การประกาศวิชั่นใหม่ที่ท้าทายของ RS Group 3 ปีจากนี้ ที่จะสร้างมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ให้ได้ 100,000 ล้านบาท จากการ Spin-Off บริษัทในเครือ 5 บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ประกอบไปด้วย RS Multimedia, RS LiveWell, RS Connect, RS Pet All และ RS Music
หนึ่งในธุรกิจที่เป็นไฮไลท์ คือ “ธุรกิจเพลง” ภายใต้โครงสร้างบริษัทใหม่ RS Music ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของ RS ตั้งแต่เริ่มบริษัทในปี 2525 กว่า 40 ปี มีคลังเพลงกว่า 20,000 เพลงในมือ พร้อมดึง “ศิษย์เก่า” RS ที่แฟนๆคิดถึง กลับมาสร้างผลงานอีกครั้ง
ที่เปิดเผยรายชื่อให้เห็นกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น แรพเตอร์ (หลุยส์ สก๊อต-จอนนี่ อันวา), แดน-บีม, ดัง พันกร บุณยะจินดา, ลิเดีย ศรัณย์รัชต์ ดีน, Girly Berry, เขื่อน ภัทรดนัย ( K-OTIC)
เฮียฮ้อ คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ประกาศว่าปี 2566 จะเป็นปีแรกที่ RS กลับมาให้ความสำคัญในการลงทุนและทำงานเชิงรุกกับ “ธุรกิจเพลง” อีกครั้ง
หลังจาก RS ถอยจากธุรกิจเพลงมา 15 ปี ตั้งแต่ยุค Physical แผ่น CD หายไป จากการเข้ามาของยุคสตรีมมิ่ง นั่นคือสัญญาณที่ทำให้ RS ต้องลดน้ำหนักและลดบทบาทธุรกิจเพลง
แม้ธุรกิจเพลงของ RS ประสบความสำเร็จ สร้างศิลปินดังไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นยุค อิทธิ พลางกูร, ไฮ-ร็อก, เสือ-ธนพล, อนันต์ บุนนาค ต่อด้วยกลุ่มเพลงวัยรุ่น เต๋า สมชาย, หนุ่ม ศรราม, นุ๊ก สุทธิดา, บอยสเก๊าท์, แรพเตอร์ ทำยอดขายเทปและซีดีหลักล้านแผ่น
แต่ธุรกิจเพลงมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อเริ่มมี MP3, iPod ต่อด้วยสตรีมมิ่ง แม้ก่อนหน้านั้นเจอปัญหาเทปผีซีดีเถื่อน ก็ยังไม่สะเทือน เพราะมาร์จิ้นแผ่นซีดีสูงมาก แต่ในวันที่เทคโนโลยีเปลี่ยน RS เป็นค่ายเพลงแรกที่เห็นว่าอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกกำลังมีปัญหา ยุค Physical กำลังตาย และ Digital กำลังจะมา
การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล RS ปรับตัวก่อน ด้วยการตัดสินใจขายโรงงานซีดีทิ้ง เปลี่ยนจากเพลงแอนาล็อกขายซีดีมาเป็นดิจิทัล แต่ต้องเจอกับภาวะขาดทุนอยู่ 5 ปี
“การเปลี่ยนแปลงในช่วงนั้น ถือเป็นช่วงที่ยากและท้าทายที่สุดของอาร์เอส แต่เมื่อผ่านเรื่องยากๆ มาได้แล้ว นั่นคือ การสร้างภูมิต้านทานให้ธุรกิจและสอนให้เราเรียนรู้ว่า ทางข้างหน้าไม่รู้ว่าเราจะเจออะไร แต่อาร์เอสก็ทรานส์ฟอร์มสำเร็จ”
RS ฟื้นลงทุนธุรกิจเพลงในรอบ 15 ปี
ตลอด 15 ปีที่ RS ลดสัดส่วนธุรกิจเพลง ตั้งแต่ตัดสินใจขายโรงงานเทปซีดีทิ้ง แต่ธุรกิจเพลง “ไม่เคยไม่โต” เพราะอุตสาหกรรมเพลงก็มีการทรานส์ฟอร์มตัวเองสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ เติบโตมาต่อเนื่อง และใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ “สิ่งที่ตายคือซีดีแต่เพลงไม่ตาย”
ธุรกิจเพลง คือธุรกิจดั้งเดิมของ RS ที่เคยมีสัดส่วนรายได้จากการขายซีดีถึง 90% ของรายได้รวม หลังจากลดบทบาทลง ทำให้สัดส่วนรายได้เพลงเหลืออยู่ที่ 7% แต่ไม่ได้เลิกทำ!
วิชั่น RS 3 ปีจากนี้จะกลับสู่ธุรกิจเพลงอีกครั้ง เพราะเทรนด์ธุรกิจเพลงชัดเจนว่าตลาดสตรีมมิ่งกลับมาเติบโตและมีขนาดใหญ่มาก ไม่ต่างจากยุคซีดี และช่องทางโชว์บิซก็ยังเติบโต
วันนี้จึงเห็นสัญญาณ New Wave ธุรกิจเพลงกลับมาแล้ว
การกลับมาทำธุรกิจเพลงในครั้งนี้ RS จะใช้ความแข็งแรงเดิมมาต่อยอดธุรกิจเพลงในยุคใหม่ และมาพร้อม “พาร์ทเนอร์” ที่จะเข้ามาร่วมทุน (JV) ในไตรมาสแรกปีนี้ เพื่อหารายได้จากธุรกิจเพลงร่วมกันในรูปแบบ Total Music 360 องศา สร้างธุรกิจเพลงยุคใหม่ให้แข็งแรง
นั่นเป็นเหตุผลที่ RS จะกลับมารุกธุรกิจเพลงอีกครั้ง ปัจจุบันมี 3 ค่ายเพลง คือ Rsiam (อาร์สยาม) Rose Sound (โรสซาวด์) และ Kamikaze (กามิกาเซ่)
ธุรกิจเพลง RS Music เปิดตัว 2 โปรเจกต์ คือ RS Homecoming กลุ่มศิษย์เก่าอาร์เอสรุ่นต่างๆ ที่ยังมีแฟนคลับติดตามผลงานอยู่ และ RS Newcomers การสร้างศิลปินหน้าใหม่ให้วงการเพลง
ในยุคที่ RS มีรายได้หลักจากธุรกิจเพลง เคยทำรายได้สูงสุด 1,000 ล้านบาท มีศิลปินรวมกันทุกยุคกว่า 300-400 คน มีคลังเพลงกว่า 20,000 เพลง ปีนี้ที่ RS กลับมาลงทุนธุรกิจเพลงอีกครั้งวางเป้าหมายรายได้ RS Music ไว้ที่ 400 ล้านบาท ช่วง 3 ปีจากนี้ “อาร์เอสอาจจะกลับไปทำรายได้ธุรกิจเพลงแตะ 1,000 ล้านบาทอีกครั้ง”
เรียกว่าเป็นปีที่น่าจับตากับการกลับมาลุยธุรกิจเพลงอีกครั้งของ RS ที่ “เฮียฮ้อ” เชื่อว่าการกลับมาครั้งนี้ “ถูกที่ถูกเวลา” ด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ที่ชัดเจน พาร์ทเนอร์ใหม่ที่แข็งแกร่ง และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง
อ่านเพิ่มเติม