HomeBrand Move !!“DeInfluencing” เทรนด์ใหม่ในยุคเงินฝืด เมื่ออินฟลูเอนเซอร์บอกผู้บริโภค “ของชิ้นนี้ไม่ต้องมีก็ได้”

“DeInfluencing” เทรนด์ใหม่ในยุคเงินฝืด เมื่ออินฟลูเอนเซอร์บอกผู้บริโภค “ของชิ้นนี้ไม่ต้องมีก็ได้”

แชร์ :

deinfluencing tiktok

(ซ้ายไปขวา) @alyssastephanie @valeriafride และ @thethriftythinker สามอินฟลูเอนเซอร์บน TikTok ที่ทำคอนเทนต์รับเทรนด์ DeInfluencing

ในยุคที่ไข่ไก่ของซีกโลกตะวันตกแพงหูฉี่ บางทีประโยคอมตะอย่าง “ของมันต้องมี” ก็ต้องถึงคราวล้าสมัย แถมคนที่ทำให้มันล้าสมัยนั้นก็ไม่ใช่ใคร แต่ก็คือบรรดา Influencers ที่เคยช่วยแบรนด์ขาย – รีวิวสินค้านั่นเอง โดย Influencers จำนวนไม่น้อย เริ่มหันมาดันเทรนด์ “DeInfluencing”  หรือการบอกให้ผู้บริโภค “คิดให้มาก ๆ ก่อนซื้อ” ที่สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจมากกว่ากันแล้ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แพลตฟอร์มที่เห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ชัดเจนมากที่สุดแพลตฟอร์มหนึ่งก็คือ TikTok โดยที่ผ่านมา รายงานจาก huffpost.com พบว่าแฮชแท็ก  #deinfluencing มีการรับชมมากกว่า 159.6 ล้านวิวไปแล้วเรียบร้อย ซึ่ง Jago Sherman หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของบริษัทด้านการตลาด Goat อธิบายถึงความฮอตของแฮชแท็กนี้ว่า มาจากผู้คนที่รู้สึกอึดอัดใจกับกระแสสังคมที่บอกให้พวกเขาต้องมีของสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ตัวพวกเขาเองไม่พร้อมที่จะซื้อมันมาครอบครองแล้วนั่นเอง

ครีเอเตอร์เปลี่ยนแนวคอนเทนต์

ด้านครีเอเตอร์เองก็ออกมายอมรับว่า พวกเขาต้องเปลี่ยนวิธีการทำคอนเทนต์ให้สอดรับกับสภาพสังคมมากขึ้น โดย TikToker ที่ออกมาเปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็คือ Alyssa Kromelis อินฟลูเอนเซอร์จากสหรัฐอเมริกา ที่อธิบายถึงการทำคลิปในลักษณะนี้ว่า มาจากการตระหนักถึงภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ปกติ พร้อมอ้างอิงถึงราคาไข่ไก่ในประเทศที่เธออาศัยอยู่ว่าพุ่งขึ้นไปถึง 60% ภายในเวลาไม่ถึง 12 เดือน

จากสถานการณ์ดังกล่าว แน่นอนว่า บรรดาผู้ติดตามของเธอเริ่มไม่สามารถซื้อลิปกลอสราคา 30 เหรียญสหรัฐได้แล้ว และนั่นทำให้รูปแบบคอนเทนต์ของเธอต้องเปลี่ยนไปเป็นการแนะนำสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้ แต่มีราคาถูกกว่านั่นเอง

@alyssastephanie I love deinfluencing ❤️ #deinfluencing #deinfluencergang #cultproduct ♬ original sound – Alyssa ✨

DeInfluencing เมื่อแบรนด์ดังเจอการเปรียบเทียบ

อย่างไรก็ดี หากกระแส DeInfluencing จะเป็นการแนะนำสินค้าที่ราคาถูกกว่า และสามารถทดแทนกันได้แบบปกติก็คงไม่มีใครได้รับผลกระทบมากนัก แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมีอินฟลูเอนเซอร์บางรายเลือกจะทำคอนเทนต์แนวประชดประชันไปยังแบรนด์ใหญ่ เพื่อให้คลิปของตนเองได้รับยอด Engagement มากกว่าคนอื่น  เช่น กรณีแบรนด์ Skim ของ Kim Kardashian ที่ถูกนำไปรีวิวว่าอาจไม่ใช่สินค้าที่น่าซื้อเช่นกัน โดย TikToker รายหนึ่งอ้างว่า เพราะพวกเธอไม่ยอมจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรมให้กับพนักงานที่ทำงานล่วงเวลา ทั้ง ๆ ที่ร่ำรวยระดับมหาเศรษฐี

influencer marketing

กระแส DeInfluencing ช่วยรีเฟรชภาพลักษณ์ของ Influencers

แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวย่อมเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส ซึ่งในมุมมองของ Anna Hart นักการตลาด ผู้ก่อตั้งเอเจนซี่ One Roof Social ให้ความเห็นว่า มันคือการรีเฟรชภาพลักษณ์ของ Influencers เสียใหม่ จากเดิมที่ผู้บริโภคเริ่มมีความรู้สึกว่า คนเหล่านี้รับเงินแลกกับการรีวิว จึงต้องแกล้งทำเป็นรักสินค้าตัวนั้น และเอาแต่พูดถึงข้อดี แต่เมื่อพวกเขาปรับตัวตามเทรนด์  DeInfluencing ด้วยการออกมาต่อว่าสินค้าในมุมต่าง ๆ ดูบ้าง ก็ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า สัมผัสได้ถึงความจริงใจในการทำคอนเทนต์รีวิวสินค้ามากขึ้น และทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตัว Influencer รายดังกล่าวมากขึ้น

ด้าน Steph Searle นักการตลาดจาก 10 Yetis ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า Influencer สามารถใช้เทรนด์ DeInfluencing ให้เกิดประโยชน์โดยไม่ต้องทำร้ายใครก็ได้ เช่น การให้ความรู้เรื่องการเลือกซื้อสินค้าแบบคุ้มค่ามากขึ้นกับผู้ชม พร้อมบอกด้วยว่า แม้กระแส DeInfluencing กำลังมาแรง แต่การรับชมคอนเทนต์ DeInfluencing ก็ต้องทำอย่างมีสติ เพราะบางทีคอนเทนต์เหล่านั้นก็อาจโจมตีบางแบรนด์เพื่อนำเสนอสินค้าของอีกแบรนด์หนึ่งแทนก็เป็นได้

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like