ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาด “แรงงาน” เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มาปีนี้ แม้การแพร่ระบาดโควิด-19 จะดีขึ้นต่อเนื่อง แต่คนทำงานต้องเจอกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ที่บีบให้องค์กรต้องรัดเข็มขัดสุดๆ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ล้ำสมัย ช่วยให้การทำงานรวดเร็วขึ้น ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ทำให้ปี 2566 องค์กรต่างๆ ต้องปรับรูปแบบการทำงานเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ
เพื่อให้คนทำงานได้ปรับตัวให้ทันโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ “จ๊อบส์ ดีบี” (JobsDB) ได้คาดการณ์ 9 เทรนด์การทำงานและการจ้างงานที่จะเข้ามา Disrupt และส่งผลต่อตลาดแรงงานในปี 2566 ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
1.Quiet Hiring
เมื่องกลางปีที่แล้วในแวดวงองค์กร คำศัพท์นี้เรียกได้ว่ามาแรงอย่างมาก โดย Quiet Hiring คือ การให้คนทำงานทำมากกว่าบทบาทเดิมที่ได้รับ โดยไม่จ้างพนักงานใหม่เข้ามาช่วย ไม่ว่าคุณจะถนัดในการทำสิ่งนั้นหรือไม่ก็ตาม ในขณะที่เงินเดือนยังเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง หากใครทนได้ก็ทน หรือใครสามารถพัฒนาตัวเองให้โตไปในทางอื่นได้ ก็ไม่เป็นปัญหา ซึ่งวิธีนี้จะเริ่มเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้องค์กรต้องลดค่าใช้จ่าย และจ้างงานคนใหม่น้อยลง
2.Hybrid Flexibility
เชื่อว่าคำนี้ได้ยินกันบ่อยขึ้นในช่วงระยะหลังๆ ทั้งระบบการทำงานที่อาจจะไม่ต้องเข้าออฟฟิศเต็มรูปแบบ หรือเข้าบ้างบางวัน รวมถึงระยะเวลาการทำงานที่ไม่ Stick มากขึ้น งานเสร็จ กลับบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่โต๊ะทั้งวัน โดยเน้น “ผลลัพธ์” เป็นสำคัญ รวมถึงวันลาที่ให้อิสระมากขึ้นโดยไม่หักเงินเดือน
3.Managers need Support
ระบบการทำงานในปัจจุบัน ค่อนข้างเอื้อประโยชน์ต่อกันมากขึ้น มุ่งเน้นความเป็น “ทีมเวิร์ก” กว่าเดิม ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งไหน เหนือกว่าใครหรือล่างกว่าใคร ทุกหน้าที่ต้องเกื้อกูลกัน เอื้อประโยชน์และซัพพอร์ตกัน รวมถึงต้องลดช่องว่างและความกดดันต่างๆ ออกให้มากที่สุด อย่างทีม Managers ก็ต้องการคนทำงานที่ใส่ใจวางรากฐานดีมาตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้การทำงานในขั้นตอนท้ายง่ายขึ้น
4.Pursuit of nontraditional candidates
เทรนด์นี้น่าสนใจสำหรับใครที่คิดจะเปลี่ยนสายงาน ปัจจุบันองค์กรต่างๆ มีทัศนคติเปิดกว้างในเรื่องนี้มากขึ้น ไม่จำเป็นที่คุณต้องจบหรือทำงานก่อนหน้ามาตรงสายกับสิ่งที่สมัคร ความคิด ทัศนคติ และความสามารถคือ สิ่งที่องค์กรมองว่า “สำคัญ” และนั่นคือสิ่งพิสูจน์ได้ว่าคุณทำงานตอบโจทย์ความต้องการของเขาได้จริงไหม ประสบการณ์เดิมไม่ใช่ตัวชี้วัดที่สำคัญอีกต่อไป
5.Healing pandemic trauma
สุขภาพกายและใจของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งในสภาวะรอบโลกช่วงนี้มองไปทางไหนก็น่าหดหู่ไปหมด ทั้งเศรษฐกิจ การลงทุน สงคราม โรคระบาด ฯลฯ เรียกได้ว่ามีแต่เรื่องชวนเครียด ซึ่งหลายๆ องค์กรเข้าใจถึงปัญหาอาการป่วยใจเหล่านี้ดี จึงได้พยายามออกนโยบายต่างๆ ให้ลูกจ้างออกไปใช้ชีวิตพักผ่อน เติมเต็มแรงบันดาลใจมากขึ้น อย่างการเพิ่มวันลา เพิ่มงบให้กับงานอดิเรก หรือออกค่าใช้จ่ายในส่วนของสตรีมมิงและเอนเตอร์เมนต์ต่างๆ มากขึ้น ดูแลจิตใจกัน
6.Organizations bolster DEI
คำว่า DEI มาจาก Diversity (ความหลากหลาย), Equity (ความเท่าเทียม) and Inclusion (การอยู่ร่วมกัน) ซึ่งทั้งหมดสามเรื่องนี้เป็นสิ่งที่องค์กรใหม่ๆ ผลักดันและพยายามทำให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น อย่างการยอมรับความแตกต่างทางเพศอย่างไม่แบ่งแยก ทุกวิชาชีพไม่มีเรื่องเพศเป็นข้อจำกัด หากคุณมีความสามารถ รวมถึงการอยู่ร่วมกันแบบรับฟังความคิดเห็น
7.Collect data by technologies
จากความเชื่อที่มองคนทำงานเป็นมนุษย์มากขึ้น บริษัทต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญกับพนักงานมากขึ้น ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ สถานภาพความเป็นอยู่ ครอบครัว ฯลฯ ผ่านระบบ AI หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อความเป็นส่วนตัว แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ ช่วยเหลือ แนะนำข้อมูลต่างๆ ให้พวกเขา “แฮปปี้” ที่จะทำงาน
8.Organizations use AI
การใช้ AI เก็บข้อมูลหรือช่วยสกรีนคนตั้งแต่การสมัครงาน มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดีตรงที่ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องคน ทั้งยังประหยัดเวลา สะดวกง่าย แต่เสียตรงที่ว่าบางครั้ง AI ก็เถรตรงเกินไป อาจจะทำให้คุณเสียโอกาสจ้างพนักงานที่มีความสามารถผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนี้การใช้ AI ในระบบการทำงานที่มากขึ้น หลายๆ คนยังค่อนข้าง Concern ในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล กลัวไม่ปลอดภัยจริงๆ
9.Gen Z skills gaps reveal
เทรนด์ร้อนแรงของการทำงานในช่วงนี้ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ช่องว่างระหว่าง Gen ที่ทุกองค์ต้องพบเจอ โดยเฉพาะการทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ การจัดการเรื่องนี้ให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์นั้นบอกเลยว่าไม่มีคำตอบตายตัว เน้นความเข้าใจกึ่งทำใจ ถือเป็นศิลปะการสื่อสารเฉพาะบุคคล เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ทุกคนในองค์กรต้องพบเจอ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยไหน หนีไม่พ้นแน่นอน
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand