ผู้บริหาร AIS Business คาดปี 2023 จะเป็นปีที่เห็นการเติบโตของโรงงานอัจฉริยะ (Factory Automation) ในไทยอย่างก้าวกระโดด หลังจากมีการทดสอบระบบอย่างจริงจังในช่วงปี 2021- 2022 ที่ผ่านมา โดยผู้ลงทุนหลักมาจากสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป และเอเชียตะวันออก พร้อมเผยพฤติกรรมของลูกค้าองค์กรในยุคหลัง Covid-19 ว่ามีความยืดหยุ่นสูงขึ้นจากเทรนด์ Work From Anywhere และให้ความสำคัญกับปัญหาข้อมูลรั่วไหลมากขึ้น เหตุเพราะกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของลูกค้า
ความเคลื่อนไหวในแวดวงโทรคมนาคมดังกล่าวถูกเปิดเผยในงานแถลงกลยุทธ์และแผนธุรกิจของ AIS Business 2023 โดยคุณธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS อธิบายถึงภาพรวมตลาด และเทรนด์การทำ Digital Transformation ขององค์กร และ SME ที่พบว่า องค์กรต่าง ๆ ต้องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทาง IT ให้มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถจัดการ-ควบคุม ความมั่นคงปลอดภัยของ Data ตามกรอบกฎหมายที่ประกาศใช้ในปีที่ผ่านมาได้
นอกจากนี้ยังมีกระแสเรื่องของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งหมดนี้ทำให้ ดิจิทัลโซลูชัน ได้กลายเป็นปัจจัยหลักที่จะเข้ามาช่วยองค์กรสร้างความพร้อมสู่การเติบโตควบคู่กับความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจได้
ท่องเที่ยว-ผลิต-Food & Beverage เติบโต
ในมุมของ AIS Business อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตด้านการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลสูงในช่วงที่ผ่านมาประกอบด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภาคการผลิต และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เห็นได้จากการใช้งานโซลูชันต่าง ๆ ของ AIS ในธุรกิจเหล่านั้นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น บริการ Wi-Fi สำหรับธุรกิจโรงแรม
คาด Factory Automation โตก้าวกระโดด
อีกหนึ่งตลาดที่ AIS Business พบว่าได้รับความสนใจสูงก็คือ Factory Automation หรือโรงงานอัจฉริยะที่มาพร้อมระบบอัตโนมัติ โดยในปี 2021 – 2022 ทางเอไอเอสระบุว่า มีการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อทดสอบการให้บริการ Unmanned Vehicles ตลอดจนเทคโนโลยีอัตโนมัติประเภทต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และคาดการณ์ว่าจะเห็นการใช้งานที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีนี้
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของความสำเร็จเกี่ยวกับการทดสอบใช้งานเทคโนโลยี 5G ในปี 2021 – 2022 ของเอไอเอสก็คือการควบคุม Autonomous Vehicles ของ SCG ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2 ลงได้มากกว่า 35% หรือการพัฒนาร่วมกับโรงงานของบริษัท Somboon Advance Technology ในการนำเทคโนโลยี 5G เข้าไปใช้ในคลังสินค้าที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ได้ถึง 60% และสามารถลดต้นทุน OPEX (Operational Expenditures) ได้ถึง 30% เป็นต้น
SME ธุรกิจที่เติบโตสูง และความเสี่ยงก็สูงตาม
อีกหนึ่งธุรกิจที่คุณธนพล ผู้บริหาร AIS Business มองว่ามีการเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมาก็คือธุรกิจ SME โดยหากกล่าวถึงธุรกิจ SME ทาง AIS ได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ นั่นคือ SME ที่เป็นบริษัทนิติบุคคลจดทะเบียน กับ SME ที่ไม่ได้จดทะเบียนการค้า โดยผู้บริหารเอไอเอสมองว่า SME ที่รอดจากการระบาดของ Covid-19 มาได้ส่วนใหญ่มีการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี และสามารถใช้เทคโนโลยีหาลูกค้าใหม่ ๆ ได้แล้วเรียบร้อย
อย่างไรก็ดี ในอนาคต การแข่งขันจะรุนแรงกว่านี้ และ SME ไทยอาจต้องนำเทคโนโลยีมาใช้มากกว่าเดิม เนื่องจากไม่สามารถลงไปแข่งขันด้านราคาได้อีกแล้วนั่นเอง โดยคุณนวชัย เกียรติก่อเกื้อ หัวหน้าส่วนงานการตลาดลูกค้าองค์กรและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เอไอเอส อธิบายเพิ่มเติมว่า ต้นทุนการผลิตสินค้าของ SME ไทยไม่ได้ถูกอีกต่อไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ SME ที่เคยซัพพลายอะไหล่ หรือชิ้นส่วนใหักับภาคการผลิตต้องทำตัว Lean มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ อาจต้องยกบทบาทให้กับเทคโนโลยีในการเข้ามาช่วยลดต้นทุนนั่นเอง
จากสภาพความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คุณธนพงษ์ กล่าวว่า AIS Business จึงมี 5 กลยุทธ์สำหรับการดำเนินงานในปีนี้ นั่นคือ
- การสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมต่อ 5G Ecosystem เพื่อการทำงานของภาคธุรกิจ
- ยกระดับการทำงานของโครงข่ายด้วย Intelligent Network
- การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและแพลตฟอร์ม
- การให้บริการด้าน Data-driven Business
- การพัฒนาทีมงานมืออาชีพที่ไว้วางใจได้
ทั้งนี้ หากพิจารณาผลประกอบการของ AIS Business ในไตรมาส 3 ของปี 2022 ที่ผ่านมา จะพบว่า ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร เติบโต 17% เทียบกับปีก่อน โดยมีจุดแข็งอย่างโซลูชัน AIS 5G NEXTGen Platform สำหรับการพัฒนา 5G Use Cases, บริการ Cloud Security ระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์กรภาคธุรกิจ, บริการ AIS Cloud X ระบบนิเวศคลาวด์อัจฉริยะ ฯลฯ ขณะที่เป้าหมายด้านตัวเลขของ AIS Business ในปีนี้ก็คือการเติบโตที่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนั่นเอง