บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) สรุปผลการดำเนินงานในปี 2565 มีรายได้รวม 852,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.1% มีกำไรสุทธิ 13,272 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2%
โดยรวมทุกกลุ่มธุรกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อและธุรกิจแม็คโคร การรับรู้รายได้จากโลตัสเต็มปี รวมทั้งการปรับกลยุทธ์ขายสินค้าแบบ O2O ทั้งออฟไล์และออนไลน์ ตามพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่
ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี จากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว กำลังซื้อผู้บริโภคเริ่มกลับสู่ภาวะปกติหลังโควิด รวมถึงการท่องเที่ยวฟื้นตัวทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ
ส่วนธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งแม็คโครและโลตัส รายได้จากการขายและบริการเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย CPALL มีรายได้จาก 3 ธุรกิจหลัก 1. ร้านสะดวกซื้อ สัดส่วน 42% 2.ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก 52% และ 3. ธุรกิจอื่นๆ 6%
จบปี 65 มีร้าน 7-Eleven 13,838 สาขา
ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในปี 2565 ขยายสาขารวม 704 สาขา โดยมีสาขารวม 13,838 สาขา (ณ สิ้นปี 2565) แบ่งเป็น
– ร้านซีพีออลล์ลงทุน 6,839 สาขา สัดส่วน 49% เพิ่มขึ้น 559 สาขา
– ร้าน Store Business Partner (SBP) 6,144 สาขา สัดส่วน 45% เพิ่มขึ้น 124 สาขา
– ร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 855 สาขา สัดส่วน 6% เพิ่มขึ้น 21 สาขา
ปี 2565 รายได้จากการขาย สัดส่วน 73.9% มาจากสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภค 26.1% (ไม่รวมบัตรโทรศัพท์)
สรุปธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ปี 65
– รายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 354,973 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.3%
– กำไรสุทธิ 11,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.2%
– ยอดขายเฉลี่ย 76,582 บาทต่อร้านต่อวัน เพิ่มขึ้น 15.9%
– ยอดซื้อต่อบิล 84 บาท
– ลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 916 คน
กลยุทธ์ 7-Eleven ในปีที่ผ่านมา ได้นำเสนอสินค้าใหม่ๆ พร้อมโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินค้าและบริการที่สะดวก ทั้งการซื้อผ่านร้านสาขา ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) รวมทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ 7-delivery ที่เป็นการให้บริการสั่งและส่งสินค้าตามความต้องการ (On-demand Delivery) และ ALL Online ซูเปอร์ใกล้บ้าน รวมถึงเว็ปไซต์ ShopAt24
ปี 66 ร้าน 7-Eleven ขยายอีก 700 สาขา
ในปี 2566 CPALL วางงบประมาณลงทุนรวม 12,000-13,000 ล้านบาท
– เปิดร้าน 7-Eleven สาขาใหม่อีก 700 สาขา ลงทุน 3,800-4,000 ล้านบาท
– ปรับปรุงร้านเดิม 2,900-3,500 ล้านบาท
– โครงการใหม่,บริษัทย่อย ศูนย์กระจายสินค้า 4,000-4,100 ล้านบาท
– สินทรัพย์ถาวรและระบบไอที 1,300-1,400 ล้านบาท
การเติบโตของรายได้ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ส่วนใหญ่มาจากสาขาใหม่ โดยยอดขายเฉลี่ยจากร้านเดิมรวมถึงยอดขายจากช่องทางอื่นๆ อาทิ 7-Delivery, All Online และ Vending Machine คาดว่าเติบโตใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ประเทศไทย