบรรจุภัณฑ์ได้อย่างน่าสนใจ
ความท้าทาย ก็คือ เราจะเห็นแนวทางของบรรจุภัณฑ์ที่แปลกใหม่ สร้างสรรค์ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค เพราะมันคือสิ่งที่ดิจิตอลทำไม่ได้
6. NEXT LEVEL SMART PACKAGING อีกขั้นของสมาร์ทแพคเกจจิ้ง
แบรนด์เริ่มค้นหาวิธีใหม่ๆ ในการสื่อสารและมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายรวมถึงการเพิ่มขึ้นของบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิ่งนี้ทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ส่วนผสม และตราสินค้า ในฐานะที่เป็นเทรนด์ที่ค่อนข้างใหม่ เราได้เห็นสิ่งนี้พัฒนาอย่างต่อเนื่องในรูปแบบใหม่และน่าตื่นเต้น เช่น FaceGym ที่เป็นแบรนด์ความงาม ซึ่งมันสามารถจะบอกเล่าเรื่องราวการสอนการ Training เรื่องการดูแลผิวหน้าได้
ความท้าทาย ก็คือ ด้วยเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เราจะได้เห็นวิธีการใหม่ๆ ของแบรนด์ที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภคนอกเหนือจากสิ่งที่แสดงอยู่บนกล่อง เพราะการแสดงเรื่องราว, จุดประสงค์ของแบรนด์, ส่วนประกอบส่วนผสมที่น่าสนใจ มันสามารถใส่ลงไปใน AR, VR หรือ QR ได้ ซึ่งมันจะเปิดโลกทัศน์อีกโลกหนึ่งให้กับยุคใหม่ของบรรจุภัณฑ์อีกด้วย
7.ICONIC & VISUAL IDENTITY อัตลักษณ์ต้องมา
ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่บรรจุภัณฑ์ที่มีบทบาทสำคัญ ยังรวมไปถึงการทำ Brand Identity ที่สามารถจะออกแบบอัตลักษณ์ให้กลายเป็นภาพจำให้คนจดจำได้ เช่น สี, รูปทรง, ตัวอักษร, โลโก้, ภาพถ่าย และ ไอคอนต่างๆ เพื่อให้สามารถสื่อสารในทุกๆองค์ประกอบที่เกี่ยวกับแบรนด์ได้ เช่น แบรนด์ MEAT ZERO ที่สร้างอัตลักษณ์เรื่องสีของแบรนด์, ตัวโลโก้เองมีรูปเลข 0 และนำเอาอัตลักษณ์นี้มาขยายผลเป็นภาพจำบนบรรจุภัณฑ์ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆด้วย ถือว่าวางระบบอัตลักษณ์ได้ดีเลยทีเดียว
ความท้าทาย ก็คือ เราต้องออกแบบโดยใช้ความเข้าใจเกี่ยวกับแบรนด์ และระบบในการสื่อสาร โดยแปลความให้สามารถสื่อสารผ่านกราฟิก รูปภาพ และ Element ต่างๆ เพื่อองค์ประกอบที่ครบถ้วน
8. BACK OF PACKAGING ด้านหลังฉลากที่สำคัญ
ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้ต่างจากยุคที่ผ่านมาอย่างมาก เพราะผู้บริโภคในยุคปัจจุบันเริ่มอ่านฉลากมากขึ้น คนมองหาคุณประโยชน์ของสินค้า ผ่านข้อมูลโภชนาการ, ส่วนประกอบสำคัญ แม้กระทั่ง GDA ที่อยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของแพ็ค จึงเป็นเหตุที่ว่าเราต้องบริหารจัดการข้อมูลด้านหลังของบรรจุภัณฑ์ให้ดี ให้มีพื้นที่เหลือเพียงพอที่จะใส่ข้อมูลอื่นๆ เช่น เรื่องราวของแบรนด์ (Story), คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ (Benefit), จุดประสงค์ของแบรนด์ (Brand Purpose), ส่วนผสม (Ingredients)
ความท้าทาย คือ การบริหารจัดการพื้นที่ด้านหลัง และทำอย่างไรก็ได้ โดยใช้การออกแบบเพื่อทำให้ผู้บริโภคอ่านข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติมได้
9. SUSTAINABILITY IS NOT A TREND สิ่งแวดล้อมจะไม่ใช่กระแสอีกต่อไป
นับตั้งแต่นี้ “ความยั่งยืน” ไม่ใช่เทรนด์อีกต่อไปแล้ว แต่เรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง และเข้าไปอยู่ในสายเลือด เพราะแบรนด์ระดับโลกส่วนใหญ่จะนำเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นพันธกิจของบริษัทกันทั้งหมดในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก จึงต้องรีบขึ้นรถไฟขบวนนี้ ก่อนที่แนวโน้มโลกจะบังคับให้แบรนด์ทุกๆ แบรนด์ต้องดำเนินการ
แต่ความท้าทาย คือ ผู้ประกอบการ หรือ นักการตลาด ต้องรีบจับจองพื้นที่เรื่องสิ่งแวดล้อมเอาไว้ก่อนที่จะสายเกินไป โดยมีเทคนิคง่ายๆ ให้จดจำ 3 คำ ดังนี้ ลด หมายรวมถึง ลดขั้นตอน, ลดกระบวนการผลิต, ลดการใช้วัสดุ เป็นต้น เปลี่ยน หมายรวมถึง เปลี่ยนวัสดุ, เปลี่ยนขั้นตอน, เปลี่ยนวิธีการผลิต หรือจัดการขยะ และบอกต่อ หมายถึง อย่างน้อยๆ แบรนด์เราเป็นส่วนหนึ่งของกระบอกเสียงในการบอกต่อ หรือ รณรงค์ให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม
10. GLORY OF THE BRAND STORY เรื่องราวที่รุ่งเรือง
เทรนด์นี้ยังคงต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว เพราะ Story มันเป็นความแตกต่างในอีกมุมมองหนึ่ง อีกทั้งมันเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์ของคุณ เพราะสมองของมนุษย์นั้นเสพติดเรื่องราวต่างๆของแบรนด์ และเป็นส่วนทำให้ผู้บริโภคจดจำแบรนด์ของเราได้ ตัวอย่างเช่น แบรนด์น้ำแร่ VAVA Mineral Water เป็นแบรนด์น้ำแร่มาจากเขาใหญ่อันอุดมสมบูรณ์มาก ซึ่ง VAVA นั้นบิดมุมมองการสื่อสารจากทั่วๆไปพูดถึงแหล่งน้ำแร่, คุณประโยชน์ แต่แบรนด์ VAVA พูดถึงเรื่อง 4 Elements of Nature ซึ่งหมายถึง ธาตุทั้ง 4 จากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งองค์ประกอบนี้จะสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์แบบเหนือชั้นกว่าทั่วๆไป โดย VAVA ถ่ายทอดโดยใช้แนวคิด Global Symbolic ของธาตุทั้ง 4 สะท้อนผ่านรูปทรง พื้นผิวของขวด ถือเป็นตัวอย่างที่ดีและแตกต่างจากท้องตลาดมาก
ความท้าทาย คือ ต้องหาแง่มุมของการสื่อสารเรื่องราวใหม่ที่แตกต่างจากคู่แข่งที่มีอยู่ในท้องตลาดให้ได้ และต้องพูดในมิติที่ต่างออกไปจากขนบเดิมๆของการสื่อสาร