กรุงศรีเปิดกลยุทธ์ปี 2023 บุกตลาดอาเซียน – เดินหน้าสินเชื่อ ESG – ยกทัพเทคโนโลยี ดันรายได้สุทธิจากการดำเนินงานในอาเซียนเป็น 10% พร้อมตั้งเป้าเงินให้สินเชื่อเติบโต 3.5% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.5% และ NPL อยู่ที่ 2.5 – 2.6%
การออกมาเปิดเผยถึงกลยุทธ์ปี 2023 ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป หรือ MUFG ครั้งนี้ พบว่า มีการให้ความสำคัญใน 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่
- การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน (ASEAN-Linked Business) ผ่านนวัตกรรมบริการด้านการเงิน
- การดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนตามโมเดล ESG (ESG-Linked Business)
- การพัฒนาด้านดิจิทัลและนวัตกรรม (Digital & Innovation) เพื่อลูกค้าทั้งในประเทศไทยและอาเซียน
บุกอาเซียน ภารกิจ 2023
สำหรับกลยุทธ์ในการบุกตลาดอาเซียนนั้น คุณไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร เปิดเผยว่า เป็นการดำเนินการภายใต้ชื่อ One Krungsri หลังจากที่ผ่านมา มีการขยายกิจการของกรุงศรีไปทั่วภูมิภาคอาเซียนแล้ว (ตามแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบัน) ได้แก่
- การร่วมมือทางธุรกิจกับ SB Finance ประเทศฟิลิปปินส์
- การร่วมมือกับ SHB Finance ประเทศเวียดนาม
- การยกระดับ Hattha Bank ในประเทศกัมพูชาขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์
นอกจากนี้ กิจการในอินโดนีเซีย สปป.ลาว ก็มีระดับการเติบโตที่ดี เช่นเดียวกับในมาเลเซีย และสิงคโปร์ จึงทำให้ภาพรวม กรุงศรีสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ได้เพิ่มขึ้นกว่า 150,000 ราย และกรุงศรีมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในอาเซียนเพิ่มจาก 3% ในปี 2020 เป็น 6% ในปี 2022 และคาดว่าจะมีรายได้สุทธิจากการดำเนินธุรกิจในอาเซียนเป็น 10% ในปีนี้ (2023) ด้วย
คุณไพโรจน์ได้กล่าวถึงจุดแข็งของธนาคารกรุงศรีในการบุกตลาดอาเซียนครั้งนี้ว่า การมีพาร์ทเนอร์ในประเทศต่าง ๆ ทำให้ธนาคารสามารถเชื่อมโยงกับประเทศอื่น ๆ ได้ รวมถึงสามารถให้คำปรึกษาทางธุรกิจแก่ลูกค้าในภูมิภาคได้นั่นเอง
เป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน
อีกหนึ่งเทรนด์ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญมากขึ้นก็คือเรื่องของความยั่งยืน ซึ่งในส่วนของธนาคารกรุงศรีก็มีเป้าหมายในด้านดังกล่าวเช่นกัน คุณประกอบ เพียรเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ได้อธิบายถึงแผนด้านความยั่งยืนของกรุงศรีว่า มีโครงการที่กรุงศรีเป็นผู้ริเริ่มและประสบความสำเร็จ เช่น โครงการ Krungsri x SET ‘Care the Whale’ โครงการ Zero Food Waste และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ RE100 Thailand Club หรือสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย
ส่วนในปีนี้ ทางธนาคารจะให้การสนับสนุนลูกค้าให้สามารถเปลี่ยนผ่านและดำเนินงานตามแนวทาง ESG ได้สะดวกขึ้น รวมถึงการให้เงินสนับสนุนกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดพลังงาน เช่น หลังคาพลังงานแสงอาทิตย์ จุดชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และพลังงานทดแทน รวมถึงสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน สินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสีเขียว ธุรกิจเพื่อสังคม และธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
“จะมีการนำ ESG ไปอยู่ในทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ของธนาคาร เช่น การเลือกกองทุนมานำเสนอลูกค้า หรือการมอบสิทธิประโยชน์แก่ลูกค้าที่ซื้อ – ใช้บริการในลักษณะดังกล่าว เช่น หากซื้อ Plant-Based Food ก็อาจได้พอยต์เพิ่ม เป็นต้น”
ทั้งนี้ ภายใต้การประกาศวิสัยทัศน์ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนของกรุงศรี ธนาคารมีเป้าหมายจะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืนเป็น 50,000 – 100,000 ล้านบาทภายในปี 2030 เลยทีเดียว
อัปเกรดดิจิทัล เพิ่ม Innovation
แกนที่ 3 ที่ผู้บริหารกรุงศรีเผยว่าต้องให้ความสำคัญคือแกนในด้านดิจิทัล โดยคุณสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล เผยว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการเปิ
ส่วนจุดแข็งของกรุงศรีคือการชำระเงินแบบ Crossborder ด้วย QR Code ที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ที่สามารถสร้าง QR Code ได้จากแอป KMA เพื่อชำระเงินค่าสินค้า – บริการในญี่ปุ่นได้แล้ว และในปีนี้ คุณสยามเผยว่า จะเริ่มขยายไปสู่สถานที่ต่าง ๆ มากขึ้น เช่น สถานีรถไฟของ Japan Rail, Tokyo Tower เป็นต้น
อีกหนึ่งด้านที่กรุงศรีจะเดินหน้าในปี 2023 คือจะมีการอัปเกรดเทคโนโลยี API ใหม่ ซึ่ง API ใหม่นี้จะทำให้กรุงศรีสามารถให้บริการในลักษณะ Banking as a service (BaaS) ได้ดีขึ้น เช่น สามารถผนวกบริการ e-KYC, การอนุมัติสินเชื่อ, การเปิดบัญชี e-saving ฯลฯ ให้กับพาร์ทเนอร์ได้ใช้งานได้ จากเดิมที่เป็นบริการในส่วนของ Payment เป็นหลัก รวมถึงมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม เพื่อลดโอกาสการเกิดแอปล่ม (ปี 2021 เกิดปัญหาแอปล่ม 6 ครั้ง และลดลงเหลือ 3 ครั้งในปี 2022)
คุณสยามยังได้กล่าวต่อไปว่า จะมีการพัฒนาให้แอปของกรุงศรีเช่น KMA, Go, U Choose, Kept ทำงานร่วมกันได้ดีขึ้นด้วย
ส่วนในแง่ของการสร้างคนสายเทคโนโลยีนั้น ก็จะมีการเปิด Innovation center ในจังหวัดอื่น ๆ เพิ่มเติม นอกจากเชียงใหม่ เช่น นครราชสีมา หรือขอนแก่น โดยตอนนี้ Innovation center ของกรุงศรีมีโปรเจ็คที่อยู่ระหว่างการพัฒนาแล้ว 17 โครงการ และการมี Innovation center ทำให้ลดเวลาการพัฒนาโปรดักท์ใหม่ ๆ ลงเหลือ 6 – 9 เดือน
ซีอีโอกรุงศรีชี้วิธีรับมือเศรษฐกิจไทย “ต้องปรับตัว”
จากภาพรวมทั้งหมดนี้ คุณเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปีนี้จะเป็นปีที่ท้าทายจากการที่ประเทศเศรษฐกิจหลักกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผลจากการเปิดประเทศของจีนที่ยังคงไม่ชัดเจนนัก แต่อุปสงค์ในภาคบริการน่าจะเติบโตเร็วขึ้นกว่าอุปสงค์ต่อสินค้า การเติบโตของเศรษฐกิจในอาเซียนชะลอตัวลงอยู่ที่ 4.9% ในปี 2023 จาก 5.3% ในปี 2022 แต่ยังคงเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุด”
“นอกจากประเทศไทยแล้ว ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียมีการเติบโตที่ดี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมทั้งข้อตกลงการค้าเสรีที่รวมถึง RCEP และเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้ามา ด้วยกลยุทธ์ของกรุงศรี เราหวังที่จะก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ไปได้ และจะอาศัยข้อได้เปรียบจากโอกาสต่าง ๆ ที่มีในอาเซียนโดยการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป และเสนอโซลูชันที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยทั่วภูมิภาค”
ทั้งนี้ กรุงศรีคาดว่าในปี 2023 เงินให้สินเชื่อจะเติบโตที่ 3-5% และตั้งเป้าหมายของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.5% ซึ่งคาดว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (Non-Interest Income) จะยังอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา และอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ราว 2.5-2.6%