CHASE เป็นหนึ่งในหุ้น IPO ปีนี้ ที่เตรียมเปิดจองและเปิดซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ SET ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ มาทำความรู้จักหุ้น CHASE ที่มี RS ของ เฮียฮ้อ คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมถือหุ้น 35%
1. บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ CHASE ก่อตั้งโดย คุณประชา ชัยสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHASE ในปี 2541 เพื่อให้บริการติดตามหนี้ ซึ่งคุณประชา มีประสบการณ์ทำงานในบริษัทติดตามหนี้มาก่อนหน้านั้น จึงมีประสบการณ์ในธุรกิจบริหารหนี้ 30 ปี การเปลี่ยนแปลงสำคัญในปี 2564 คือมีบริษัท อาร์ อัลไลแอนซ์ บริษัทย่อยของ RS เข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน 35%
2. บริษัทย่อยกลุ่มเชฎฐ์ เอเชีย
– บริษัท บริหารสินทรัพย์ ซีเอฟ เอเชีย จำกัด ประกอบธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ จากการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
– บริษัท รีโซลูชั่น เวย์ จำกัด ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย และรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากผู้ประกอบธุรกิจสถาบันการเงินและที่มิใช่สถาบันการเงิน
– บริษัท คอร์ทส์ เม็กก้าสโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
3. CHASE มี 2 ธุรกิจหลัก
– ธุรกิจให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้ (Collection) จากสถาบันการเงิน ลูกค้าเช่น Citi, American Express, กสิกรไทย, กรุงศรี, ไทยพาณิชย์ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 มียอดหนี้ทวงถาม 15,622 ล้านบาท โดยมีรายได้จากค่า Commission ตามหนี้ที่เรียกเก็บได้ โดยเฉลี่ย CHASE ทำได้ที่อัตรา 21.6% รวมทั้งมีบริการฟ้องคดีกับลูกหนี้
– ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์จากการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (AMC) ซื้อหนี้มาบริหาร ปัจจุบันมีสินทรัพย์รวม 2,875 ล้านบาท
– มีทีมงานติดตามทวงถามหนี้และทีมกฎหมาย 500 คน
4. CHASE เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 562 ล้านหุ้น สัดส่วน 28.3%
– หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 417 ล้านหุ้น
– หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บริษัท อาร์เอส มอลล์ จำกัด ไม่เกิน 145 ล้านหุ้น
โครงสร้างผู้ถือหุ้นหลัง IPO
– คุณประชา ชัยสุวรรณ (ผู้ก่อตั้ง) 51.2%
– หุ้น IPO 28.3%
– อาร์เอส ลิฟเวลล์ 12.1%
– อาร์เอส มอลล์ 8.3%
5. โอกาสในตลาดติดตามหนี้ของ CHASE
– จากข้อมูลสถิติ ปริมาณสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามยอดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบโควิด -19 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ในปี 2564 มีอัตราส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์มากถึง 531,000 ล้านบาท
– แนวโน้ม NPL ดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องทยอยขายหนี้เสียออกมาหลังหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากผลกระทบโควิดในช่วงสิ้นปี 2565
– คุณประชา ชัยสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHASE มองว่าเป็นโอกาสในการซื้อสินทรัพย์ NPL เข้ามาในพอร์ต เฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท ขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว โดย GDP ในปี 2566 คาดการณ์ 3.7% จากการเปิดประเทศ ส่งผลคนมีงานทำมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ทำให้ลูกหนี้จ่ายชำระได้ดีขึ้น เป็นโอกาสทางธุรกิจของ CHASE หลังจากนี้
“ธุรกิจติดตามหนี้ ไปได้ดีทุกภาวะเศรษฐกิจ ในช่วงเศรษฐกิจดี มีหนี้น้อย ติดตามหนี้ได้ง่าย ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เก็บหนี้ยาก แต่มีโอกาสซื้อพอร์ตหนี้เข้ามาบริหารได้มากขึ้น พฤติกรรมคนเป็นหนี้ส่วนใหญ่จะต้องจ่ายหนี้อยู่แล้ว แต่อยู่ที่ความสามารถว่าจะจ่ายได้มากน้อยแค่ไหน เชฎฐ์ฯ เองมีประสบการณ์บริหารหนี้ให้ win win ทุกฝ่าย”
6. ตามดูรายได้ CHASE
– ระหว่างปี 2562 – 2564 CHASE รายได้เติบโตเฉลี่ย 10.8% ต่อปี ส่วนใหญ่รายได้มาจากธุรกิจบริหารสินทรัพย์จากการรับซื้อหรือโอน NPL ประมาณ 60% และธุรกิจติดตามหนี้ 34%
– ย้อนดูรายได้ CHASE
ปี 2562 รายได้ 635 ล้านบาท กำไรสุทธิ 162 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 730 ล้านบาท กำไรสุทธิ 171 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 781 ล้านบาท กำไรสุทธิ 271 ล้านบาท
ปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) รายได้ 516 ล้านบาท กำไรสุทธิ 121 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม
- RS ยื่นไฟลิ่ง ‘เชฎฐ์ เอเชีย’ ธุรกิจติดตามหนี้ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 562 ล้านหุ้น