หลังจาก “จีน” ประกาศปลดล็อคมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) ที่ใช้มานานเกือบ 3 ปี ทำให้หลายประเทศรอคอยการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมถึงประเทศไทย เพราะก่อนวิกฤตโควิด-19 ไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 28% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย การเปิดให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศในครั้งนี้ จึงเป็นความหวังสำหรับภาคธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยวไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี 2566 ชาวจีนจะเที่ยวไทยแตะ 4.56 ล้านคน และดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งปีขยับเป็น 25.5 ล้านคน
จีนเปิดประเทศ ดันท่องเที่ยวไทยคึกคัก คาดปี 66 ชาวจีนมาไทยแตะ 5 ล้าน
เรียกว่าเป็นข่าวดีต้อนรับปี 2566 สำหรับอุตสาหกรรมการเดินทางและท่องเที่ยวไทยที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังซมพิษไข้โควิด-19 หนักหน่วง เมื่อรัฐบาลจีนประกาศผ่อนคลายกฎระบียบการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศและเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 ส่งผลให้ชาวจีนให้ความสนใจในการค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยวในไทยเป็นจำนวนมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่า ชาวจีนจะมาเที่ยวไทยในปี 2566 ประมาณ 4.65 ล้านคน หรือกลับมาประมาณ 42% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในปี 2562
โดยการเร่งตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มเห็นชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 และจะก้าวกระโดดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ตามการขยายเส้นทางการบินและความถี่ของเที่ยวบินระหว่างจีนและไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีความเป็นไปได้ที่จำนวนเที่ยวบินต่อวันจากจีนมาไทยอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าในระหว่างปี เมื่อเทียบกับประมาณ 1,035 เที่ยวบินในช่วงไตรมาสแรกปี 2566 หรือเฉลี่ยประมาณ 11-15 เที่ยวบินต่อวัน และเทียบกับในช่วงที่จีนปิดประเทศเฉลี่ยที่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งจะทำให้เที่ยวบินต่อวันในปี 2566 นี้อาจจะกลับมาราว 60-70% จากก่อนโควิด อย่างไรก็ตาม การกลับมาเปิดเส้นทางการบินจนถึง ณ ปลายปี 2566 อาจจะยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 93 เที่ยวบินต่อวัน (รวมเช่าเหมาลำ) ในช่วงก่อนการระบาดของโควิดในปี 2562 เนื่องจากจำนวนชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศแม้เพิ่มขึ้นแต่อาจยังมีจำกัด และการจัดการด้านทรัพยากรรองรับคงต้องใช้เวลา อาทิ เครื่องบิน นักบิน พนักงานภาคพื้น เป็นต้น
รวมถึงการทำตลาดของหน่วยงานท่องเที่ยวและผู้ประกอบการมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าไทยถูกเลือกเป็นหนึ่งในประเทศนำร่องของการฟื้นฟูการเดินทางแบบกลุ่มขนาดใหญ่ จะทำให้ชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวในไทยก้าวกระโดดจากช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากจะมีฤดูกาลท่องเที่ยวของชาวจีนที่สำคัญ คือ ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน (ระหว่างเดือนก.ค.-ส.ค. ของทุกปี) และช่วงวันหยุดยาววันชาติจีน (ในช่วงวันที่ 1-7 ต.ค. ของทุกปี)
คาดปี 66 นักเที่ยวเข้าไทยทะลุ 25.5 ล้านคน สร้างรายได้ท่องเที่ยว 1.07 ล้านล้านบาท
สำหรับการใช้จ่ายของชาวจีนในธุรกิจท่องเที่ยวในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อาจจะมีมูลค่าประมาณ 1.86 แสนล้านบาท ซึ่งอาจไม่เพิ่มหากเทียบกับก่อนโควิดในปี 2562 เนื่องจากชาวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวต้องกันค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทาง (ค่าตั๋วเครื่องบินและค่าประกันสุขภาพ) สูงขึ้น บนเงื่อนไขการตั้งงบประมาณการเดินทางตลอดทริปที่เท่าเดิมจากสถานการณ์เศรษฐกิจและรายได้ที่ไม่ได้ดีขึ้น ยกเว้นว่านักท่องเที่ยวจะใช้เงินออมหรือเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในจีน แม้ว่าราคาบัตรโดยสารเครื่องบินระหว่างไทย-จีนได้ปรับลดลงมาอย่างมากเมื่อเทียบกับในช่วงที่จีนยังปิดประเทศ แต่ราคาบัตรของเส้นทางบินตรงยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนการระบาดของโควิดประมาณ 1.5 เท่า และสูงกว่า 200% ในเมืองที่ยังไม่มีเส้นทางบินตรง เนื่องจากในช่วงของการเริ่มเปิดประเทศปริมาณผู้โดยสายยังจำกัด
ขณะเดียวกัน ต้นทุนในธุรกิจสายการบินยังค่อนข้างสูง โดยเฉพาะราคาพลังงานที่มีแนวโน้มกลับมาสูงขึ้นหลังจากจีนเปิดประเทศ ทำให้ราคาบัตรโดยสารน่าจะยังทรงตัวสูง รวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอย่างประกันสุขภาพ และการตรวจ PCR ก่อนที่ชาวจีนจะเดินทางกลับประเทศ ซึ่งเบี้ยประกันอาจมีราคาหลักพันบาทหรืออาจสูงกว่านี้ขึ้นอยู่กับอายุและระยะเวลาพำนักในไทย ดังนั้น หากนักท่องเที่ยวจีนมีงบการเดินทางเท่าเดิม ก็จะเหลือเม็ดเงินสำหรับการใช้จ่ายท่องเที่ยวน้อยลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงถัดๆ ไปของปี หากการระบาดของโควิดบรรเทาลงและผู้ประกอบการกลับมาทำการตลาดมากขึ้น ก็มีโอกาสที่ค่าใช้จ่ายที่ต้องกันไว้นี้อาจจะลดลงและทำให้ชาวจีนมีเม็ดเงินใช้จ่ายระหว่างท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีได้
ทั้งนี้ จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนที่เร็วขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งปี 2566 เป็น 25.5 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าจะมีจำนวน 22 ล้านคน (คาดการณ์ ณ วันที่ 9 ธ.ค. 65) ซึ่งจะสร้างเม็ดเงินสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท
โดยในอนาคตยังต้องติดตามมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีนของต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยุโรป อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากจากปัจจุบัน ประกอบกับการท่องเที่ยวระยะไกลมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ชาวจีนที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยว จะเลือกไทยเป็นจุดหมายปลายทาง